พลิกคำพิพากษาคดี ‘ศาลปกครองกลาง’ สั่งเพิกถอน EIA-ใบอนุญาตฯคอนโด ‘125 สาทร’ มูลค่า 8 พันล้าน เหตุ ‘คณะกรรมการชำนาญการฯ’ ใช้ข้อมูลประกอบการพิจารณา โดยไม่ตรวจสอบ 'ข้อเท็จจริง' ให้ถูกต้องตามกฎหมายก่อน ส่งผลให้การคำนวณ ‘อัตราส่วนพื้นที่อาคารรวมต่อพื้นที่ดินของที่ดิน’ อาจเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด
......................................
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อเร็วๆนี้ ศาลปกครองกลาง ได้มีคำพิพากษาในคดีหมายเลขดำที่ ส.26/2564 คดีหมายเลขแดงที่ ส.47/2566 ลงวันที่ 27 ก.ย.2566 ซึ่งเป็นคดีที่นิติบุคคลอาคารชุด เดอะ เม็ท (ผู้ฟ้องคดี) ยื่นฟ้องคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ด้านอาคารจัดสรรที่ดินและบริการชุมชน กรุงเทพมหานคร กับพวกรวม 5 ราย ในคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยมีบริษัท พีเอ็มที พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด เป็นผู้ร้องสอด
ทั้งนี้ ศาลปกครองกลางพิพากษาให้เพิกถอนมติของคณะกรรมการผู้ชำนาญการฯ (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1) ในการประชุมครั้งที่ 47/2564 ที่ให้ความเห็นชอบรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) โครงการ ‘125 สาทร’ ของ บริษัท พีเอ็มที พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (ผู้ร้องสอด) และใบรับแจ้งการก่อสร้าง ดัดแปลง หรือรื้อถอนอาคาร ตามาตรา 39 ตรี (แบบ ยผ.4) เลขที่ 114/2564 ลงวันที่ 25 ส.ค.2564 ของผู้อำนวยการสำนักการโยธา (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3) โดยให้มีผลย้อนหลังหลังวันที่ออกครั้งสั่งดังกล่าว
เนื่องจากศาลฯพิเคราะห์แล้วเห็นว่า มติคณะกรรมการผู้ชำนาญฯ (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1) ในการประชุมครั้งที่ 47/2564 ที่ให้ความเห็นชอบรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) โครงการ 125 สาทร เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
เพราะหลักฐานที่คณะกรรมการผู้ชำนาญการฯ นำมาประกอบการให้ความเห็นชอบรายงาน EIA ของโครงการ 125 สาทร คือ ข้อมูลการคำนวณพื้นที่ของอาคารชุด เดอะ เม็ท ซึ่งเป็นอาคารที่ตั้งอยู่ในแปลงที่ดินที่เกิดจากการแบ่งแยกหรือแบ่งโอน นั้น แท้จริงแล้วไม่ได้มีพื้นที่อาคารรวม 102,268.40 ตารางเมตร ตามที่บริษัท พีเอ็มที พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (ผู้ร้องสอด) เสนอ
จึงส่งผลกระทบต่อจำนวนพื้นที่อาคาร ที่สามารถก่อสร้างได้ของโครงการ 125 สาทร ซึ่งตั้งอยู่ในที่ดินโฉนดเลขที่ 2053 ซึ่งเป็นแปลงที่เกิดจากการแบ่งแยกจากที่ดินโฉนดเลขที่ 1718 และที่ดินโฉนดเลขที่ 1623 ที่ต้องมีอัตราส่วนพื้นที่อาคารรวมต่อพื้นที่ดินของที่ดินแปลงที่เกิดจากการแบ่งแยกหรือแบ่งโอนทั้งหมด รวมกันต้องไม่เกิน 10 : 1
และในกรณีที่ได้จัดให้มีพื้นที่รับน้ำในแปลงที่ดิน ที่กักเก็บน้ำได้ในสัดส่วนไม่น้อยกว่า 1 ลูกบาศก์เมตรต่อพื้นที่ดิน 50 ตารางเมตร ให้มีอัตราส่วนพื้นที่อาคารรวมต่อพื้นที่ดินเพิ่มได้ไม่เกินร้อยละห้า ถ้าสามารถกักเก็บน้ำได้มากกว่า 1 ลูกบาศก์เมตร ให้มีอัตราส่วนพื้นที่อาคารรวมต่อพื้นที่ดินเพิ่มได้ตามสัดส่วน แต่ทั้งนี้ต้องไม่เกินร้อยละยี่สิบ โดยกรณีนี้ คือไม่เกิน 12 : 1
ดังนั้น เมื่อโครงการ 125 สาทร ของผู้ร้องสอด (บริษัท พีเอ็มที พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด) มีพื้นที่อาคารที่ใช้คิดอัตราส่วนต่อพื้นที่ดิน เป็นจำนวน 63,345 ตารางเมตร การใช้จำนวนพื้นที่อาคารตามจำนวนข้างต้น อาจส่งผลให้การคำนวณพื้นที่อาคารที่จะนำมาใช้พิจารณาเกี่ยวกับการใช้ประโยชน์ในที่ดิน เกินไปกว่าอัตราส่วนพื้นที่อาคารรวมต่อพื้นที่ดินตามที่กฎหมายกำหนด
อย่างไรก็ตาม จากคำพิพากษาของศาลปกครองกลางในคดีดังกล่าว ศาลฯไม่ได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ที่ 2-5 (สำนักการโยธา กรุงเทพมหานคร ,ผู้อำนวยการสำนักการโยธา ,กรุงเทพมหานคร และผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร) อาศัยอำนาจที่เกี่ยวข้อง สั่งการให้ บริษัทฯ ระงับการก่อสร้างและรื้อถอนอาคารโครงการ 125 สาทร ส่วนที่ก่อสร้างขึ้นมาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายทั้งหมด ตามที่ผู้ฟ้องคดี (นิติบุคคลอาคารชุด เดอะ เม็ท) ร้องขอแต่อย่างใด
“เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏตามเอกสารหลักฐานในสำนวนคดีว่า ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งห้า ได้ใช้วิธีคิดคำนวณพื้นที่อาคารต่อพื้นที่ดินในอาคารชุด เดอะ เม็ท ของผู้ฟ้องคดี (ผู้ฟ้องคดี) โดยหักพื้นที่ของดาดฟ้า บันไดนอกหลังคา และพื้นที่ติดตั้งเครื่องกลออกไป
เป็นผลให้การคำนวณพื้นที่ในตารางดังกล่าว ไม่เป็นไปตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 33 (พ.ศ.2535) ออกตามความใน พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ 50 (พ.ศ.2540) ออกตามความใน พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 ที่กำหนดไว้อีกต่อไป
โดยหากอาคารชุด เดอะ เม็ท มีพื้นที่ติดตั้งเครื่องจักรกล ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (คณะกรรมการผู้ชำนาญการฯ) ก็ต้องนำพื้นที่ดังกล่าว มารวมเพื่อคำนวณใหม่ เป็นพื้นที่อาคารตามที่กฎกระทรวง ฉบับที่ 50 (พ.ศ.2540) ออกตามความใน พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 ที่ได้แก้ไขความหมายของคำว่าพื้นที่อาคารแล้ว และจะทำให้พื้นที่อาคารในอาคารชุด เดอะ เม็ท ไม่ได้พื้นที่เท่ากับ 102,268.40 ตารางเมตร
ดังนั้น การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (คณะกรรมการผู้ชำนาญการฯ) พิจารณาการใช้ประโยชน์ในที่ดิน โดยเห็นว่าอาคารชุด เดอะ เม็ท ของผู้ฟ้องคดีมีพื้นที่อาคารเท่ากับ 102,268.40 ตารางเมตร ตามเอกสารตารางแสดงพื้น พื้นที่อาคาร และพื้นที่ เพื่อคำนวณที่จอดรถยนต์ที่แนบท้ายหนังสือแจ้งความประสงค์จะก่อสร้าง ดัดแปลง หรือรื้อถอนอาคารโดยไม่ยื่นคำขอรับใบอนุญาตตามมาตรา 39 ทวิ (แบบ กทม 1) ของบริษัท เพบเพิล เบ จำกัด (ประเทศไทย) จำกัด ลงวันที่ 15 พ.ย.2457 เท่านั้น
โดยไม่ตรวจสอบข้อเท็จจริงในส่วนนี้ให้ถูกต้องตามกฎหมายที่ใช้บังคับในปัจจุบันเสียก่อน แต่กลับเห็นว่าอาคารชุด เดอะ เม็ท ของผู้ฟ้องคดี (นิติบุคคลอาคารชุด เดอะ เม็ท) มีพื้นที่อาคารรวม 102,268.40 ตารางเมตร ตามเอกสารหลักฐานที่ผู้ร้องสอด (บริษัท พีเอ็มที พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด) เสนอเท่านั้น
แม้ว่าผู้ร้องสอด จะได้แนบหนังสือผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ที่ กท 1407/อ.804 ลงวันที่ 24 พ.ค.2564 กรณีขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสิทธิการใช้ประโยชน์ที่ดินอาคารชุด เดอะ เม็ท ของผู้ฟ้องคดี
ซึ่งแจ้งว่าอาคารชุดเดอะ เน็ท ของผู้ฟ้องคดี มีพื้นที่อาคารสำหรับคำนวณอัตราส่วนอาคารต่อพื้นที่ดินเท่ากับ 102,268.40 ตารางเมตร และต่อมา ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (คณะกรรมการผู้ชำนาญการฯ) นำเอาข้อมูลตามหนังสือดังกล่าว มาประกอบการพิจารณาให้ความเห็นชอบรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการพิพาทของผู้ร้องสอดก็ตาม
แต่ประเด็นเกี่ยวกับการคำนวณพื้นที่อาคารดังกล่าว ผู้ฟ้องคดี (นิติบุคคลอาคารชุด เดอะ เม็ท) ก็ได้มีหนังสือคัดค้านเกี่ยวกับการใช้ประโยชน์ในที่ดินถึงผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 อยู่หลายครั้ง โดยเฉพาะหนังสือของผู้ฟ้องคดี ฉบับลงวันที่ 16 ก.ค.2564 ได้โต้แย้งในประเด็นดังกล่าวอย่างชัดแจ้ง โดยยื่นข้อทักท้วงนี้ต่อเลขานุการของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ก่อนที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 จะลงมติให้ความเห็นชอบรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการพิพาทของผู้ร้องสอด เมื่อวันที่ 5 ส.ค.2564
ซึ่งผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (คณะกรรมการผู้ชำนาญการฯ) ควรที่จะต้องแสวงหาข้อเท็จจริงในส่วนนี้ให้ชัดเจนถูกต้องเสียก่อน เนื่องจากผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 เป็นผู้มีอำนาจพิจารณา เพื่อมีคำสั่งทางปกครองสามารถใช้อำนาจตามมาตรา 28 และมาตรา 29 แห่ง พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539
ที่จะทำการตรวจสอบข้อเท็จจริงหรือแสวงหาพยานหลักฐานอื่นที่เกี่ยวข้องอันจำเป็นแก่การพิสูจน์ข้อเท็จจริงได้ตามเหมาะสมในเรื่องนั้น โดยไม่จำต้องผูกพันอยู่กับคำขอหรือพยานหลักฐานที่ผู้ร้องสอดนำส่ง ทั้งที่มีข้อทักท้วงในประเด็นดังกล่าวเรื่อยมา
โดยปรากฎแต่เพียงว่าผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 นำความเห็นของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ที่รับรองว่าอาคารชุดเดอะ เม็ท ของผู้ฟ้องคดี มีพื้นที่อาคารรวม 102,268.40 ตารางเมตร มาประกอบการพิจารณาให้ความเห็นชอบรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการพิพาทของผู้ร้องสอดเท่านั้น
ซึ่งหากภายหลังได้มีการตรวจสอบแล้ว พบว่าพื้นที่อาคารสำหรับคำนวณอัตราส่วนพื้นที่อาคารรวมต่อพื้นที่ดินของอาคารชุด เดอะ เม็ท ของผู้ฟ้องคดี ที่แท้จริงไม่ใช่จำนวนพื้นที่ 102,268.40 ตารางเมตร แล้ว
กรณีย่อมส่งผลกระทบต่อจำนวนพื้นที่อาคารที่สามารถก่อสร้างได้ของโครงการพิพาทของผู้ร้องสอดซึ่งตั้งอยู่ในที่ดินโฉนดเลขที่ 2053 ซึ่งเป็นแปลงที่เกิดจากการแบ่งแยกจากที่ดินโฉนดูเลขที่ 1718 และที่ดินโฉนดเลขที่ 1623 ที่ต้องมีอัตราส่วนพื้นที่อาคารรวมต่อพื้นที่ดินของที่ดินแปลงที่เกิดจากการแบ่งแยกหรือแบ่งโอนทั้งหมด รวมกันต้องไม่เกิน 10 : 1
และในกรณีที่ได้จัดให้มีพื้นที่รับน้ำในแปลงที่ดิน ที่กักเก็บน้ำได้ในสัดส่วนไม่น้อยกว่า 1 ลูกบาศก์เมตรต่อพื้นที่ดิน 50 ตารางเมตร ให้มีอัตราส่วนพื้นที่อาคารรวมต่อพื้นที่ดินเพิ่มได้ไม่เกินร้อยละห้า ถ้าสามารถกักเก็บน้ำได้มากกว่า 1 ลูกบาศก์เมตร ให้มีอัตราส่วนพื้นที่อาคารรวมต่อพื้นที่ดินเพิ่มได้ตามสัดส่วน แต่ทั้งนี้ต้องไม่เกินร้อยละยี่สิบ โดยกรณีนี้ คือไม่เกิน 12 : 1
เมื่อโครงการของผู้ร้องสอด (บริษัท พีเอ็มที พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด) มีพื้นที่อาคารที่ใช้คิดอัตราส่วนต่อพื้นที่ดินเป็นจำนวน 63,345 ตารางเมตร การใช้จำนวนพื้นที่อาคารตามจำนวนข้างต้น อาจส่งผลให้การคำนวณพื้นที่อาคารที่จะนำมาใช้พิจารณาเกี่ยวกับการใช้ประโยชน์ในที่ดิน เกินไปกว่าอัตราส่วนพื้นที่อาคารรวมต่อพื้นที่ดินตามที่กฎหมายกำหนด
ดังนั้น เมื่อพิจารณาแล้วว่า อาคารชุด เดอะ เม็ท ของผู้ฟ้องคดีมีพื้นที่อาคารตามกฎกระทรวงฉบับที่ 33 (พ.ศ.2535) ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ 50 (พ.ศ.2540) ออกตามความใน พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 ไม่ใช่จำนวนพื้นที่ 102,268.40 ตารางเมตร
การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (คณะกรรมการชำนาญการฯ) ในการประชุมครั้งที่ 47/2564 เมื่อวันที่ 5 ส.ค.2564 นำพื้นที่ดังกล่าวมาพิจารณามีมติให้ความเห็นชอบรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการ 125 สาทร ของผู้ร้องสอด (บริษัท พีเอ็มที พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด) จึงเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ประเด็นที่สาม ใบรับแจ้งการก่อสร้าง ดัดแปลง หรือรื้อถอนอาคาร ตามมาตรา 39 ตรี (แบบ ยผ. 4) เลขที่ 114/2565 ลงวันที่ 25 ส.ค.2564 ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 ที่ออกให้แก่ผู้ร้องสอด ชอบด้วยกฎหมาย หรือไม่
เมื่อศาลได้วินิจฉัยในประเด็นที่สองแล้วว่า มติของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ที่ให้ความเห็นชอบรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการพิพาทของผู้ร้องสอด ในการประชุมครั้งที่ 47/2564 เมื่อวันที่ 5 ส.ค.2564 ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ดังนั้น ใบรับแจ้งการก่อสร้าง ดัดแปลง หรือรื้อถอนอาคาร ตามมาตรา 39 ตรี (แบบ ยผ. 4) เลขที่ 114/2564 ลงวันที่ 25 ส.ค.2564 ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 ที่ออกให้แก่ผู้ร้องสอด จึงไม่ชอบด้วยมาตรา 50 วรรคสองแห่ง พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 ด้วยเช่นกัน
พิพากษาเพิกถอนมติผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ในการประชุมครั้งที่ 47/2564 เมื่อวันที่ 5 ส.ค.2564 ที่ให้ความเห็นชอบรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการ 125 สาทร ของผู้ร้องสอด และใบรับแจ้งการก่อสร้าง ดัดแปลง หรือรื้อถอนอาคาร ตามมาตรา 39 ตรี (แบบ ยผ. 4) เลขที่ 114/2564 ลงวันที่ 25 ส.ค.2564 ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 โดยให้มีผลย้อนหลังไปถึงวันที่ออกคำสั่งดังกล่าว ส่วนคำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก” คำพิพากษาศาลปกครองกลาง คดีหมายเลขดำที่ ส.26/2564 คดีหมายเลขแดงที่ ส.47/2566 ลงวันที่ 27 ก.ย.2566 ระบุ
สำหรับโครงการ ‘125 สาทร’ ตั้งอยู่บนโฉนดที่ดินที่ดินเลขที่ 2053 เนื้อที่ 3 ไร่ 1 งาน 25.2 ตารางวา โดยเป็นโครงการอาคารชุดที่พักอาศัยจำนวน 1 อาคาร 2 ทาวเวอร์ ขนาดความสูง 36 ชั้น ชั้นลอย 1 ชั้น และชั้นใต้ดิน 1 ชั้น มีจำนวนห้องพักอาศัย 774 ห้อง ต่อมาแก้ไขเป็น 756 ห้อง มูลค่าโครงการประมาณ 8,000 ล้านบาท โดยมีบริษัท พีเอ็มที พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด เป็นผู้ก่อสร้างโครงการ ปัจจุบันโครงการฯอยู่ระหว่างการก่อสร้าง และมียอดขายแล้ว 50%
(โครงการ 125 สาธร)
@‘พีเอ็มที พร็อพเพอร์ตี้’แจงดำเนินการตามขั้นตอน-สุจริต
รายงานข่าวแจ้งด้วยว่า หลังจากศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาดังกล่าว บริษัท พีเอ็มที พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด ได้ทำหนังสือแจงลูกค้าโครงการฯ ว่า บริษัทฯได้รับทราบคำพิพากษาของศาลปกครองดังกล่าว และรอการดำเนินการตามกระบวนการทางกฎหมายของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งบริษัทได้รับทราบและเข้าใจความกังวลใจของลูกค้าผู้มีอุปการะคุณทุกท่านต่อการดำเนินงานของ โครงการ 125 สาทร
“บริษัทใคร่ขอยืนยันว่า การดำเนินการขอเอกสารการอนุญาตการก่อสร้างได้ดำเนินไปตามขั้นตอนของคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม และได้มีการตรวจสอบประเด็นทางกฎหมาย รวมทั้งข้อกำหนดที่เกี่ยวข้องกับการขออนุญาตต่างๆ
อีกทั้งการพิจารณาในการทำโครงการต่างๆ ยังได้ผ่านการพิจารณาอนุมัติ ภายใต้การกำกับ ควบคุมจากหน่วยงานภาครัฐ บริษัทได้ดำเนินการไปด้วยความสุจริตและเห็นชอบด้วยกฎหมายอย่างชัดเจนทุกประการ
บริษัท ในฐานะผู้พัฒนาโครงการ 125 Sathorn ซึ่งเกิดจากการผนึกกำลังกันระหว่างบริษัท โทรีเซนไทย เอเยนต์ซีส์ จำกัด (มหาชน) (TTA) และพาร์ตเนอร์จากญี่ปุ่น คือ บริษัท คันเดน เรียลตี้ แอนด์ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (KRD) และบริษัท โทเร คอนสตรัคชั่น จำกัด (TCC) ยังคงยืนยันถึงความมั่นคง และความแข็งแกร่งทางด้านการเงินและการลงทุน
พร้อมทั้งเตรียมแผนสำรองในการดำเนินการก่อสร้างเพื่อให้เกิดผลกระทบกับลูกค้าให้น้อยที่สุด มั่นใจโครงการจะยังคงดำเนินการก่อสร้างจนสำเร็จตามความคาดหมายของผู้พัฒนาโครงการ”
รายงานข่าวระบุว่า ขณะนี้ บริษัท พีเอ็มที พร็อพเพอร์ตี้ฯ อยู่ระหว่างดำเนินการยื่นอุทธรณ์คดีนี้ต่อศาลปกครองสูงสุด
สำหรับบริษัท โทรีเซนไทย เอเยนต์ซีส์ จำกัด (มหาชน) (TTA) นั้น ถือหุ้นใหญ่โดยบุคคลในตระกูล ‘มหากิจศิริ’ ซึ่งเป็นตระกูลที่ติดอันดับเศรษฐีไทย 50 อันดับแรก จากการจัดอันดับของนิตยสารฟอร์บส์