วุฒิสภาถกปัญหานโยบายแจกเงินดิจิทัล ป.ป.ช.แจงกำลังศึกษา รวบรวมความเห็นทางวิชาการก่อนตัดสินเข้าเกณฑ์ทุจริตเชิงนโยบายหรือไม่ ขณะ เลขาธิการก.ล.ต.ปัดให้ความเห็น เพราะยังไม่เห็นรูปแบบ แต่เฝ้าติดตามอยู่
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่าเมื่อวันที่ 10 ต.ค. มีการประชุมวุฒิสภาที่รัฐสภา โดยมี นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา เป็นประธานการประชุม มีวาระพิจารณารายงานผลการตรวจสอบและผลการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ประจำปีงบประมาณ 2565 และรายงานสถานการณ์การทุจริตประเทศไทย ประจำปีงบประมาณ 2565
ในการอภิปรายของสว.ได้ตั้งคำถามเกี่ยวกับการทำงานเชิงรุกของ ป.ป.ช. ต่อการตรวจสอบนโยบายของรัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง โดยเฉพาะนโยบายแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท และมีการท้วงติงจากฝ่ายต่างๆ และกังวลว่าจะซ้ำรอยโครงการรับจำนำข้าวที่สร้างความเสียหายเป็นมูลค่ามหาศาล
โดยนายถวิล เปลี่ยนสี สว. หารือในประเด็นเดียวกัน โดยย้ำว่านโยบายแจกเงินดิจิทัลของรัฐบาลเป็นนโยบายที่เป็นปัญหาและไม่ถูกต้องด้วยกาละเทศะ เพราะภาวะเศรษฐกิจไทยไม่อยู่ในภาวะที่ต้องกระตุ้นมากนัก ดังนั้นตนมองว่าควรเน้นเสถียรภาพมากกว่าการสร้างภาระหนี้สินให้รัฐในอนาคต อย่างไรก็ดีขณะนี้มีนักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ รวมถึงผู้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทยท้วงติง รัฐบาลควรรับฟังเหตุผล
"รัฐบาลยืนยันทำโครงการ โดยอ้างว่าเป็นความต้องการของประชาชน ผมว่าไม่ถูกต้องอย่างยิ่ง หากสิ่งใดเป็นพิษต้องไม่ตามใจประชาชน นายกฯ เหมือนหมอที่รักษาไข้ราษฎร หมอให้ยาพิษเคลือบน้ำผึ้งกับคนไข้ไม่ได้ ประชาชนย่อมไม่รู้ถึงพิษที่เกิดขึ้นจากนโยบายนี้ ผมเสนอแนะว่ารัฐบาลต้องกล้าหาญและยอมรับสารภาพความจริงกับประชาชนว่า ไม่ทำโครงการนี้ ความมุ่งมั่นทำโครงการนี้ไม่ใช่เรื่องกล้าหาญ แต่เป็นเรื่องดื้อรั้นไม่มีเหตุผล ดังนั้นยังมีเวลาจะทบทวน ผมหวังนายกฯ จะรับฟังเสียงท้วงติง" นายถวิล กล่าว
ขณะที่นางสุวณา สุวรรณจูฑะ กรรรมการ ป.ป.ช. ชี้แจงว่า อนุกรรมการเฝ้าระวังสภาวะการทุจริต สำนักงาน ป.ป.ช. ซึ่งตนเป็นประธาน ได้ศึกษารวบรวมละเอียดข้อมูล ได้ศึกษาคำแถลงนโยบายของครม.เมื่อ วันที่ 11-12 ก.ย. เกี่ยวกับโครงการเติมเงิน 1 หมื่นบาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต ซึ่งได้ประชุมและรวบรวมข้อมูลต่างๆ รวมถึงรายละเอียดโดยใช้เครื่องมือที่กรรมการ ป.ป.ช. เสนอครม.ว่าด้วยเกณฑ์ชี้วัดความเสี่ยงในการทุจริตเชิงนโยบาย และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับนโยบายดังกล่าว ซึ่งมีข้อมูล นำเสนอให้ ป.ป.ช. รับทราบและดูผลดำเนินการ
“ขณะนี้ได้เสนอต่อกรรมมการป.ป.ช. เป็นวาระเริ่มต้น โดยหารือเบื้องต้นว่าจำเป็นต้องเชิญนักวิชาการ ผู้ที่มีความรู้เรื่องต่างๆ มาศึกษารายละเอียดให้ครบถ้วน ซึ่งได้ตรวจสอบนโยบายสำคัญของรัฐบาลเหมือนชุดที่ผ่านๆ มาด้วยความห่วงใยของ สว.ต้องทำโดยเร่งด่วน" นางสุวณากล่าว
วันเดียวกัน นางพรอนงค์ บุษราตระกูล เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยถึงกรณีที่รัฐบาลจะดำเนินโครงการเติมเงิน 10,000 บาทผ่าน digital wallet ว่า เท่าที่ติดตาม ขณะนี้ ก.ล.ต.ยังไม่เห็นว่ารูปแบบการเติมเงินผ่าน digital wallet เป็นอย่างไร และที่ผ่านมาก็ไม่มีการแถลงเรื่องนี้ออกมาอย่างชัดเจน จึงไม่สามารถให้ความเห็นในเรื่องนี้ได้ อย่างไรก็ตาม ก.ล.ต.ได้มีการติดตามเรื่องนี้อยู่แล้ว
“ก.ล.ต.ไม่ได้อยู่ในคณะฯนั้น (คณะกรรมการนโยบายโครงการเติม 10,000 บาทผ่าน digital wallet) ดังนั้น ณ ตอนนี้ สำนักงานฯก็ติดตามอยู่ แต่ยังให้ความเห็นไม่ได้เลย หากมีรูปแบบออกมาชัดเจน สำนักงานฯ จึงจะให้ความเห็นได้” นางพรอนงค์ กล่าว
นางพรอนงค์ ยังกล่าวถึงสถานการณ์ของตลาดหุ้นไทย ว่า มีหลายปัจจัยที่กดดันตลาดหุ้นไทย ซึ่งส่วนใหญ่มาจากต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นทิศทางดอกเบี้ยขาขึ้น ซึ่งมีผลกระทบต่อค่าเงิน และส่งผลต่อตลาดหุ้น อีกทั้งหากนักลงทุนมองว่าค่าเงินบาทจะอ่อน ก็ทำให้นักลงทุนระมัดระวังเรื่องความเสี่ยง แต่ปัจจัยที่ใหญ่กว่านั้น คือ ในช่วง 4-5 ที่ผ่านมา กำไรของบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ทรงตัวอยู่ที่ระดับ 1 ล้านล้านบาท ซึ่งไม่แย่ เพียงแต่ยังไม่เห็นการเติบโต