ที่ประชุมวุฒิสภามีมติ 174:4 ไม่ส่งตัว 'อุปกิต ปาจรียางกูร' ให้ตำรวจ หลังออกหมายเรียกไปสอบสวนในฐานะผู้ต้องหาคดียาเสพติด
สันกข่าวอิศรา (www.israenews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 9 ต.ค. 2566 ที่รัฐสภา การประชุมวุฒิสภา มี นายศุภชัย สมเจริญ สว. รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 2 ทำหน้าที่ประธานที่ประชุม พิจารณาวาระเรื่องด่วน การขอออกหมายเรียก สว. สอบสวนในฐานะผู้ต้องหาคดีอาญาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 125 ซึ่งที่ประชุมมีมติไม่เห็นชอบให้นำตัวนายอุปกิตไปดำเนินคดีตามที่ ผบ.ตร. ทำหนังสือขออนุญาตต่อที่ประชุมวุฒิสภา
นายศุภชัย กล่าวว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) มีหนังสือมายังวุฒิสภา ขออนุญาตออกหมายเรียกตัว นายอุปกิต ปาจรียางกูร สว. ไปสอบสวน และแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติมตามมาตรา 11/7 พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) วิธีพิจารณายาเสพติด พ.ศ.2550 ในฐานะผู้ต้องหาคดีอาญามาตรา 127 แต่รัฐธรรมนูญ มาตรา 125 ระบุว่า ระหว่างสมัยประชุมห้ามจับคุมขัง หรือหมายเรียกตัว สส.หรือ สว.ไปสอบสวน ในฐานะเป็นผู้ต้องหาคดีอาญา เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากสภาที่ผู้นั้นเป็นสมาชิก หรือเป็นการจับขณะกระทำความผิด การที่ สตช.มีหนังสือมายังวุฒิสภา เพื่อออกหมายเรียกตัวนายอุปกิตไปสอบสวนในฐานะเป็นผู้ต้องหาคดีอาญาระหว่างสมัยประชุม จำเป็นต้องเป็นมติที่ประชุมวุฒิสภา ตามมาตรา 125 ก่อน
นายอุปกิต กล่าวว่า ขอยืนยันความบริสุทธิ์ ก่อนเป็น สว.ในปี 2562 ได้ออกจากกรรมการหุ้นส่วน ไม่ได้เกี่ยวข้องกับ บริษัท อัลลัวร์ กรุ๊ป ที่ผ่านมาเกือบ 15 ปี ตนเองเป็นตัวแทนซื้อขายไฟฟ้าระหว่างไทยกับเมียนมา ที่ด่านท่าขี้เหล็ก ไม่เคยมีปัญหาแม้แต่ครั้งเดียว เนื่องจากขออนุมัตินำเงินสดออกไปทำแคชเชียร์เช็กที่ธนาคาร และนำไปจ่ายที่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) แต่ปัญหาเกิดขึ้นปี 2563–2565 ที่ด่านปิดจากสถานการณ์โควิด นายตุน มิน ลัต นักธุรกิจเมียนมา เข้ามาทำธุรกิจไฟฟ้าต่อจากตนเอง ช่วงที่ชายแดนไทย-เมียนมาปิด มีความจำเป็นต้องชำระเงินผ่าน Money changer (MC) ที่เป็นวิธีเดียวที่สามารถโอนเงินตามปกติของการค้าชายแดน การโอนเงินผ่าน MC นายตุน มิน ลัต เอาเงินไปให้ MC ฝั่งเมียนมา โดยที่เงินไม่ได้รับการโอนมาจริงๆ MC คนดังกล่าวได้หาบัญชีต่าง ๆ ของบุคคลที่ต้องการรับเงินในฝั่งเมียนมา และสั่งให้โอนเงินต่อไปยังจุดมุ่งหมายของผู้ที่จะโอน กรณีนี้คือโอนไปที่ กฟภ. เมื่อพนักงานสืบสวนนครบาลเห็นเส้นทางการชำระค่าไฟฟ้า ก็กล่าวหาเป็นบัญชียาเสพติด ด่วนสรุปการกระทำความผิดเป็นเพียงเรื่องโอนเงินชำระค่าไฟตามบิลของ กฟภ. มูลค่าที่มาจากบัญชีที่ไม่ดีเป็นเพียง 2-3% ของมูลค่าการซื้อขายไฟ
นายอุปกิตกล่าวต่อว่า ทราบว่าก่อนหน้านี้พนักงานสืบสวนได้เรียกบริษัทที่ทำธุรกิจใกล้เคียงกันคือ การนำน้ำมันไปขายฝั่งเมียนมามาถามว่าได้รับเงินค่าอะไร เขาตอบว่าได้รับเงินค่าน้ำมัน โดยเอาใบเสร็จที่ไม่ได้มาตรฐาน บอกพนักงานสืบสวนว่า รับเงินมาจากลุงคำ ไม่ทราบนามสกุล ทำให้พนักสืบสวนเลือกดำเนินคดีกับบริษัทที่เคยเกี่ยวข้องกับตน จากเอกสารโจทก์ในคดีนายตุน มิน ลัต มีมากกว่า 112 บริษัท และบุคคลอีกจำนวนมากที่รับเงินจากบัญชีที่ตำรวจกล่าวหาว่าเป็นบัญชียาเสพติด ไม่มีใครที่จะเอาค่าไฟฟ้าที่ถูกกฎหมายไปฟอกผ่าน MC ให้เป็นเงินผิดกฎหมาย หลังจากที่บุคคลในเครือบริษัทที่เกี่ยวข้องกับตนถูกจับกุมตัว ผู้ว่าฯทั้งสองประเทศได้คุย และตัดสินใจว่าจะดำเนินธุรกิจไฟต่อ ไม่ให้ประชาชนเดือดร้อน จึงให้ฝั่งเมียนมาเป็นผู้รับผิดชอบโอนเงิน การไฟฟ้าของเมียนมาได้โอนเงินผ่าน MC คนเดิม วิธีเดิม ทุกอย่างในช่วงที่ด่านปิด ทำให้เห็นได้ชัดว่าการโอนเงินแบบนี้คือเรื่องปกติ แต่ที่ผิดปกติคือบริษัทในเครือที่เคยเกี่ยวข้องกับตน ถูกดำเนินคดีเพียงบริษัทเดียว ต้องการชี้ให้เห็นว่า การโอนเงินผ่าน MC เป็นปกติวิสัยของการทำธุรกิจค้าขายชายแดน
นายอุปกิตกล่าวอีกว่า ส่วนกรณี นายรังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล เคยอภิปรายตนเองในการอภิปรายไม่ไว้วางใจแบบไม่ลงมติ กล่าวหาว่าพัวพันขบวนการค้ายาเสพติด เอาหลักฐานเท็จจากเจ้าหน้าที่ตำรวจบางคนส่งมาให้มาอภิปราย เช่น แชตบทสนทนาการพูดคุยระหว่างตนเองกับนาย ตุน มิน ลัต ที่มีการบิดเบือนบทสนทนาเรื่องการทำธุรกิจซื้อขายไฟฟ้าเป็นเท็จ เป็นต้น
ขณะนี้ดำเนินการฟ้องนายรังสิมันต์ โรม ข้อหาหมิ่นประมาท 2 คดี โดยคดีแรกศาลประทับรับฟ้องแล้ว ทั้งนี้อยากชี้ให้เห็นข้อบกพร่อง ของกระบวนการออกหมายจับ ขั้นตอนในชั้นอัยการ ผิดจากธรรมเนียมปฏิบัติ ตนเองไม่มีวันทำอะไรเลวร้ายตามที่ถูกกล่าวหา และถึงแม้จะประกาศสละสิทธิไม่ขอรับเอกสิทธิ์คุ้มครอง เรื่องการขออนุญาตจากที่ประชุมวุฒิสภาให้ส่งตัวไปดำเนินคดี ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 125 แต่ก็ทำไม่ได้ เพราะทุกอย่างต้องได้รับการอนุญาตจากที่ประชุมวุฒิสภา ซึ่งได้แสดงเจตนาพร้อมเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ไม่ต้องรอปิดสมัยประชุมวันที่ 30 ตุลาคมนี้ เพราะไม่ประสงค์ให้ใครเอาไปเป็นประเด็นวิจารณ์วุฒิสภา
“ขอกราบเรียนประธานและสมาชิกทุกคนว่า ผมพร้อมเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ที่ผมยังมีความเชื่อมั่นอยู่ โดยไม่จำเป็นต้องขอความคุ้มครองใดๆ” นายอุปกิต กล่าว
จากนั้นที่ประชุมเปิดโอกาสให้ สว.อภิปรายแสดงความคิดเห็นจะส่งตัวนายอุปกิตให้เจ้าหน้าที่ตำรวจไปสอบสวนเป็นผู้ต้องหาคดีอาญาระหว่างสมัยประชุม ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 125 หรือไม่ ซึ่งที่ประชุมวุฒิสภาได้ลงมติด้วยเสียงข้างมาก 174 :7 เสียง มีมติไม่เห็นชอบให้นำตัวนายอุปกิตไปดำเนินคดีตามที่ ผบ.ตร. ทำหนังสือขออนุญาตต่อที่ประชุมวุฒิสภา เนื่องจากหลักการมาตรา 125 มุ่งให้ความคุ้มครองสมาชิกฐานะตัวแทนของประชาชน ไม่ใช่เป็นประเด็นเอกสิทธิ แม้นายอุปกิตจะขอสละสิทธิความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญก็ตาม งดออกเสียง 10 เสียง ในจำนวนผู้ลงมติ 191 เสียง