ดีเอสไอ แถลงส่งสำนวนอัยการฟ้องคดีทุจริตขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม 4.9 พันล้าน หลังอธิบดีเห็นควรสั่งฟ้องทุกข้อหา คดี 'สุรศักดิ์'เจ้าของกิจการหลายบริษัท รับ ซื้อ ขาย ของเก่า ทองแดง ทองเหลือง ได้รับเงินจากกลุ่มนิติบุคคลขอคืนเงินภาษีเท็จ ปิดบังซ่อนเร้น ไม่นำเงินได้มายื่นเสียภาษีกรมสรรพากร ทำให้รัฐขาดรายได้ เผยมีอีก 3 กลุ่ม ยอดเสียหายรวมกว่า 3 แสนล้าน
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 6 ต.ค.2566 กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ได้แถลงข่าวกรณีส่งสำนวนคดีพิเศษ ที่ ที่ 58/2566 พร้อมผู้ต้องหาคดีทุจริตขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม จำนวนเงิน 4,915,093,268.32 บาท ไปยังสำนักงานอัยการคดีพิเศษ เพื่อฟ้องร้องดำเนินคดีตามขั้นตอนทางกฎหมาย ภายหลังจากที่อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษมีความเห็นควรสั่งฟ้องทุกข้อหาแล้ว
โดยคดีนี้ กองคดีภาษีอากร ได้ดำเนินการสืบสวนสอบสวนกรณีที่กรมสรรพากรได้ร้องทุกข์ต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษให้ดำเนินคดีกับกลุ่มนิติบุคคลและผู้เกี่ยวข้องซึ่งมีพฤติการณ์ขอคืนเงินภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นเท็จ ในรอบปี พ.ศ. 2554 - 2556 ซึ่งจากการสืบสวนสอบสวนพบว่ามีบุคคลได้รับเงินจากการทุจริตในการคืนภาษีมูลค่าเพิ่มและไม่สามารถชี้แจงที่มาของเงินดังกล่าวได้
คณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษได้รวบรวมข้อเท็จจริงและพยานหลักฐาน เชื่อได้ว่า นายสุรศักดิ์ (ขอสงวนนามสกุล) ในฐานะเจ้าของกิจการหลายบริษัท ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับรับ ซื้อ ขาย ของเก่าประเภททองแดง ทองเหลืองได้รับเงินจากกลุ่มนิติบุคคลและผู้เกี่ยวข้องซึ่งมีพฤติการณ์ขอคืนเงินภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นเท็จ และปิดบังซ่อนเร้น ไม่นำเงินได้ดังกล่าวมายื่นเสียภาษีเงินได้ต่อกรมสรรพากร ทำให้รัฐขาดรายได้ในการจัดเก็บภาษี เป็นมูลค่าความเสียหาย จำนวนเงิน 4,915,093,268.32 บาท
อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษจึงได้มีความเห็นควรสั่งฟ้องผู้ต้องหาในความผิดฐานกระทำโดยความเท็จ โดยฉ้อโกงหรืออุบาย หรือโดยวิธีการอื่นใดทำนองเดียวกัน หลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากร ตามมาตรา 37 แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ กองคดีภาษีอากร ได้ส่งสำนวนคดีพิเศษที่ 58/2566 นี้ พร้อมตัวผู้ต้องหา ไปยังสำนักงานอัยการคดีพิเศษ เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2566 เรียบร้อยแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณามีความเห็นของพนักงานอัยการ
อนึ่ง นอกจากคดีนายสุรศักดิ์แล้ว พนักงานสอบสวนคดีพิเศษยังได้ดำเนินคดีกับบุคคลที่มีพฤติการณ์เช่นเดียวกันนี้ ในการได้รับเงินจากกลุ่มนิติบุคคลและผู้เกี่ยวข้องซึ่งมีพฤติการณ์ขอคืนเงินภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นเท็จรายอื่นด้วย โดยได้มีความเห็นสั่งฟ้องไปก่อนหน้านี้ในคดีพิเศษที่ 115/2565 ความผิดฐานกระทำโดยความเท็จ โดยฉ้อโกงหรืออุบาย หรือโดยวิธีการอื่นใดทำนองเดียวกัน หลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากร ตามมาตรา 37 แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งมีมูลค่าความเสียหาย จำนวนเงิน 4,366,742,951 บาท และคดีพิเศษที่ 152/2561 ความผิดฐานฟอกเงิน จำนวนเงิน 296,897,908.57 บาท
นอกจากนี้ ยังอยู่ระหว่างการขยายผลเพิ่มอีกหนึ่งคดี ได้แก่ คดีพิเศษที่ 54/2566 จำนวนเงิน 1,132,231,291 บาท