ครม.ไฟเขียวตั้ง ‘บอร์ดนโยบายแจกเงินดิจิทัล’ นายกฯนั่งประธาน ‘จุลพันธ์’ เผยการขยับเพดานก่อหนี้ฯ หาเงินโปะโครงการฯ เป็นหนึ่งในทางเลือก ยืนยัน 'เศรษฐา' ไม่เคยให้ข่าวว่าจะขยายเพดานก่อหนี้ฯ
.................................
เมื่อวันที่ 3 ต.ค. นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบแต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ที่มีนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง เป็นประธาน โดยคณะกรรมการฯชุดดังกล่าว มีอำนาจหน้าที่ในการกำหนดแนวนโยบาย กรอบวงเงินงบประมาณ และแหล่งที่มาของวงเงินงบประมาณที่จะใช้ในโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet เป็นต้น
“อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการฯชุดนี้ จะครอบคลุมตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ หรือตั้งแต่การกำหนดแนวนโยบาย กรอบวงเงินงบประมาณ แหล่งที่มาของงบประมาณ กลไกการดำเนินการต่างๆ รวมทั้งเมื่อนโยบายนี้กดปุ่มดำเนินการแล้ว จะมีการตรวจสอบทั้งเรื่องการทุจริตต่างๆ และดูว่าการดำเนินการราบรื่นหรือไม่ อีกทั้งเมื่อโครงการสิ้นสุดลงแล้ว จะสรุปผลว่าการดำเนินโครงการเป็นไปตามวัตถุประสงค์หรือไม่ เพื่อรายงาน ครม. ทราบต่อไป” นายจุลพันธ์ ระบุ
นายจุลพันธ์ กล่าวด้วยว่า ได้มีการนัดหมายกันว่า จะมีประชุมคณะกรรมการฯนัดแรกในช่วงปลายสัปดาห์นี้ ซึ่งในการประชุมครั้งดังกล่าว จะมีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนนโยบายฯ ที่มีตนเอง เป็นประธานอนุกรรมการฯ และมีนายเผ่าภูมิ โรจนสกุล เลขานุการ รมว.คลัง ร่วมเป็นคณะอนุกรรมการฯด้วย ทั้งนี้ คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนฯจะใช้เวลา 2-3 สัปดาห์ ในการพิจารณาแนวทางการขับเคลื่อนนโยบายในทุกมิติ เพื่อเสนอคณะกรรมการฯชุดใหญ่ต่อไป
“ไม่น่าเกิน 2-3 สัปดาห์ (คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนฯ) จะนำเรื่องเสนอต่อคณะกรรมการฯชุดใหญ่ ในทุกมิติที่เป็นคำถามของสื่อมวลชนและสังคม และขณะนี้คงยังตอบไม่ได้ เพราะเราต้องให้เกียรติกับคณะกรรมการชุดใหญ่ ดังนั้น คงต้องรอให้มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการฯก่อน เมื่อทำเรื่องเสร็จแล้ว ก็ส่งเข้าชุดใหญ่ เมื่อได้รับการอนุมัติแล้ว จะมีการทำการชี้แจง ทำความเข้าใจ และลงในรายละเอียดให้ครบถ้วน” นายจุลพันธ์ กล่าว
นายจุลพันธ์ กล่าวด้วยว่า การดำเนินโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet นั้น ได้มีการพูดคุยกับ ธปท. เกี่ยวกับประเด็นเรื่องข้อกฎหมาย เช่น พ.ร.บ.เงินตราฯ ซึ่งเบื้องต้นไม่ติดปัญหาหรือประเด็นใดๆ โดยเรามีกลไกที่จะทำเรื่องนี้โดยไม่ขัดต่อตัวบทกฎหมายแต่อย่างใด และขอยืนยันว่าเทคโนโลยีที่อยู่เบื้องหลังโครงการฯนี้ จะใช้เทคโนโลยีบล็อกเชน เพราะเป็นกลไกปลอดภัย ตรวจสอบได้ และตรวจสอบย้อนกลับได้ รวมทั้งอยู่ภายใต้กำกับของ ธปท.ด้วย
ส่วนกรณีที่กระแสข่าวว่ารัฐบาลจะขยายเพดานการก่อหนี้ตามมาตรา 28 ของ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังฯ เพื่อกู้เงินมาใช้ในโครงการเติมเงินผ่าน Digital Wallet นั้น นายจุลพันธ์ ระบุว่า ไม่ทราบว่าที่ว่าที่นายกฯไปให้ข่าวว่าจะมีการขยับกรอบหนี้ตามมาตรา 28 นั้น มาจากไหน และก็ไม่เห็นว่านายกฯเคยไปพูดเรื่องนี้ที่ไหน จึงยืนยันว่า ไม่มีเรื่องนี้
“ลองไปหาเทปดูว่านายกฯพูดที่ไหน ผมก็ยังไม่เห็นเหมือนกัน ท่านชัย (วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี) ก็ยืนยันว่า ไม่เห็น ไม่มีครับ ยืนยันว่า ไม่มี ท่านนายกฯก็บอกว่า ไม่ได้ให้ข่าวนี้ ผมไม่แน่ใจข่าวนี้มาจากตรงไหน ฉะนั้น ในจุดนี้ยืนยันว่าเรายึดมั่นในกรอบวินัยการเงินการคลัง เราทำให้ดีที่สุด
ส่วนกลไกที่จะมีใช้ มีทางเลือกสำหรับรัฐบาล เราเป็นรัฐ เรามีกลไกที่จะเลือกได้ อาจจะออกมาในรูปไฮบริดก็ได้ ซึ่งสุดท้ายคณะอนุกรรมการขับฯ ซึ่งถูกตั้งขึ้นมา จะนำเสนอทางเลือกต่างๆต่อคณะกรรมการฯที่ตั้งขึ้น เพื่อตัดสินใจว่า สุดท้ายเราว่าจะเลือกออปชั่นไหนสำหรับการขับเคลื่อนนโยบายนี้ และจะเป็นประโยชน์ที่สุด” นายจุลพันธ์ กล่าว
เมื่อถามย้ำว่า จะมีการขยายเพดานการก่อหนี้ฯตาม พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังฯ หรือไม่ นายจุลพันธ์ กล่าวว่า ก็ต้องรอดู แต่เป็นหนึ่งในออปชั่น (ทางเลือก) เป็นทางเลือกที่เราเลือกได้
นายจุลพันธ์ ระบุว่า การขยายกรอบรัศมีการใช้จ่ายเงินโครงการเติมเงินผ่าน Digital Wallet ซึ่งเดิมกำหนดให้อยู่ในรัศมีไม่เกิน 4 กม. นั้น มีความเป็นไปได้สูงว่าจะขยายพื้นที่ออกไป เพราะจากการรับฟังความคิดเห็นต่างๆพบว่ากรอบพื้นที่รัศมี 4 กม. นั้น บางพื้นที่หาอะไรไม่ได้เลย ส่วนจะขยายเป็นเท่าไหร่นั้น ขอให้คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนฯพิจารณาก่อน และคนที่ฟันธงในขั้นสุดท้าย คือ คณะกรรมการฯ โดยเรื่องทั้งหมดจะมีความชัดเจนภายในเดือน ต.ค.นี้
“ปลายเดือนนี้น่าจะจบหมดแล้ว ส่วนกรอบระยะเวลา เรายังตั้งเป้าเหมือนเดิม คือ 1 ก.พ.2567 บวกลบ 1 เดือน เพราะหลังจากพูดคุยในหลายส่วนแล้ว มันค่อนข้างตึง และเราต้องยืนยันว่าเมื่อนโยบายนี้ออกไปแล้ว ต้องรัดกุม ผ่านการทดสอบในหลายรูปแบบ เราจะปล่อยให้ออกมาโดยมีประเด็นปัญหาไม่ได้ ซึ่งต้องไปเรียนในรายละเอียดนายกฯ เมื่อใกล้เวลาว่า สุดท้ายแล้วเราจะเดินตามกรอบเวลา 1 ก.พ.2567 ได้หรือไม่ หรือต้องขยับขยายเพิ่มเติม” นายจุลพันธ์กล่าว
@เปิดชื่อ‘บอร์ดนโยบายแจกเงินดิจิทัล’-อำนาจหน้าที่
รายงานข่าวแจ้งว่า สำหรับองค์ประกอบของคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet มีดังนี้ ประธานกรรมการ คือ นายกรัฐมนตรี และมีรองประธานกรรมการ 4 คน ได้แก่ ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ และรมว.พาณิชย์ ,นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกฯ และรมว.กระทรวงการต่างประเทศ ,นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และรมว.มหาดไทย และนายประเสริฐ จันทรรวงทอง รมว.กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (DES)
ส่วนกรรมการฯ ได้แก่ นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง ,นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ รมช.คลัง ,ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ,เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ,ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ ,เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ,อัยการสูงสุด ,ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ,ปลัดกระทรวงมหาดไทย ,ปลัดกระทรวงดิจิทัลฯ ,ประธานกรรมการสมาคมกรรมการสถาบันการเงินของรัฐ
ประธานสมาคมธนาคารไทยกรรมการ ,ผู้ทรงคุณวุฒิด้าน Digital Wallet ,ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการเงินและการคลังกรรมการ ,ผู้ทรงคุณวุฒิด้าน Blockchain โดยมีปลัดกระทรวงการคลัง และปลัดกระทรวงพาณิชย์ เป็นกรรมการและเลขานุการร่วม ขณะที่ตำแหน่งผู้ช่วยฝ่ายเลขานุการฯ ได้แก่ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ผู้แทนกระทรวงพาณิชย์รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายบริหาร และผู้ช่วยปลัดกระทรวงการคลัง
ขณะที่หน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการฯ ได้แก่
1.กำหนดนโยบายโครงการ วัตถุประสงค์โครงการ แนวทางการดำเนินโครงการ หลักเกณฑ์และเงื่อนไขของโครงการ และแหล่งที่มาของเงินที่จะนำมาใช้ในโครงการฯ เพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรี
2.กำกับ ดูแล ติดตาม และตรวจสอบการดำเนินโครงการ ให้เป็นไปตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ
3.กำกับ ติดตาม ขับเคลื่อน และเร่งรัดส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้นำนโยบายรัฐบาลและข้อสั่งการนายกรัฐมนตรีไปปฏิบัติ เพื่อให้การดำเนินโครงการฯ บรรลุผลสำเร็จและเป็นไปตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ
4.เสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อแก้ไขปัญหาอุปสรรคในการดำเนินโครงการฯ
5.ติดตามและประเมินผลทั้งก่อนและหลังการดำเนินโครงการฯ เพื่อรายงานต่อคณะรัฐมนตรี
6.รวบรวมและจัดทำรายงานผลการดำเนินโครงการฯ เพื่อให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องใช้ประโยชน์ในการเผยแพร่และสร้างการรับรู้ของประชาชน
7.กำหนดแนวทางในการจัดการฐานข้อมูล รวมถึงดำเนินการเก็บรวบรวม ใช้ ประมวลผล และเปิดเผยข้อมูลเพื่อสนับสนุนการดำเนินโครงการฯ
8.แต่งตั้งคณะอนุกรรมการ คณะทำงาน หรือคณะที่ปรึกษา เพื่อช่วยในการปฏิบัติงานได้ตามความจำเป็น
9.เชิญบุคคลที่เกี่ยวข้องมาให้ข้อมูล ข้อเท็จจริง และความเห็น รวมทั้งส่งเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องเพื่อประกอบการพิจารณาของคณะกรรมการ โดยให้ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานของทางราชการให้ความร่วมมือและสนับสนุนการดำเนินการของคณะกรรมการ
10.ปฏิบัติการอื่นใดตามที่นายกรัฐมนตรีหรือคณะรัฐมนตรีมอบหมาย
สำหรับการเบิกจ่ายเบี้ยประชุมและค่าใช้จ่ายของคณะกรรมการ ให้เป็นไปตามพระราชกฤษฎีกาเบี้ยประชุมกรรมการ พ.ศ. 2547 หรือตามระเบียบทางราชการ แล้วแต่กรณี โดยให้เบิกจ่ายจากงบประมาณของสำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง ส่วนการเบิกจ่ายเบี้ยประชุมและค่าใช้จ่ายของคณะอนุกรรมการ ให้เป็นไปตามพระราชกฤษฎีกาเบี้ยประชุมกรรมการ พ.ศ. 2547 หรือตามระเบียบทางราชการ แล้วแต่กรณี โดยให้เบิกจ่ายจากงบประมาณของ สศค.