‘เศรษฐา’ เซ็นตั้ง 35 คณะกรรมการศึกษาประชามติแก้รัฐธรรมนูญแล้ว พบตัวแทนหลากหลายทั้งนักการเมือง-อาจารย์มหาวิทยาลัย-ตำรวจ-นักศึกษา-ประธานสหภาพฯ ‘ภูมิธรรม’ นัดประชุมครั้งแรก 9 ต.ค.นี้ วางกรอบทำงาน เตรียมเดินสายพบทุกภาคส่วน ยันสิ้นปี 66 ศึกษาเสร็จ
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 3 ตุลาคม 2566 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ลงนามในคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 256/2566 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางในการทำประชามติ เพื่อแก้ไขปัญหาความเห็นแตกต่างในเรื่องรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2560
สาระสำคัญของคำสั่งดังกล่าวคือ การแต่งตั้งคณะกรรมการจำนวน 35 คน โดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 11 (6) แห่ง พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน 2534 โดยองค์ประกอบมีดังนี้
1.นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานกรรมการ
2.นายชูศักดิ์ ศิรินิล อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง รองประธานกรรมการคนที่ 1
3.นายกิตติพงษ์ กิตยารักษ์ อดีตปลัดกระทรวงยุติธรรม รองประธานกรรมการคนที่ 2
4.นายนิกร จำนง สส.พรรคชาติไทยพัฒนา กรรมการและโฆษก
5.พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กรรมการ
6.นายพิชิต ชื่นบาน ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี กรรมการ
7.พล.อ.ชัชวาล ขำเกษม ประธานที่ปรึกษาสมาคมทหารผ่านศึกพิการแห่งประเทศไทย กรรมการ
8.พล.ต.อ.สุเทพ เดชรักษา อดีตผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ผบช.น.) กรรมการ
9.พล.ต.อ.วินัย ทองสอง อดีตรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รองผบ.ตร.) กรรมการ
10.นายสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ นักเคลื่อนไหวกิจกรรมทางการเมือง กรรมการ
11.นายศุภชัย ใจสมุทร ตัวแทนพรรคภูมิใจไทย กรรมการ
12.นายวิรัตน์ วรศสิริน ตัวแทนจากพรรคเสรีรวมไทย กรรมการ
13.นายวิภูแถลง พัฒนภูมิไท อดีตแกนนำ นปช. กรรมการ
14.นายวิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ กรรมการ
15.นายวัฒนา เตียงกูล ทนายความ กรรมการ
16.นายยุทธพร อิสรชัย อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ ม.สุโขทัยธรรมาธิราช กรรมการ
17.นายไพบูลย์ นิติตะวัน ตัวแทนพรรคพลังประชารัฐ กรรมการ
18.นายพรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กรรมการ
19.นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา อดีตผู้พิพากษา กรรมการ
20.นายประวิช รัตนเพียร อดีตผู้ตรวจการแผ่นดิน กรรมการ
21.นายนพดล ปัทมะ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กรรมการ
22.นายธนกร วังบุญคงชนะ ตัวแทนพรรครวมไทยสร้างชาติ กรรมการ
23.นายธงชัย ไวยบุญญา ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการประปาส่วนภูมิภาค (สร.กปภ.) กรรมการ
24.นายเทวัญ ลิปตพัลลภ ตัวแทนพรรคชาติพัฒนา กรรมการ
25.นายเดชอิศม์ ขาวทอง ตัวแทนจากพรรคประชาธิปัตย์ กรรมการ
26.นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ ตัวแทนพรรคไทยสร้างไทย กรรมการ
27.นายชาติพงษ์ จีระพันธุ อดีตรองอัยการสูงสุด กรรมการ
28.นายชนะโรจน์ เทียนธนะวัฒน์ ประธานสภานักศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล กรรมการ
29.นางสิริพรรณ นกสวน สวัสดี อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กรรมการ
30.นางสาวลิณธิภรณ์ วริณวัชรโรจน์ รองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย กรรมการ
31.นางประทีป อึ้งทรงธรรม ฮาตะ ผู้ก่อตั้งและเลขาธิการมูลนิธิดวงประทีป กรรมการ
32.ผู้แทนพรรคก้าวไกล
33. นายธีระพงษ์ วงศ์ศิวะวิลาส ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี กรรมการ
34.นายนพดล เภรีฤกษ์ กรรมการและผู้ช่วยเลนานุการ
35.นายชนินทร์ รุ่งธนเกียรติ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง กรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ
สำหรับหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการชุดนี้ จะต้องพิจารณาแนวทางในการทำประชามติที่ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของประชาชนในการออกกฎ กติกาที่มีความเป็นประชาธิปไตยทันสมัย และเป็นที่ยอมรับร่วมกัน ตลอดจนสอดคล้องกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ หารือแนวทางจัดทำรัฐธรรมนูญในสภา เพื่อให้คนไทยมีรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น และประเทศสามารถเดินไปข้างหน้าได้มั่นคง
มีอำนาจเชิญส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ ผู้ทรงคุณวุฒิ หรือผู้ที่เกี่ยวข้องมาให้ข้อมูล ข้อเท็จจริง ความเห็น เอกสาร และหลักฐานใดๆ
สามารถแต่งตั้งอนุกรรมการ คณะทำงาน หรือมอบหมายเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เพื่อช่วยเหลือการปฏิบัติหน้าที่ และให้คณะกรรมการรายงานผลต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.)
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 3 ตุลาคม 2566 เป็นต้นไป
@ประชุมนัดแรก 9 ต.ค.นี้ วางกรอบ
ด้านนายภูมิธรรมแถลงข่าวว่า ได้นัดหมายคณะกรรมการดังกล่าวประชุมกันในวันที่ 9 ต.ค. 2566 นี้ เพื่อวางกรอบทำงาน หลังจากนั้นจะเดินสายพบปะทุกภาคส่วนที่ขาดอยู่ คาดว่า่อนสิ้นปีนี้ จะมีข้อสรุปเกี่ยวกับการทำประชามติ
สำหรับคณะกรรมการชุดนี้มีหลักการเบื้องต้นว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญจะไม่แตะต้องหมวดสถาบันพระมหากษัตริย์ หรือหมวด 1-2 และไม่แตะต้องพระราชอำนาจที่แทรกอยู่ในมาตราต่างๆของรัฐธรรมนูญ และจะต้องร่างให้เสร็จภายใน 4 ปีและต้องผ่านการพิจารณาด้วย ซึ่งเป็นวาระของรัฐบาลชุดนี้ อันรวมถึงพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ฉบับต่างๆด้วย เพื่อให้ทันกับการเลือกตั้งครั้งใหม่ ที่จะใช้กฎหมายที่ผ่านมาโดยกระชาชนทั้งประเทศมา
รองนายกรัฐมนตรีระบุว่า คณะกรรมการชุดนี้จะมี 35 คน และยังไม่ครอบคลุมทั้งหมด ภายหลังการแต่งตั้งคณะกรรมการแล้ว จะเชิญกลุ่มวิชาชีพ, ที่ประชุมอธิการบดีของมหาวิทยาลัยต่างๆ,องค์การนักศึกษาของมหาวิทยาลัยต่างๆ, เกษตรกร, นายกสมาคมนักข่าวและนักธุรกิจ เป็นต้น สำหรับสมาคมนักข่าวเท่าที่คุยกันมีหลายสมาคม ดังนั้น คณะกรรมการจะจัดกลุ่มไปคุยอีกทีดีกว่า
@ยังรอก้าวไกล ส่งคนมาร่วม
เมื่อถามว่า กรณีที่พรรคก้าวไกลยังไม่ส่งตัวแทนมาร่วมเป็นคณะกรรมการนั้น นายภูมิธรรมตอบว่า ตอนนี้ยังรออยู่ การมาร่วมกันในกรอบของรัฐธรรมนูญที่ขัดเจน ก็ควรจะระดมความเห็นจากทุกฝ่าย แต่หากไม่สะดวกใจก็จะมีวิธีเข้าไปรับฟังความเห็นได้ ซึ่งคงไม่เป็นปัญหาอะไร และเป็นการบันทุกสิ่งที่เห็นต่างกัน ส่วนจะใช้สภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) หรือไม่ ภารกิจในการรับฟังความเห็นภาคส่วนต่างๆมี 3 ประเด็นคือ 1. กระบวนการแก้ไขหรือจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ควรทำอย่างไร 2.ต้องทำประชามติกี่ครั้ง ซึ่งต้องดูกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้รอบคอบ แต่ตั้งใจว่าจะต้องทำประชามติให้น้อยครั้งที่สุด เพราะการทำประชามติใช้งบประมาณเฉลี่ยครั้งละ 6,000-8,000 ล้านบาท หากทำหลายๆครั้ง รัฐบาลจะเสียงบประมาณไป และ 3.ในการทำประชามติครั้งแรก ควรถามอะไร ครอบคลุมแค่ไหน ดังนั้น ยืนยันว่า เปิดกว้างทถกอย่าง เว้นหมวดที่ 1-2
เมื่อถามว่า การที่พรรคก้าวไกลเสนอว่า ส.ส.ร. ควรมาจากการเลือกตั้งนั้น รองนายกรัฐมนตรีตอบว่า ขอให้มานำเสนอในที่ประชุม เพราะที่ประชุมเผิดให้ทุกฝ่ายแสดงความเห็น และพรรคเพื่อไทยหรือพรรคก้าวไกล ก็ไม่ใช่ตัวแทนของทุกกลุ่มวิชาชีพ แต่ละคนมี 1 ความเห็น จึงค้องมาดูว่าคนส่วนใหญ่คิดอย่างไร
ผู้สื่อข่าวถามอีกว่า หากกระบวนการศึกษาการทำประชามติเสร็จตามกำหนด ประชาชนจะทำประชามติครั้งแรกเมื่อไหร่ และครม.ได้ถกเถียงกันหรือไม่ว่า ทำไมต้องล็อกไม่แก้ในหมวด 1-2 ทั้งๆที่ในการร่างรัฐธรรมนูญ 2560 ก็ยังแก้ได้ นายภูมิธรรมตอบว่า เพราะสถานการณ์เปลี่ยนไป และได้พยายามคิดถึงจุดสำคัญที่เป็นปัญหาความขัดแย้ง ซึ่งตรงนี้ก็เป็นประเด็น รัฐบาลพยายามสลายขั้วความขัดแย้งต่างๆ และหาทางที่จะให้ประเทศเดินหน้าไปได้มากที่สุด ดังนั้น อะไรที่เป็นปัญหาก็เว้นไปก่อน แต่ไม่ได้บอกว่าอะไรผิดถูก ดีไม่ดี แต่ขั้นต้นรัฐธรรมนูญต้องผ่านก่อน เมื่อผ่านแล้ว อะไรที่เป็นความขัดแย้งก็หลีกเลี่ยงไป และเราอยู่ในสังคมพหุวัฒนธรรม ต้องหาจุดร่วมกันให้ได้
เมื่อถามถึงกรณีที่กลุ่มโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือ iLaw เคยยื่นรายชื่อเสนอคำถามทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่กับพรรคเพื่อไทย จะนำมาใช้หรือไม่ นายภูมิธรรมตอบว่า อยู่ในข่ายที่จะเรียนเชิญเข้ามาร่วม แต่ตัวแทน iLAW ไปให้สัมภาษณ์รายการโทรทัศน์ว่า ไม่อยากเข้ามาเป็นตัวแทน ก็ไม่ขัดข้อง เพราะก็จะเชิญมาคุยด้วย ส่วนที่ยื่นรายชื่อมา ก็เป็นส่วนหนึ่งที่จะพิจารณา และคณะกรรมการจะเปิดช่องทางการสื่อสารกับประชาชนด้วย
@รัฐประหารฉีกรัฐธรรมนูญ ขึ้นกับประชาชน
ผู้สื่อข่าวถามอีกว่า การร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าว จะทำอย่างไรไม่ให้ถูกฉีกโดยการรัฐประหารอีก นายภูมิธรรมกล่าวว่า เรื่องฉีกไม่ฉีกเป็นวัฒนธรรมการเมืองที่ต้องให้ประชาชนตื่นรู้ เพราะการเกิดรัฐประหารมีคนจำนวนมากไม่อยากเห็น และทำให้บ้านเมืองถอยหลังล้มเหลว จึงต้องอยู่การสร้างระบอบประชาธิปไตยให้เข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น จึงยืนยันไม่ได้ว่า จะทำได้ แต่จะกลไกให้มากที่สุด
นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์