DSI ร่วม ปศุสัตว์ ศุลกากร เผาทำลายของกลางในคดีพิเศษที่ 59/2566 (ซากสุกรแช่แข็ง) เน่าแล้ว 7 ตู้ โดยวิธีเผาทำลาย ที่ท่าเรือแหลมฉบัง ก่อนทยอยฝังกลบ หลังสภาพอากาศที่ จังหวัดสระแก้ว เอื้ออำนวย
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 29 ก.ย. 2566 พันตำรวจตรี สุริยา สิงหกมล อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ มอบหมายให้ พันตำรวจตรี ยุทธนา แพรดำ รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ พร้อมด้วย พันตำรวจตรี สุทศธวรรศ อารีย์รัตนะนคร ผู้อำนวยการกองปฏิบัติการพิเศษ พันตำรวจตรี ณฐพล ดิษยธรรม ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านคดีคุ้มครองผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม หัวหน้าคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษที่ 59/2566 และร้อยตำรวจเอก ชาญณรงค์ ทับสาร รองผู้อำนวยการกองปฏิบัติการคดีพิเศษภาค นำคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ ลงพื้นที่ท่าเรือแหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี เพื่อส่งมอบ - รับมอบ และนำตู้สินค้าประเภทซากสุกรของกลางลักลอบนำเข้า 161 ตู้ ในคดีพิเศษที่ 59/2566 กรณี ขบวนการนำเข้าสินค้าประเภทซากสัตว์ (สุกร) เข้ามาในราชอาณาจักรโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ไปทำลาย
การส่งมอบซากสุกรของกลางดังกล่าว เป็นไปตามหนังสืออธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ด่วนที่สุดที่ ยธ 0827/2617 ลงวันที่ 26 กันยายน 2566 ถึง อธิบดีกรมศุลกากร เรื่อง ขอให้พิจารณาเรื่องการดำเนินการกับวัตถุพยานในคดี กรณี สำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง ได้ทำการตรวจยึดตู้สินค้า จำนวน 161 ตู้ ที่ทำการตรวจยึดและดำเนินการตามกฎหมายศุลกากรว่าด้วยเรื่องของตกค้างสินค้าประเภทสุกรแช่แข็ง
ทั้งนี้ กรมสอบสวนคดีพิเศษ กรมศุลกากร และกรมปศุสัตว์ ได้ร่วมกันตรวจสอบของกลางดังกล่าว ในระหว่างวันที่ 5 - 14 กรกฎาคม 2566 เสร็จเรียบร้อยแล้ว และได้มีการประชุมร่วมกันเมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2566 ณ กรมสอบสวนคดีพิเศษ ที่ประชุมมีความเห็นร่วมกันให้นำของกลางดังกล่าวไปทำลายตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป
ต่อมา เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2566 มีการประชุมพิจารณาการทำลายของกลาง (ซากสุกร) ที่สำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง ที่ประชุมประกอบด้วย กรมสอบสวนคดีพิเศษ กรมศุลกากร กรมปศุสัตว์ และผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอื่น ทั้งภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง โดยร้อยตำรวจเอก ชาญณรงค์ ทับสาร เลขานุการคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษที่ 59/2566 เป็นผู้แทนคณะฯ เข้าประชุม
ที่ประชุมมีมติให้มีการทำลายซากสุกร นำเข้าจากต่างประเทศ จำนวน 161 ตู้ ในวันที่ 29 กันยายน 2566 โดยจะใช้วิธีเผาทำลาย ณ สำนักชลประทานที่ 9 ตำบลบางพระ อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี เบื้องต้นจะเริ่มทำลายครั้งละ 10 ตู้ โดยมี ฯพณฯ ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานและร่วมเป็นสักขีพยานในการเผาทำลายของกลางครั้งนี้
สำหรับตู้สุกรแช่แข็งทั้ง 161 ตู้ พบว่ามีตู้เน่าทั้งหมด จำนวน 7 ตู้ ซึ่งจะดำเนินการเคลื่อนย้ายมาเผาทำลายก่อนจำนวน 10 ตู้ จากนั้นจะดำเนินการทำลายตู้สุกรแช่แข็งทั้ง 161 ตู้ โดยเริ่มจากเผาทำลาย 10 ตู้ก่อน มีวิธีการทำลายหลักคือการเคลื่อนย้ายไปฝังกลบในจังหวัดสระแก้ว แต่เนื่องจากเป็นช่วงมรสุม อาจจะมีการสลับกับการเผาที่สำนักงานชลประทานที่ 9 จังหวัดชลบุรี ในช่วงที่มีปัญหาฝนตก
พิธีการทำลายของกลางดังกล่าวในครั้งนี้ถือว่าเป็นการทำลายของกลางครั้งประวัติศาสตร์ ที่มีการทำลายสินค้าลักลอบจำนวนมากถึง 4.5 ล้านกิโลกรัม หรือ 4 พันตัน มูลค่ารวมกว่า 450 ล้านบาท