ดัน 'ฟาวิพิราเวียร์' รักษาไข้หวัดใหญ่เข้าบัญชียาหลักฯ ส่วน'โอเซลทามิเวียร์'ผลิตและจำหน่ายไม่เพียงพอเกิดภาวะขาดชั่วคราว รมว.สธ.แนะกลุ่มเสี่ยงฉีดวัคซีนลดป่วยหนัก-ตาย ย้ำป้องกันได้
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 29 ก.ย. 2566 องค์การเภสัชกรรม เสนอดัน 'ฟาวิพิราเวียร์' รักษาไข้หวัดใหญ่เข้าบัญชียาหลักแห่งชาติ โดย อภ.ออกเอกสารด่วนที่สุดเรื่อง เสนอยาฟาวิพิราเวียร์ (Favipiravir) บัญชียาหลักแห่งชาติ ในข้อบ่งใช้การติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ ลงชื่อโดยมิ่งขวัญ สุพรรณพงศ์ ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม
เนื้อหาดังกล่าวระบุว่า สืบเนื่องจากสถานการณ์โรคไข้หวัดใหญ่ ประเทศไทย ในปัจจุบันมีการระบาดเป็นวงกว้างทั้งประเทศ และเพิ่มสูงขึ้นกว่าค่าเฉลี่ยในรอบ 5 ปี และมีแนวโน้มการระบาดอย่างต่อเนื่อง
ส่งผลให้โอเซลทามิเวียร์ (Oseltamivir) ที่เป็นยารักษาไข้หวัดใหญ่ซึ่งจัดอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติและเป็น First line drug ของประเทศที่องค์การเภสัชกรรมผลิตและจำหน่ายไม่เพียงพอเกิดภาวะขาดคราว โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างกระบวนการผลิต
ในการนี้ อภ. ได้มีการผลิตและสำรองรายการยาฟาวิพิราเวียร์ โดยยาดังกล่าวได้ขึ้นทะเบียนตำรับยาในข้อบ่งใช้สำหรับการติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ ดังนั้นเพื่อเป็นทางเลือกของหน่วยบริการในการนำไปใช้รักษาการติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ให้กับผู้ป่วย
อภ. ขอนำเสนอยาฟาวิพิราเวียร์เข้าบัญชียาหลักแห่งชาติ ในข้อบ่งใช้สำหรับการติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณานำเสนอคณะอนุกรรมการพัฒนาบัญชียาหลักแห่งชาติต่อไป
ด้าน กรมการแพทย์ โดย นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ยาทั้งสองชนิด คือ โอเซลทามิเวียร์และฟาวิพิราเวีย สามารถนำมารักษาโรคไข้หวัดใหญ่ได้ โดยได้มีการประชุมผู้เชี่ยวชาญฝ่ายวิชาการของ กรมการแพทย์ เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2566 ที่ผ่านมา มีการพิจารณาถึงแนวทางการรักษาไข้หวัดใหญ่ด้วยฟาวิพิราเวียร์ นอกเหนือจากโอเซลทามิเวียร์ ซึ่งจะมีการเสนอเข้าสู่คณะกรรมการวิชาการของกระทรวงสาธารณสุข ก่อนออกเป็นประกาศแนวทางการรักษาอย่างเป็นทางการอีกครั้ง
“จริงๆ แพทย์ทราบอยู่แล้วว่า ยาฟาวิพิราเวียร์สามารถนำมารักษาไข้หวัดใหญ่ได้ เพียงแต่ก่อนหน้านี้มีการระบาดของโรคโควิด19 จึงมีการนำยาฟาวิฯ มารักษา ทำให้คนเข้าใจว่าคนละโรค แต่จริงๆรักษาได้ โอเซลทามิเวียร์ก็เช่นกัน อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมายาโอเซลทามิเวียร์อยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติอยู่แล้ว เหลือแต่ฟาวิพิราเวียร์ ซึ่งก่อนหน้านี้ฟาวิฯ รักษาฟรี เพราะเอามาใช้โควิด19 แต่เมื่อโรคโควิดไม่ใช่โรคติดต่ออันตรายแล้ว จากนี้ก็จะต้องมีการดำเนินการตามขั้นตอนเพื่อผลักดันเข้าสู่คณะอนุกรรมการพัฒนาบัญชียาหลักแห่งชาติต่อไป” นพ.ธงชัย กล่าว
ขณะที่ นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า สถานการณ์ไข้หวัดใหญ่ ข้อมูลจากกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรคเผยสถานการณ์ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม -16 กันยายน 2566 มีรายงานผู้ป่วย 185,216 ราย อัตราป่วย 279.90 ต่อประชากรแสนคน มีรายงานเสียชีวิต 4 รายในจังหวัดนครราชสีมา 2 ราย สงขลาและตาก จังหวัดละ 1 ราย อัตราป่วยตาย 0.002 สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ชนิด A/H1N1 และ A/H3N2 สัปดาห์นี้รายงานผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
“ตัวเลขการระบาดจะใกล้เคียงกับปี 2562 ก่อนจะมีการระบาดของโรคโควิด เพราะไทยเผชิญโควิดตั้งแต่ต้นปี 2563 ช่วงนั้นเรามีมาตรการป้องกันต่างๆ สวมหน้ากากอนามัยทำให้ได้ประโยชน์ในการป้องกันโรคทางเดินหายใจ แต่ด้วยปัจจุบันสถานการณ์เริ่มผ่อนคลาย ทั่วโลกเดินทางกันมาก แต่หากพิจารณาตัวเลขการระบาดก่อนโควิดกับปีนี้ ถือว่าการระบาด ใกล้เคียงกับปีก่อนโควิด ดังนั้น โรคไข้หวัดใหญ่แม้จะพบมากแต่ไม่ถือว่ารุนแรงเกินจัดการ” นพ.โสภณ กล่าว
ทางด้าน นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงสถานการณ์ของโรคไข้หวัดใหญ่ ตั้งแต่ 1 มกราคม – 19 กันยายน 2566 มีรายงานผู้ป่วย 185,216 ราย เสียชีวิต 4 ราย ผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเด็กเล็กจนถึงเด็กวัยเรียน กลุ่มอายุที่พบมากที่สุด ได้แก่ อายุ 10-14 ปี (18.89%) รองลงมา เด็กแรกเกิด – 4 ปี (17.04%) และอายุ 7-9 ปี (14.91) ตามลำดับ
ทั้งนี้ ประชาชนสามารถป้องกันตนเองไม่ให้ป่วยด้วยโรคไข้หวัดใหญ่ได้ โดยการล้างมือบ่อยๆ ด้วยสบู่และน้ำ หรือเจลล์แอลกอฮอล์ หลีกเลี่ยงการเข้าไปในสถานที่ที่มีผู้คนแออัด หากจำเป็นต้องเข้าไปและสงสัยว่าป่วยด้วยโรคไข้หวัดใหญ่ควรสวมหน้ากากอนามัย เนื่องจากระยะนี้เป็นการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล ติดต่อกันจากการสัมผัสสารคัดหลั่ง น้ำมูก น้ำลาย หรือเสมหะของผู้ป่วย แพร่เชื้อผ่านการไอจามรดกัน หรือได้รับเชื้อจากการสัมผัสสิ่งของเครื่องใช้ที่ปนเปื้อนเชื้อ เช่น แก้วน้ำ ลูกบิดประตู โทรศัพท์ ผ้าเช็ดมือ โดยหลังจากได้รับเชื้อจะมีไข้สูง ไอ ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ อ่อนเพลีย และเจ็บคอ
ภาวะแทรกซ้อนที่พบบ่อย ได้แก่ หลอดลมอักเสบและปอดอักเสบ ในกลุ่มเด็กอาจพบอาการระบบทางเดินอาหารร่วมด้วย เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ท้องร่วง บางรายสามารถหายเองได้ใน 5-7 วัน แต่หากอาการไม่ดีขึ้นภายใน 48 ชั่วโมง ควรรีบพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยรักษาทันที
นพ.ชลน่านกล่าวต่อว่า การฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ยังคงมีความจำเป็นในกลุ่มเสี่ยง โดยเฉพาะประชากร 7 กลุ่ม ได้แก่ หญิงตั้งครรภ์ 4 เดือนขึ้นไป เด็กอายุ 6 เดือน ถึง 2 ปีทุกคน ผู้มีโรคเรื้อรัง ดังนี้ ปอดอุดกั้นเรื้อรัง หอบหืด หัวใจ หลอดเลือดสมอง ไตวาย ผู้ป่วยมะเร็งที่อยู่ระหว่างการได้รับเคมีบำบัด และเบาหวาน ผู้ที่อายุ 65 ปีขึ้นไป โรคธาลัสซีเมียและผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง (รวมผู้ติดเชื้อ HIV ที่มีอาการ) โรคอ้วน (น้ำหนัก> 100 กิโลกรัม หรือ BMI > 35 กิโลกรัมต่อตารางเมตร) และผู้พิการทางสมองที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้ เพื่อป้องกันอาการรุนแรงและลดอัตราการเสียชีวิตจากโรคไข้หวัดใหญ่ โดยสามารถเข้ารับบริการได้ที่สถานบริการสาธารณสุขของรัฐและสถานพยาบาลเอกชนในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติใกล้บ้าน สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วน สปสช. โทร. 1330 หรือสายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422