ผู้เชี่ยวชาญออสเตรเลียชี้คดีกำนันนกเปิดโปงทุจริตวงการตำรวจ คาด รบ.เศรษฐาไม่จริงใจแก้ปัญหา-ปฏิรูป แค่รับปากแก้ปัญหารอเรื่องเงียบจากสังคม
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานข่าวความเห็นจากต่างประเทศ กรณี นายธนัญชัย หมั่นมาก อายุ 45 ปี หรือ "หน่อง ท่าผา" ลูกน้องคนสนิท นายประวีณ จันทร์คล้าย หรือ กำนันนก ใช้อาวุธปืนยิง พ.ต.ต.ศิวกร สายบัว หรือ สว.ศิว สว.ส.ทล.1 กก.2 บก.ทล. เสียชีวิต และ พ.ต.ท.วศิน พันปี รอง ผกก.2 บก.ทล. ได้รับบาดเจ็บ ในพื้นที่ ต.ตาก้อง อ.เมือง จ.นครปฐม
วันที่ 28 ก.ย. นายเคร็ก คีทติ้ง อดีตนักวิเคราะห์อาวุโส อดีตนักการทูตออสเตรเลีย และผู้สังเกตการณ์เหตุการณ์ในประเทศไทย ได้เขียนบทความลงบนสื่อแชนนอลนิวส์เอเชียของสิงคโปร์ระบุว่าเหตุฆาตกรรมนี้เป็นตัวอย่างล่าสุดของปัญหาที่ฝังรากลึกซึ่งส่งผลกระทบต่อตำรวจไทย และทำให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างตำรวจและผู้มีอิทธิพลในประเทศ
นายคีทติ้งกล่าวต่อไปว่าหลังจากเหตุฆาตกรรม นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีไทยได้ให้คำมั่นว่าจะปราบปรามความเป็นมาเฟียที่มีลักษณะแทรกซึม อย่างไรก็ตามการตอบสนองของรัฐบาลจนถึงตอนนี้แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลไทยไม่จริงจังกับการขจัดความผิดทางอาญาของตำรวจ แต่กลับไปมุ่งเน้นที่กลุ่มบุคคลอื่น อาทิแก๊งและนักการเมืองแทน
โดยพรรคเพื่อไทยและพรรคร่วมรัฐบาลที่อยู่ในอำนาจมานานกว่า 9 ปี มีเวลาเหลือเฟือที่จะดำเนินการกับการทุจริตในวงการตำรวจได้ ถ้าหากพวกเขาต้องการ ซึ่งกรณีที่เห็นเด่นชัดก็คือเหตุการณ์ตำรวจฆาตกรรมผู้ต้องสงสัย (กรณี พ.ต.อ.ธิติสรรค์ อุทธนผล หรือผู้กำกับโจ้ใช้ถุงดำคลุมผู้ต้องหา) ก็มีการออกประมวลจริยธรรมของเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ให้ยุ่งเกี่ยวหรือสนับสนุนผู้กระทำผิด ซึ่งปัจจุบันพิสูจน์แล้วว่าไม่ได้ผล
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลพรรคเพื่อไทยในปัจจุบันดูเหมือนจะไปมุ่งเน้นนโยบายเพื่อจะให้ได้แรงสนับสนุนกลับคืนมาหลังจากที่สูญเสียไปเมื่อตอนผิดสัญญาว่าจะไม่ร่วมกับพรรคการเมืองที่ได้รับการหนุนหลังโดยเผด็จการทหารที่รัฐประหารเมื่อปี 2557 อาทินโยบายแจกเงินดิจิทัล 10,000บาท ให้กับผู้มีอายุ 16 ปีขึ้นไป
รัฐบาลได้ระบุอีกว่ามีความจำเป็นต้องพึ่งพาภาคส่วนการท่องเที่ยวเพื่อสร้างรายได้เข้าประเทศคิดเป็นสัดส่วน 20 เปอร์เซ็นต์ของผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติหรือจีดีพี แต่ถ้าหากรัฐบาลล้มเหลวในการจัดการกับปัญหาการทำผิดในแวดวงตำรวจ ก็จะเป็นไปไม่ได้เลยที่จะบรรลุเป้าหมายนี้ เพราะหลายปีที่ผ่านมาตำรวจมีปัญหาถูกตั้งข้อหาว่ากรรโชกนักท่องเที่ยว โดยตอน ก.พ.ที่ผ่านมา รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติกล่าวว่ามีเจ้าหน้าที่ตำรวจ 110 นายต้องสงสัยว่าช่วยเหลือคนร้ายชาวจีนให้อยู่ในประเทศไทยโดยผิดกฎหมายตั้งแต่ปี 2563-2565 และมีรายงานชาวจีนถูกเรียกค่าไถ่เกิดขึ้นบ่อยๆ ล่าสุดก็เมื่อต้นเดือน ก.ย.
รายงานดังกล่าวยังคงเกิดขึ้น และทำลายชื่อเสียงประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับตลาดที่ใหญ่เป็นอันดับสองอย่างประเทศจีน ซึ่งแม้ประเทศไทยได้ยกเลิกข้อกําหนดวีซ่าสําหรับนักท่องเที่ยวชาวจีนโดยหวังว่าจะกระตุ้นการท่องเที่ยวก็ตาม แต่กลับไม่ได้มีการดำเนินการกับการปฏิรูปตำรวจเลย ประเด็นเหล่านี้เป็นปัญหาสืบเนื่องมาจากรัฐบาลที่ผ่านๆมาและพอมีเรื่องเกิดขึ้นมาครั้งหนึ่ง รัฐบาลก็จะส่งเสียงบอกว่าจะจัดการปัญหา จนกว่าเรื่องจะเงียบหายไปจากความสนใจของสังคม แล้วรัฐบาลก็จะปล่อยความสนใจประเด็นปัญหาไป
เรียบเรียงจาก:https://www.channelnewsasia.com/commentary/thailand-srettha-pheu-thai-police-shooting-officer-killing-corruption-3801711