เผยมติคณะกรรมการ ป.ป.ช. ไม่เอกฉันท์ ตีตกข้อกล่าวหา 'เจริญ พยุงวิวัฒนกูล' อดีตผอ. สทช.อุตรดิตถ์ - พวกรวม 3 คน คดีทุจริตกำหนดเงื่อนไขผลงานล็อคสเปคโครงการซ่อมสร้างผิวทางพาราแอสฟัลติกคอนกรีต - เสียงข้างน้อย เห็นควรส่งผู้บังคับบัญชาดำเนินการตามมาตรา 64
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้เผยแพร่มติคณะกรรมการ ป.ป.ช. ตีตกข้อกล่าวหา นายเจริญ พยุงวิวัฒนกูล ผู้อำนวยการสำนักงานทางหลวงชนบทที่ 9 (สทช.ที่ 9 ) (อุตรดิตถ์) กับพวกรวม 3 คน ร่วมกันทุจริตกำหนดเงื่อนไข อันเป็นมาตรฐานในการเสนอราคา (ล็อคสเปค) โครงการซ่อมสร้างผิวทางพาราแอสฟัลติกคอนกรีต สาย อต.4056 แยกทางหลวงหมายเลข 1214 บ้านป่าคาย อ.ทองแสนขัน จ.อุตรดิตถ์ ว่าให้ผู้เสนอราคาต้องมีผลงานขุดกัดลึก 0.30 เมตร โดยมุ่งหมายมิให้มีการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม หลังพิจารณาผลไต่สวนเบื้องต้น ไม่ปรากฎข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานที่ฟังได้ว่าผู้ถูกกล่าวหา กระทำความผิดข้อกล่าวหาไม่มีมูล ให้ข้อกล่าวหาตกไป
อย่างไรก็ดี การออกเสียงลงมติตีตกข้อกล่าวหาคดีนี้ ไม่เอกฉันท์ เนื่องจากกรรมการ ป.ป.ช.ข้างน้อย เห็นว่า มีการกำหนดหลักเกณฑ์การประกวดราคาเกินกว่าที่ทางหลวงชนบทกำหนด เห็นควรให้ส่งเรื่องให้ผู้บังคับบัญชาหรือผู้มีอำนาจแต่งตั้งหรือถอดถอนดำเนินการทางวินัยไปตามหน้าที่และอำนาจ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 มาตรา 64
คดีนี้ สำนักงาน ป.ป.ช.ระบุพฤติการณ์กล่าวหาว่ากระทำความผิดโดยสรุปว่า เมื่อช่วงเดือนเมษายน พ.ศ.2560 สำนักงานทางหลวงชนบทที่ 9 (อุตรดิตถ์) โดยผู้ถูกกล่าวหา ได้ออกประกาศประกวดราคาจ้างเหมาโครงการซ่อมสร้างผิวทางพาราแอสฟัลติกคอนกรีต (โดยวิธี Pavement In Place Recycling) ผิวจราจร PARA AC ขุดกัดลึก 0.30 เมตร สาย อต.4056 แยกทางหลวงหมายเลข 1214 บ้านป่าคาย อ.ทองแสนขัน จ.อุตรดิตถ์ มีการกำหนดคุณสมบัติของผู้เสนอราคาให้ต้องมีผลงานประเภทงานซ่อมสร้างผิวทางพาราแอสฟัลติกคอนกรีต (โดยวิธี Pavement In Place Recycling) ผิวจราจร PARA AC ขุดกัดลึก 0.30 เมตร ซึ่งเป็นผลงานที่ทำกับหน่วยงานรัฐมาก่อน โดยมีเจตนาล็อคสเปค มุ่งหมายมิให้มีการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม
ผลการพิจารณาของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ระบุว่า ช่วงปีงบประมาณ 2560 แขวงทางหลวงชนบทอุตรดิตถ์ ได้ร่วมกับจังหวัดอุตรดิตถ์ในการเขียนแบบแปลน รายการละเอียด ในโครงการซ่อมสร้างผิวทางพาราแอสฟัลติกคอนกรีต (โดยวิธี Pavement In Place Recycling) ผิวจราจร PARA AC เพื่อของบประมาณจากส่วนกลาง ในกิจกรรมพัฒนาเส้นทางสายรองเชื่อมโยงแนวระเบียงเศรษฐกิจ LIMEC จำนวน 15 โครงการ ซึ่งมีประเภทลักษณะที่ต้องขุดกัดลึก 0.30 เมตร อยู่ 7 โครงการ และโครงการซ่อมสร้างผิวทางพาราแอสฟัลติก คอนกรีต (โดยวิธี Pavement In Place Recycling) ผิวจราจร PARA AC สาย อต.4056 แยกทางหลวง หมายเลข 1214 บ้านป่าคาย อ.ทองแสนขัน จ.อุตรดิตถ์ เป็น 1 ใน 7 โครงการ ที่แขวงทางหลวงชนบทอุตรดิตถ์เป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบในเขียนแบบแปลนรายละเอียดกำหนดให้มีการขุดกัดลึกผิวทางเดิมและไหล่ทางเดิม 0.30 เมตร ซึ่งในจำนวน 15 โครงการ มี 2 โครงการที่กำหนดแบบแปลนให้ขุดกัดลึก 0.20 เมตร แต่ภายหลังมีการแก้ไขสัญญาให้เปลี่ยนเป็นขุดกัดลึก 0.30 เมตร ได้แก่ 1.โครงการซ่อมสร้างผิวทางพาราแอสฟัลติกคอนกรีต แยก ทล.1045 บ.ไฮ่ฮ้า ต.งิ้วงาม อ.เมือง จ.อุตรดิตถ์ 2.โครงการซ่อมสร้างผิวทางพาราแอสฟัลติกคอนกรีต แยก ทล.1045 บ.ดอนตาคำ อ.เมือง จ.อุตรดิตถ์
ต่อมาเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2560 กรมทางหลวงชนบท โดยกองแผนงาน กลุ่มยุทธศาสตร์และบริหารงบประมาณ ได้แจ้งมอบหมายหน่วยดำเนินการจัดซื้อจัดจ้าง รายการที่ได้รับจัดสรรงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2560 ของกลุ่มจังหวัด ซึ่งมอบหมายให้สำนักงานทางหลวงชนบทที่ 9 (อุตรดิตถ์) รับผิดชอบ 2 โครงการ ได้แก่ 1.โครงการซ่อมสร้างผิวทางพาราแอสฟัลติกคอนกรีต แยก ทล.17 บ.ขอม บ.หนองไผ่ อ.เมือง จ.อุตรดิตถ์ งบประมาณ 33,515,400 บาท 2.โครงการซ่อมสร้างผิวทางพาราแอสฟัลติกคอนกรีต (โดยวิธี Pavement In Place Recycling) ผิวจราจร PARA AC สาย อต.4056 แยกทางหลวง หมายเลข 1214 บ้านป่าคาย อ.ทองแสนขัน จ.อุตรดิตถ์ งบประมาณ 26,932,000 บาท และมอบหมายให้แขวงทางหลวงชนบทอุตรดิตถ์รับผิดชอบโครงการซ่อมสร้างผิวทางพาราแอสฟัลติกคอนกรีต 11 โครงการ
เมื่อสำนักงานทางหลวงชนบทที่ 9 (อุตรดิตถ์) ได้รับมอบหมายให้ดำเนินโครงการซ่อมสร้าง ผิวทางพาราแอสฟัลติกคอนกรีต ใน 2 โครงการ ข้างต้น สำนักงานทางหลวงชนบทที่ 9 ได้จัดทำรายงานขอจ้างและการจัดทำประกาศพร้อมเอกสารประกวดราคาจ้าง จ้างเหมาโครงการพัฒนาเส้นทางสายรองเชื่อมโยงแนวระเบียงเศรษฐกิจ LIMEC ซ่อมสร้างผิวทางพาราแอสฟัลติกคอนกรีต (โดยวิธี Pavement In Place Recycling) ผิวจราจร PARA AC ขุดกัดลึก 0.30 เมตร สาย อต.4056 แยกทางหลวง หมายเลข 1214 บ้านป่าคาย อ.ทองแสนขัน จ.อุตรดิตถ์ มีงบประมาณดำเนินการ 26,932,000 บาท ด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ ตามบันทึกที่ คค 0717/1851 ลงวันที่ 18 เมษายน 2560 ซึ่งโครงการซ่อมสร้างผิวทาง พาราแอสฟัลติกคอนกรีต (โดยวิธี Pavement In Place Recycling) ผิวจราจร PARA AC ขุดกัดลึก 0.30 เมตร สาย อต.4056 แยกทางหลวง หมายเลข 1214 บ้านป่าคาย อ.ทองแสนขัน จ.อุตรดิตถ์ มีการนำแบบแปลน รายละเอียดโครงการซึ่งแขวงทางหลวงชนบทอุตรดิตถ์เป็นผู้ดำเนินการออกแบบมาคำนวณราคากลางได้เท่ากับงบประมาณ และมีการแต่งตั้งคณะกรรมการจัดทำรายละเอียดคุณลักษณะเฉพาะของพัสดุที่จะจัดหาด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ สำหรับการประกวดราคาจ้าง ตามคำสั่งกรมทางหลวงชนบทที่ สทช.ที่ 9/49/2560 ลงวันที่ 31 มีนาคม 2560 ประกอบด้วย
1. นายศานติ ศรีบุรี ตำแหน่ง วิศวกรโยธาชำนาญการ เป็นประธานกรรมการ
2. นายภุชชงค์ ศรีเรือง ตำแหน่ง นายช่างโยธาชำนาญงาน เป็นกรรมการ
3. นายอรรถนนท์ อุ่นมา ตำแหน่ง นายช่างโยธาชำนาญงาน กรรมการ/เลขานุการ
การดำเนินการดังกล่าวเป็นการปฏิบัติตามประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แนวทางปฏิบัติในการจัดหาพัสดุด้วยวิธีตลาดอิเล็กทรอนิกส์ (e-market) และด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) แต่คณะกรรมการที่ได้รับแต่งตั้งไม่ได้ดำเนินการกำหนดคุณลักษณะ ข้อเท็จจริงปรากฏว่า นายปวเรศ อินใย หัวหน้าเจ้าหน้าที่พัสดุ และนางเรณู บัวมีธูป เจ้าหน้าที่พัสดุ ซึ่งมีชื่อตามคำสั่งกรมทางหลวงชนบทที่ 1565/2559 ลงวันที่ 4 ตุลาคม 2559 เรื่อง แต่งตั้งหัวหน้าเจ้าหน้าที่พัสดุ เจ้าหน้าที่พัสดุและหัวหน้าหน่วยพัสดุ ร่วมกันรับผิดชอบการจัดซื้อจัดจ้างโครงการซ่อมสร้างผิวทางพาราแอสฟัลติกคอนกรีต (โดยวิธี Pavement In Place Recycling) ผิวจราจร PARA AC ขุดกัดลึก 0.30 เมตร สาย อต.4056 แยกทางหลวง หมายเลข 1214 บ้านป่าคาย อ.ทองแสนขัน จ.อุตรดิตถ์ ของสำนักงานทางหลวงชนบทที่ 9 (อุตรดิตถ์) เป็นผู้ที่ได้ดำเนินการร่างประกาศประกวดราคา เพื่อเสนอต่อ นายเจริญ พยุงวิวัฒนกูล ผู้อำนวยการสำนักงานทางหลวงชนบทที่ 9 (อุตรดิตถ์) โดยยึดแบบแปลน รายละเอียดโครงการที่แขวงทางหลวงชนบทอุตรดิตถ์เป็นหน่วยงานผู้ออกแบบ รวมทั้งยึดตามแนวทางการดำเนินงานในร่างประกาศประกวดราคา (ร่าง TOR) สำหรับงานซ่อมสร้างผิวทาง (โดยวิธี Pavement In Place Recycling) ขุดกัดลึก 0.30 เมตร ของสำนักบำรุงทาง กรมทางหลวงชนบท ซึ่งเป็นเอกสารประกอบการประชุมของผู้บริหารกรมทางหลวงชนบทมาประกอบในการพิจารณากำหนดร่างประกาศประกวดราคา (ร่าง TOR) ประกอบกับมีการสอบถามข้อมูลจากเจ้าหน้าที่พัสดุของแขวงทางหลวงชนบทอุตรดิตถ์
สำหรับโครงการซ่อมสร้างผิวทางพาราแอสฟัลติกคอนกรีต (โดยวิธี Pavement In Place Recycling) ผิวจราจร PARA AC ขุดกัดลึก 0.30 เมตร ได้มีการกำหนดคุณสมบัติของผู้เสนอราคาให้ต้องมีผลงานประเภทงานซ่อมสร้างผิวทาง (โดยวิธี Pavement In Place Recycling) ขุดกัดลึก 0.30 เมตร ทุกโครงการ เนื่องจากยึดตามแนวทางการดำเนินงานในการร่างประกาศประกวดราคา (ร่าง TOR) สำหรับงานซ่อมสร้างผิวทาง (โดยวิธี Pavement In Place Recycling) ผิวจราจร PARA AC ขุดกัดลึก 0.30 เมตร ของสำนักบำรุงทางของกรมทางหลวงชนบท ซึ่งนำมาจากเอกสารประกอบการประชุมของผู้บริหารกรมทางหลวงชนบท กำหนดว่าโครงการซ่อมสร้างผิวทางพาราแอสฟัลติกคอนกรีต (โดยวิธี Pavement In Place Recycling) ผิวจราจร PARA AC ขุดกัดลึก 30 เซนติเมตร และมีข้อแนะนำในการคัดเลือกโครงการต้องเป็นสายทางที่มีปริมาณจราจรมากกว่า 1,500 PCU ต่อวัน และมีรถบรรทุกหนักมากกว่า 500 คันต่อวัน มีค่าการแอ่นตัวมากว่า 0.7 มม. ผิวทางเดิมมีความเสียหายมากกว่า 10% โดยการออกแบบให้มีการสำรวจปริมาณจราจรและค่าแอ่นตัวเพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบในการคำนวณและออกแบบโครงสร้างทาง งานจราจรสงเคราะห์ปรับปรุงเครื่องหมายจราจร อุปกรณ์อำนวยความปลอดภัย สัญญาณไฟจราจรให้เพียงพอและสอดคล้องกับรูปแบบที่ปรับปรุงใหม่
โดยในการร่างประกาศประกวดราคา (ร่าง TOR) กำหนดให้มีหลักเกณฑ์ ดังนี้
1. ต้องมีผลงานในการดำเนินงานซ่อมสร้างผิวทางแอสฟัลต์คอนกรีต โดยวิธี Pavement In Place Recycling ขุดกัดลึก 30 เซนติเมตร วงเงินไม่เกิน 50% ของโครงการที่จะประกวดราคา
2. ผู้เสนอราคาต้องเป็นเจ้าของผู้ถือกรรมสิทธิ์ หรือ ผู้ครอบครองสิทธิ์เครื่องจักรสำหรับงานบูรณะทางแบบ Pavement In Place Recycling ที่มีประสิทธิภาพในการขุดกัดชั้นโครงสร้างทางที่มีความลึกไม่น้อยกว่า 30 ซม. และต้องมีชุดเครื่องจักรบดอัด ประกอบด้วย
- รถบดล้อเหล็กสั่นสะเทือน ขนาดไม่น้อยกว่า 25 ตัน จำนวน 1 คัน
- รถบดล้อเหล็กสั่นสะเทือน ขนาดไม่น้อยกว่า 17.50 ตัน จำนวน 1 คัน
ต่อมาเมื่อวันที่ 18 เมษายน 2560 นายเจริญ พยุงวิวัฒนกูล ผู้อำนวยการสำนักงานทางหลวงชนบทที่ 9 (อุตรดิตถ์) ได้พิจารณาร่างประกาศประกวดราคา และเอกสารประกวดราคาจ้าง ที่มีการกำหนดเงื่อนไขคุณสมบัติของผู้เสนอราคาให้ต้องเป็นนิติบุคคลและมีผลงานก่อสร้างประเภทเดียวกันกับงานที่ประกวดราคาจ้างงานประเภทซ่อมสร้างผิวทางพาราแอสฟัลติกคอนกรีต (โดยวิธี Pavement In Place Recycling) ขุดกัดลึก 0.30 เมตร แล้วเห็นชอบตามที่นายปวเรศ อินใย หัวหน้าเจ้าหน้าที่พัสดุ และนางเรณู บัวมีธูป เจ้าหน้าที่พัสดุ ร่วมกันเสนอ และเห็นชอบลงนามในประกาศประกวดราคาและเอกสารประกวดราคาโครงการซ่อมสร้างผิวทางพาราแอสฟัลติกคอนกรีต (โดยวิธี Pavement In Place Recycling) ผิวจราจร PARA AC ขุดกัดลึก 0.30 เมตร สาย อต.4056 แยกทางหลวง หมายเลข 1214 บ้านป่าคาย อ.ทองแสนขัน จ.อุตรดิตถ์ ระยะทางดำเนินการ 5.043 กม. ด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) เลขที่ สทช.ที่ 9 /0302560 ลงวันที่ 18 เมษายน เมื่อถึงกำหนดประกวดราคาปรากฏว่าโครงการดังกล่าวแล้ว มีผู้ประกอบการซื้อเอกสาร จำนวน 29 ราย
ต่อมาเมื่อถึงกำหนดวันยื่นเอกสารการเสนอราคาปรากฏว่ามีผู้ประกอบการยื่นเอกสารเสนอราคา จำนวน 4 ราย ได้แก่
1. ห้างหุ้นส่วนจำกัด สุนิสาจุฬารัตน์การโยธา
2. ห้างหุ้นส่วนจำกัด อุดร ซี เอส พี
3. ห้างหุ้นส่วนจำกัด กิจสินเลิศ
4. บริษัท เจริญสิทธิ์ก่อสร้าง จำกัด
ผลการพิจารณาเอกสารของผู้ยื่นซองเสนอราคาปรากฏว่ามีผู้ประกอบการซึ่งผ่านคุณสมบัติ เข้าเสนอราคา จำนวน 2 ราย ได้แก่ ห้างหุ้นส่วนจำกัด สุนิสาจุฬารัตน์การโยธา เสนอราคา 25,999,000 บาท และห้างหุ้นส่วนจำกัด อุดร ซีเอส พี เสนอราคา 26,930,000 บาท และห้างหุ้นส่วนจำกัด สุนิสาจุฬารัตน์การโยธา เป็นผู้เสนอราคาต่ำสุดและเป็นผู้ชนะการประกวดราคาโครงการดังกล่าว จึงได้เข้าทำสัญญากับสำนักงานแขวงทางหลวงชนบทที่ 9 (อุตรดิตถ์) ในโครงการซ่อมสร้างผิวทางพาราแอสฟัลติกคอนกรีต (โดยวิธี Pavement In Place Recycling) ผิวจราจร PARA AC ขุดกัดลึก 0.30 เมตร สาย อต.4056แยกทางหลวง หมายเลข 1214 บ้านป่าคาย อ.ทองแสนขัน จ.อุตรดิตถ์
คณะกรรมการประกวดราคาจ้างด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) ได้จัดทำรายงานผลการพิจารณาการดำเนินการประกวดราคาจ้างด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) จ้างเหมาโครงการพัฒนาเส้นทางสายรองเชื่อมโยงแนวระเบียงเศรษฐกิจ LIMEC ซ่อมสร้างผิวทางพาราแอสฟัลติกคอนกรีต (โดยวิธี Pavement In Place Recycling) ผิวจราจร PARA AC สาย อต.4056 แยกทางหลวง หมายเลข 1214 บ้านป่าคาย อ.ทองแสนขัน จ.อุตรดิตถ์ โดยได้ต่อรองราคาลงอีก 4,000 บาท จึงมีมติเห็นควรจ้าง ห้างหุ้นส่วนจำกัด สุนิสาจุฬารัตน์การโยธา เป็นผู้ดำเนินการก่อสร้างในราคา 25,995,000 บาท
สำหรับหนังสือรับรองผลงานที่ห้างหุ้นส่วนจำกัด สุนิสาจุฬารัตน์การโยธา ใช้ยื่นประกอบการเสนอราคาเป็นหนังสือรับรองผลงานโครงการซ่อมสร้างผิวทางพาราแอสฟัลติกคอนกรีต (โดยวิธี Pavement In Place Recycling) ขุดกัดลึก 0.30 เมตร สาย อต.2001 แยกทางหลวงหมายเลข 11 บ้านหนองกอก อ.เมือง, อ.ทองแสนขัน จ.อุตรดิตถ์ ตามสัญญาจ้างเลขที่ ขทช.อต./10/2560 ลงวันที่ 23 พฤศจิกายน 2559 วงเงินค่าก่อสร้าง 11,980,000 บาท ซึ่งกรมทางหลวงชนบท โดยแขวงทางหลวงชนบทอุตรดิตถ์ เป็นคู่สัญญา ผู้ว่าจ้าง โดยผลงานโครงการดังกล่าวที่แขวงทางหลวงชนบทอุตรดิตถ์รับผิดชอบและหนังสือรับรองผลงานที่ห้างหุ้นส่วนจำกัด อุดร ซี เอส พี ใช้ยื่นประกอบการเสนอราคาเป็นหนังสือรับรองผลงานโครงการซ่อมสร้างผิวทางพาราแอสฟัลติกคอนกรีต (โดยวิธี Pavement In Place Recycling)ขุดกัดลึก 0.30 เมตร ถนนสาย อตด.1071 แยกทางหลวงหมายเลข 2 บ้านไชยวาน อ.ประจักษ์ศิลปาคมจ.อุดรธานี ตามสัญญาจ้างเลขที่ 83/2559 ลงวันที่ 11 มกราคม 2559 วงเงินค่าก่อสร้าง 23,680,000 บาท ซึ่งกรมทางหลวงชนบท เป็นคู่สัญญาผู้ว่าจ้าง
สำหรับสำนักงานทางหลวงชนบทที่ 9 (อุตรดิตถ์) ยังไม่เคยดำเนินโครงการซ่อมสร้างผิวทางพาราแอสฟัลติกคอนกรีต (โดยวิธี Pavement In Place Recycling) ผิวจราจร PARA AC ขุดกัดลึก 0.30 เมตร แต่แขวงทางหลวงชนบทอุตรดิตถ์ได้ดำเนินโครงการช่วงเวลาก่อนเดือนเมษายน 2560 มีผู้ประกอบการที่ได้เป็นคู่สัญญาและดำเนินการจนส่งมอบงานแล้วเสร็จ 4 ราย ได้แก่ ห้างหุ้นส่วน สุนิสาจุฬารัตน์การโยธาและ ห้างหุ้นส่วนจำกัด นิคมบางระกำก่อสร้าง ห้างหุ้นส่วนจำกัด จ.จักรวาล และห้างหุ้นส่วนจำกัด แอล พีพี
คณะกรรมการ ป.ป.ช.ประชุมพิจารณาแล้ว ลงคะแนนเสียงแยกเป็นสองฝ่าย ดังนี้
ฝ่ายเสียงข้างมาก เห็นชอบตามความเห็นของคณะผู้ไต่สวนเบื้องต้นว่าจากการไต่สวนเบื้องต้น ไม่ปรากฎข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานที่จะฟังได้ว่านายเจริญ พยุงวิวัฒกูล ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 นายปวเรศ อินใย ผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 และนางเรณู บัวมีธูป ผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 ได้กระทำความผิดตามที่กล่าวหา ข้อกล่าวหาไม่มีมูล ให้ข้อกล่าวหาตกไป
ฝ่ายเสียงข้างน้อย เห็นว่าทางหลวงชนบท ที่กำหนดให้ในการประกาศประกวดราคา (TOR) นั้นต้องมีหลักเกณฑ์ จำนวน 2 ข้อ ได้แก่ 1. ต้องมีผลงาน 50% และ 2. ผู้เสนอราคาต้องเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์หรือเป็นผู้ครอบครองเครื่องจักร แต่ว่า ประกาศประกวดราคา (TOR) ข้อ 2.6 เขียนเกินไป ว่า ผู้เสนอราคาต้องเป็นนิติบุคคลและมีผลงานก่อสร้างประเภทเดียวกันกับงานที่ประกวดราคาจ้างงานประเภทงานซ่อมสร้างผิวทางพาราแอสฟัลติกคอนกรีตซึ่งมีอายุไม่เกิน 5 ปี กรมทางหลวง ไม่ได้กำหนดอย่างนี้ กำหนดเพียงว่าต้องมีผลงาน 50% และวงเงินไม่น้อยกว่า 10 ล้านบาท ผู้เสนอราคารายใดมีผลงานเกิน 5 ปี ก็ต้องรับหมด เป็นการกำหนดที่เอื้อประโยชน์ให้แก่ผู้เสนอราคารายใหม่ ส่วนบริษัทรายเก่าที่ดำเนินการก่สร้างมานานก็เสนอราคาไม่ได้ แต่ไปเขียนว่ามีผลงานก่อสร้างซึ่งมีอายุไม่เกิน 3 ปี ทำให้บริษัทที่มีผลงานเกิน 5 ปี เสนอราคาไม่ได้ ก็ตกหมดไม่ผ่าน เห็นว่ามีพฤติการณ์น่าสงสัย ไม่โปร่งใส เพราะงบประมาณ 25 ล้านบาท ราคากลาง 26 ล้านบาท แต่ห้างหุ้นส่วนจำกัดสุนิสาจุฬารัตน์การโยธา ผู้ชนะ เสนอราคา 25,999,000 บาท และกรมทางหลวงชนบท ตอบว่า ก็กำหนดหลักเกณฑ์ไว้ แต่ไม่ได้ระบุว่าจะต้องมีผลงานก่สร้างที่ชัดเจนไว้ ดังนั้น คณะกรรมการร่าง TOR ได้กำหนดเกินกว่าที่กรมทางหลวงชนบท ให้นโยบายไว้ โดยเขียนเกินกว่าหลักเกณฑ์ของกรมทางหลวงชนบท กำหนดไว้ว่าคุณสมบัติผู้เสนอราคา ผลงานก่อสร้าง ซึ่งมีอายุไว้ไม่เกิน 5 ปี ซึ่งไม่มีในหลักเกณฑ์ของกรมทางหลวงชนบทตามประกาศกรมทางหลวงชนบท ข้อ 2.6 จึงให้ส่งเรื่องให้ผู้บังคับบัญชาหรือผู้มีอำนาจแต่งตั้งหรือถอดถอนดำเนินการทางวินัยไปตามหน้าที่และอำนาจ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 มาตรา 64 ต่อไป
ประธานฯ จึงสรุปว่า การลงคะแนนเสียง เพื่อมีมติของที่ประชุมในเรื่องนี้ ต้องถือตามความเห็นของกรรมการ ป.ป.ช. ฝ่ายเสียงข้างมาก จำนวน 4 เสียง ซึ่งเกินกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ ที่เห็นชอบตามความเห็นของคณะผู้ไต่สวนเบื้องต้นว่า จากการไต่สวนเบื้องต้น ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานที่จะฟังได้ว่า นายเจริญ พยุงวิวัฒนกูล ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 นายปวเรศ อินใย ผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 และนางเรณู บัวมีธูป ผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 ได้กระทำความผิดตามที่กล่าวหา
ข้อกล่าวหาไม่มีมูล ให้ข้อกล่าวหาตกไป