ศาลอาญาพิพากษาจำคุก ‘ทนายอานนท์’ 4 ปีไม่รอลงอาญา ฐานดูหมิ่นสถาบันฯ ปรับอีก 20,000 บาทกรณีชุมนุม 14 ต.ค. 63 ขัดพ.ร.ก.ฉุกเฉิน - พ.ร.บ.จราจรทางบก
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 26 กันยายน 2566 ที่ห้องพิจารณา 811 ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก ศาลนัดฟังคำพิพากษาคดีดูหมิ่นสถาบัน หมายเลขดำอ. 2495/2564 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 10 เป็นโจทก์ฟ้องนายอานนท์ นำภา อายุ 39 ปี ทนายความศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เป็นจำเลยในความผิดฐานดูหมิ่น สถาบันเบื้องสูง ร่วมกันมั่วสุมชุมนุม ก่อความวุ่นวายในบ้านเมือง พ.ร.ก.การบริหาราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 พ.ร.บ.จราจรทางบก ฯ
กรณีเมื่อวันที่ 14 ต.ค.63 เวลากลางวัน จำเลยกับพวกได้ร่วมกันจัดกิจกรรมรวมกลุ่มผู้ชุมนุมทางการเมือง กลุ่มราษฎร 2563ที่บริเวณโดยรอบอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ทำให้กระถางต้นไม้รอบอนุสาวรย์ ได้รับความเสียหาย โดยจำเลยใช้เครื่องขยายเสียงประกาศเรียกร้องให้รัฐบาลทำตามข้อเรียกร้อง 3 ข้อ ได้แก่ ให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ลาออก แก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ และปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยบางช่วงบางตอนของการปราศรัย จำเลยได้กล่าว แสดงความอาฆาตมาดร้ายดูหมิ่นสถาบันฯ
เหตุเกิดที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย แขวงบวรนิเวศ เขตพระนคร กทม.
จำเลยให้การปฏิเสธ และได้รับการประกันตัว
โดยวันนี้นายอานนท์ จำเลยเดินทางมาฟังคำพิพากษาพร้อมด้วยภรรยาและลูกชาย ขณะที่มีทีมทนายความและตัวแทนสถานทูตเยอรมนี สวิตเซอร์แลนด์ และสหประชาชาติ พร้อมมวลชนมาให้กำลังใจประมาณ 100 คน
@ปราศรัยหมิ่น คุก 4 ปี
ศาลอาญาพิเคราะห์คำเบิกความและพยานหลักฐานทั้งสองฝ่ายที่นำสืบหักล้างกันแล้ว เห็นว่า ฝ่ายโจทก์มีเจ้าหน้าที่ตำรวจจากสน.สำราญราษฎร์ สน.ชนะสงครามเบิกความสอดคล้องในทำนองเดียวกันว่า วันเกิดเหตุจำเลยกับพวกได้ร่วมกันจัดชุมนุมทางการเมือง โดยจำเลยแถลงข่าวและใช้สื่อโซเชียลชักชวนให้ประชาชนมาร่วมชุมนุมประมาณ 1,000 คน โดยมีข้อเรียกร้อง 3 ข้อให้พล.อ.ประยุทธ จันทร์โอชา ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และปฏิรูประบบสถาบันกษัตริย์ โดยบางช่วงบางตอน จำเลยปราศรัยว่าหากวันนี้มีการสลายการชุมนุมก็ไม่ต้องคิดมาก เพราะเป็นคำสั่งจากเบื้องบนเท่านั้น ซึ่งเป็นการดูหมิ่น แสดงความอาฆาตมาดร้ายสถาบันกษัตริย์ให้ได้รับความเสื่อมเสีย ประชาชนเข้าใจผิดถูกดูหมิ่นเกลียดชัง ทั้งที่จำเลยเป็นนักกฎหมายและทนายความย่อมทราบดีถึงขอบเขตการชุมนุมที่จะไม่กระทบสิทธิเสรีภาพและสร้างความเดือดร้อนแก่ผู้อื่น อีกทั้งการชุมนุมของจำเลย เป็นการฝ่าฝืนพ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ฯ ที่จำเลยอ้างว่าเพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ชุมนุมได้รับความเดือดร้อนนั้นไม่มีน้ำหนักน่าเชื่อถือ หักล้างพยานโจทก์ได้
การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมฐานดูหมิ่นสถาบันเบื้องสูง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จำคุก 4 ปี และฐานกระทำพ.ร.ก.การ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ฯ ปรับ 20,000 บาท ส่วนข้อหาอื่นให้ยก
@ยื่นประกัน 2 แสนบาท
ด้านนายกฤษฎางค์ นุตจรัส ทนายความนายอานนท์ กล่าวว่า ศาลจำคุกนายอานนท์ 4 ปี โดยไม่รอลงอาญา และปรับตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ อีก 2 หมื่นบาท ซึ่งญาติและนายอานนท์แจ้งว่าประสงค์จะยื่นประกันตัวและเตรียมหลักทรัพย์ไว้อัตราสูงสุดจำนวน 2 แสนบาท แต่เรากังวลว่าคดีที่มีอัตราโทษสูง 3 - 4 ปี ศาลชั้นตนอาจจะส่งให้ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งประกัน ทำให้อาจจะใช้ระยะเวลาพิจารณานานหลายวัน จึงอยากจะขอให้ศาลคำนึงถึงสิทธิประกันตัวของจำเลยที่ยังถือว่าเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่จนกว่าจะมีคำพิพากษาถึงที่สุด
น.ส.ณัฐาศิริ เบิร์กแมน นายกสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน กล่าวว่า วันนี้เนื่องจากทางสมาคมได้ติดตามคดีเกี่ยวกับการประกันตัวจำเลยในคดี 112 และคดีอื่นๆและพบว่าจำเลยที่ทีความประสงค์จะขอการประกันตัวเพื่อออกไปสู้คดี ส่วนมากในการขอประกันตัวทางศาลชั้นต้นมีสิทธิ์ที่จะออกคำสั่งอนุญาตได้ แต่ศาลไม่สั่ง และมีการส่งไปให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาทำให้จำเลยจะต้องเข้าไปติดอยู่ในเรือนจำ ซึ่งเป็นการทำให้เขาเสียสิทธิ์เสรีภาพในระหว่างนี้ทั้งที่ ประธานศาลฎีกา ได้มีข้อกำหนดของประธานศาลฎีการะบุว่า ในคดีต่างๆ ถึงแม้ว่าศาลชั้นต้นจะได้มีคำพิพากษาว่าให้จำเลยมีความผิดแล้วแต่ว่าถ้าโทษจำคุกนั้นต่ำกว่า 5 ปี ศาลสามารถให้ประกันตัวได้ในระหว่างจะอุทธรณ์หรือฎีกาต่อไป จึงขอให้ผู้พิพากษาทั่วประเทศนำข้อกำหนดนี้ไปใช้ แต่ทางเราเห็นว่า ข้อกำหนดดังกล่าวไม่มีการนำมาใช้กับคดี 112 ทางสมาคมจึงได้มายื่นหนังสือถึงอธิบดีศาลอาญาในวันนี้ และยื่นหนังสือถึงผู้พิพากษาศาลที่พิจารณาคำร้องขอปล่อยชั่วคราวของนายอานนท์ในวันนี้ด้วย
“ขอให้มีการพิจารณาทันทีโดยไม่ต้องส่งไปที่ศาลอุทธรณ์เพื่อจะได้ไม่ละเมิดสิทธิของทุกคนที่ต้องการประสงค์ต่อสู้คดี” นายกสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน กล่าว
@คนรุ่นใหม่สร้างปรากฎการณ์
ก่อนหน้านี้เมื่อเวลา 09.00 น.ที่ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก ศาลนัดฟังคำพิพากษาคดีดูหมิ่นสถาบัน หมายเลขดำอ. 2495/2564 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 10 เป็นโจทก์ฟ้องนายอานนท์ นำภา อายุ 39 ปี ทนายความศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เป็นจำเลยในความผิดฐานดูหมิ่น สถาบันเบื้องสูง ร่วมกันมั่วสุมชุมนุม ก่อความวุ่นวายในบ้านเมือง พ.ร.ก.การบริหาราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 พ.ร.บ.จราจรทางบก ฯ กรณีเมื่อวันที่ 14 ต.ค.63 จำเลยกับพวกได้ร่วมกันจัดกิจกรรมรวมกลุ่มผู้ชุมนุมทางการเมือง ที่บริเวณโดยรอบอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย โดยบางช่วงบางตอนของการปราศรัย จำเลยได้กล่าว แสดงความอาฆาตมาดร้ายดูหมิ่นสถาบันฯ
นายอานนท์กล่าวว่า ทั้งขบวนคนรุ่นใหม่ได้สร้างปรากฏการณ์ที่เปลี่ยประเทศไป จนไม่สามารถย้อนกลับไปเหมือนเดิมได้แล้ว ในแง่ของความคิดคน ตนมองว่าตอนนี้คนทั้งประเทศเชื่อในสิทธิเสรีภาพ เห็นการเปลี่ยนแปลงประเทศให้เป็นอารยะเห็นได้จากทุกรูปแบบทั้งในสื่อโซเชียล บนท้องถนน ผลการเลือกตั้งที่ผ่านมาก็ชัดเจนแล้ว คนรุ่นใหม่ก็โตมาโดยเชื่อในสิทธิเสรีภาพความเท่าเทียม ตนคิดว่าการชุมนุมในปี 63 ทำให้สังคมเปลี่ยนไปเยอะมากเป็นการต่อสู้ที่คุ้นค่า
เมื่อถามว่าอยากฝากอะไรถึงนักเคลื่อนไหวในตอนนี้ นายอานนท์ กล่าวว่า อยากให้กำลังใจ วันนี้ยังไม่ทราบคำพิพากษา ถ้าออกมาในทางร้ายก็คงติดคุกซึ่งเราก็ต้องสู้ต่อไป อย่างไรก็ตามหากตนต้องถูกขังภายหลังก็ต้องเบิกตัวตนออกมาศาลเพื่อทำหน้าที่ทนายความและจำเลย เพราะตนเป็นทนายความให้กับคดีการเมือง กรณีชุมนุมที่ ห้าแยกลาดพร้าว ปี63 จะทำหน้าที่จากในคุกและนอกคุก ฝากให้กำลังใจขอบคุณคนที่สนับสนุน ไม่ว่าผลจะออกมาเป็นอย่างไร การต่อสู้ยังไม่สิ้นสุด
นายอานนท์กล่าวว่า ตอนนี้กำลังใจยังดี คำพิพากษาวันนี้เป็นเรื่องเมื่อ 14 ต.ค.ซึ่งตนไปปราศรัยปรามไม่ให้ตำรวจเข้ามาสลายการชุมนม การที่วันนี้อาจจะสูญเสียเสรีภาพตามคำพิพากษา อาจจะหลายปี แต่ก็คุ้ม ที่เหตุการณ์ดังกล่าวที่เราเดินจากราชดำเนินไปล้อมทำเนียบไม่เกิดการสูญเสีย เป็นการเสียเสรีภาพโดยส่วนตัวต่อส่วนรวมที่คุ้มค่าอย่างมากด้วยความเต็มใจ
เมื่อถามว่าหากวันนี้ นายอานนท์ต้องเข้าคุก จะมีกลุ่มนักกิจกรรมออกมาเคลื่อนไหวหรือไม่ นายอานนท์กล่าวว่า แน่นอน เพราะการเคลื่อนไหวยังมีเรื่อยๆ มีการผ่อนไปตามสถานการณ์แต่เราจะไม่หยุด การต่อสู้มีเป้าหมายชัดเจนว่าเราต่อสู้เพื่ออะไร
ที่มาภาพปก: อานนท์ นำภา