ดีเอสไอเผยคืบหน้าสอบคดี บ.กำนันนกฮั้วประมูล เรียกพยาน 58 บริษัท ผอ.กองคดีฮั้วฯ แจง มาให้การแค่ 35 บริษัท ยังเหลืออีก 23 บริษัทขอเลื่อนนัดหมายเรียกพยาน และยังไม่ได้ติดต่อมา ยอมรับไม่สามารถเปิดเผยข้อมูลกรณีพยานให้ข้อมูลว่าถูกกำนันนกข่มขู่ได้
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานข่าวกรณีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) โดยกองคดีความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ หรือกองคดีฮั้วประมูลฯ ออกหมายเรียกพยานแก่ 58 บริษัท ให้เข้าปากคำตั้งแต่วันที่ 18-20 ก.ย. เนื่องจากทั้งหมดเคยยื่นซื้อซองใน 2 โครงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ได้แก่ โครงการประกวดราคาจ้างเหมาก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 375 สาย อ.ดอนตูม-ต.ลำลูกบัว (ปีงบประมาณ 2560) และโครงการประกวดราคาจ้างก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 375 สาย ต.ลำลูกบัว-บรรจบทางหลวงหมายเลข 346 (ปีงบประมาณ 2564)
เป็นโครงการเดียวกับบริษัทของ นายประวีณ จันทร์คล้าย หรือ กำนันนก ผู้ต้องหาในคดีสั่งยิงสารวัตรแบงก์ สามารถประมูล e-bidding ชนะไปได้นั้น โดยพนักงานสอบสวนคดีพิเศษพบพฤติการณ์ส่อฮั้วประมูลจากทั้ง 2 โครงการ เนื่องจากทั้ง 58 บริษัทจ่ายค่าธรรมเนียมซื้อซอง แต่ถอนตัวไม่เข้าร่วมในวันประมูล e-bidding ทำให้เป็นเหตุอันน่าสงสัยว่าเป็นการสมยอมราคา โดยกีดกันเพื่อไม่ให้เกิดการแข่งขันเสนอราคาอย่างเป็นธรรม เป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับบริษัทของกำนันนก หรือบริษัททั้งหมดถูกข่มขู่ไม่ให้เข้าร่วมการประมูลโครงการหรือไม่ อีกทั้งเมื่อวันที่ 20 ก.ย.ที่ผ่านมา (วันสุดท้ายของการเรียกสอบปากคำ) ได้มีบริษัทจำนวน 14 แห่งให้ความร่วมมือเข้าให้ปากคำกับพนักงานสอบสวนคดีพิเศษนั้น
ความคืบหน้าเมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 24 ก.ย. 2566 ร.ต.อ.สุรวุฒิ รังไสย์ ผอ.กองคดีฮั้วประมูลฯ กล่าวว่า จากการเรียกสอบปากคำในฐานะพยานแก่บริษัททั้งหมด 58 แห่ง ตลอดทั้ง 3 วัน คือ 18-20 ก.ย. ที่ศูนย์ราชการฯ อาคารเอ ชั้น 7 กองคดีความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พบว่ามีตัวแทนบริษัทเข้าให้ความร่วมมือชี้แจงและยื่นเอกสารพยานหลักฐานต่อพนักงานสอบสวน สำหรับประเด็นการเข้าร่วมจ่ายค่าธรรมเนียมยื่นซื้อซองเสนอราคาใน 2 โครงการ แต่ถอนตัวในวันเปิดซองเสนอราคา หรือวันประมูลโครงการด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) โดยเข้าให้ปากคำเพียง 35 บริษัท ส่วนอีก 23 บริษัทที่เหลือ แบ่งเป็น กลุ่มเลื่อนนัดหมายเรียกพยาน ตั้งแต่วันที่ 22 ก.ย.เป็นต้นไป และกลุ่มที่ไม่ประสานมายังดีเอสไอ
อย่างไรก็ตาม การที่บริษัทรายใดแจ้งขอเลื่อนเข้าพบตามกำหนดนัดหมายเดิมนั้นจะต้องเดินทางมาชี้แจงในภายหลัง แม้ว่าดีเอสไอจะรับเป็นคดีพิเศษหรือไม่ ถ้าหากไม่มาโดยไม่มีเหตุอันควร จะมีโทษจำคุก 1 ปี ส่วนรายละเอียดคำให้การของแต่ละบริษัทว่า "กำนันนก" เป็นผู้มีอิทธิพล มีพฤติการณ์ข่มขู่ หรือมีตัวแทนบริษัทรายใดให้การยอมรับเรื่องการสมยอมราคาหรือไม่ ต้องขอละเว้นการเปิดเผย เพราะเป็นสาระสำคัญสำหรับการสอบสวน แต่ยืนยันว่าดีเอสไออยู่ระหว่างดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ได้ข้อมูลครบถ้วนรอบด้าน ตนได้มีการรวบรวมพยานเอกสารหลักฐานทั้งหมดเสนอต่อ พ.ต.ต.สุริยา สิงหกมล อธิบดีดีเอสไอ เพื่อพิจารณาอนุมัติในการรับเป็นคดีพิเศษ ตามพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ.2547 มาตรา 21 วรรคหนึ่ง (ง) คดีความผิดทางอาญาที่มีผู้ทรงอิทธิพลที่สาคัญเป็นตัวการ ผู้ใช้ หรือผู้สนับสนุนเรียบร้อยแล้ว คาดว่าจะทราบผลอย่างเป็นทางการภายในสัปดาห์ถัดไป
เมื่อถามว่าตามหลักการแล้ว เมื่อมีการรับเป็นคดีพิเศษ ตามมาตรา 21 วรรคหนึ่ง (ง) จะมีขั้นตอนอย่างไรบ้าง ร.ต.อ.สุรวุฒิ อธิบายว่า ตามขั้นตอนแล้วหากมีการรับเป็นคดีพิเศษ อธิบดีดีเอสไอจะต้องมีการลงนามเซ็นคำสั่งแต่งตั้งคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ และออกเลขคดีพิเศษ แต่ที่สำคัญเนื่องจากหากคดีนี้ถูกรับเป็นคดีพิเศษและยกระดับเป็นคดีที่มีผู้อิทธิพลเป็นตัวการตามมาตรา 21 วรรคหนึ่ง (ง) ดังนั้น จะต้องมีพนักงานอัยการเข้าร่วมในขั้นตอนตั้งแต่เริ่มการสอบสวนจนเสร็จสิ้นคดี และตนจะต้องทำหนังสือแจ้งเรียนไปยังอัยการสูงสุด อัยการจะมีขั้นตอนในส่วนของหน่วยงานเพื่อจัดเตรียมพนักงานอัยการสำหรับดำเนินการร่วมกัน รวมถึงประเด็นการสอบสวนต่างๆ ด้วย จากนั้นจึงจะเริ่มมีการประชุมหารือเพื่อกำหนดทิศทางร่วมกันว่าจะดำเนินการสืบสวนสอบสวนอย่างไรบ้าง แต่ระหว่างนี้ดีเอสไอก็มีหน้าที่เตรียมข้อมูลและพยานหลักฐานต่างๆ ไว้ก่อน
สำนักข่าวอิศรารายงานเพิ่มเติมว่าสำหรับรายชื่อบริษัทที่เดินทางเข้าให้ปากคำกับพนักงานสอบสวนในฐานะพยาน ประกอบด้วย 1.โครงการประกวดราคาจ้างเหมาทำการก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 375 สาย อ.ดอนตูม-ต.ลำลูกบัว โดยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-bidding (วงเงินงบประมาณปี 2560) ได้แก่ บริษัท ดนุสิริกำพลการโยธา จำกัด, หจก. เค.อี.ซี.(1993), บริษัท เอส.โอ.เอ็น.เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด, บริษัท พลพรรธน จำกัด, บริษัท ส.สุคนธชาติ จำกัด, ห้างหุ้นส่วนจำกัด น้องเล็กสถาปัตย์, บริษัท ไทยวัฒน์วิศวการทาง จำกัด, บริษัท ท่าราบก่อสร้าง จำกัด, บริษัท โอ,เอ็น. คอนสตรัคชั่น จำกัด, บริษัท กษิดิศเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด, บริษัท เจริญกิจ ซี.เค จำกัด, ห้างหุ้นส่วนจำกัด กิจสินเลิศ, หจก. ว.ประยูรก่อสร้าง(1984), บริษัท พี เอส ดี คอนสตรัคชั่น 2011 จำกัด, บริษัท ธาราวัญ คอนสตรัคชั่น จำกัด, บริษัท ประยูรชัย (1984) จำกัด, ห้างหุ้นส่วนจำกัด สุวรรณกิจกำแพงก่อสร้าง, ห้างหุ้นส่วนจำกัด พี.ที.ที., ห้างหุ้นส่วนจำกัดวัชรขจร, ห้างหุ้นส่วนจำกัด กิจอนันต์ตะพานหิน, บริษัท โอเว้น คอนสตรัคชั่น จำกัด และ หจก. น้องเล็ก สถาปัตย์
2.โครงการประกวดราคาจ้างก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 375 สาย ต.ลำลูกบัว-บรรจบทางหลวงหมายเลข 346 (วงเงินงบประมาณปี 2564) ได้แก่ ห้างหุ้นส่วนจำกัด ไทยเจริญศรีสะเกษ, ห้างหุ้นส่วนจำกัด อึ้งแซเฮง, บริษัท ศิริไพบูลย์ พัฒนาการ จำกัด, บริษัท สินอุดมสุรินทร์ (1990) จำกัด, บริษัท ท่าราบก่อสร้าง จำกัด, บริษัท พะเยาใบทอง จำกัด, บริษัท ท่ามะกาแอสฟัลท์ จำกัด, ห้างหุ้นส่วนจำกัด สุวรรณกิจกำแพงก่อสร้าง, บริษัท โรจนากรพาณิช (1981) จำกัด, บริษัท เอส.โอ.เอ็น.เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด, บริษัท บุญสหะการสร้าง จำกัด, ห้างหุ้นส่วนจำกัด น้องเล็กสถาปัตย์, ห้างหุ้นส่วนจำกัด ประโยชน์การโยธา, บริษัท กรีนไลท์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด, บริษัท เทิดไท แอนด์ โค จำกัด, บริษัท พรรณีวรกิจก่อสร้างและขนส่ง จำกัด, บริษัท ธาราวัญ คอนสตรัคชั่น จำกัด, บริษัท โกศลสถาปัตย์ จำกัด, ห้างหุ้นส่วนจำกัด พิษณุดีพร้อม, บริษัท แสงชัยโชค จำกัด, ห้างหุ้นส่วนจำกัด เพชรสมวงศ์การโยธา, บริษัท สมบูรณ์สุข จำกัด และบริษัท วนิชชัยก่อสร้าง (1979) จำกัด.