สำนักงาน ป.ป.ช. อุบลราชธานี แถลงผลคดีกล่าวหา 'สาวิตรี สิทธิธรรม' อดีตนายกเทศมนตรีตำบลอุบล -พวก ปกปิด/ปลอมแปลงประกาศจัดซื้อรถตักหน้าขุดหลังด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์เป็นเหตุให้ราชการได้รับความเสียหาย ล่าสุด ศาลอาญาคดีทุจริตประพฤติมิชอบภาค 3 พิพากษาลงโทษจำคุกคนละ 6 เดือน แต่ได้รอลงอาญา ปรับอีก 3 หมื่น หลังรับสารภาพ
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ สำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดอุบลราชธานี เผยแพร่ความคืบหน้าผลคดีกล่าวหา นางสาวสาวิตรี สิทธิธรรม เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีตำบลอุบล อำเภอเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี กับพวก กรณีปกปิดและปลอมแปลงประกาศจัดซื้อรถตักหน้าขุดหลังด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ เป็นเหตุให้เทศบาลตำบลอุบล ได้รับความเสียหาย
ล่าสุด ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 3 มีคำพิพากษาลงโทษจำคุก นางสาวสาวิตรี สิทธิธรรม และพวกรวม 3 ราย ในคดีนี้ คนละ 1 ปี และปรับคนละ 60,000 บาท ให้การรับสารภาพ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงโทษจำคุกคนละ 6 เดือน และปรับคนละ 30,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้คนละ 2 ปี
สำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดอุบลราชธานี สรุปข้อกล่าวหาคดีนี้ ว่าเป็นกรณีร่วมกันกระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ กรณีปกปิดประกาศการจัดซื้อรถตักหน้าขุดหลังด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ เป็นเหตุให้รัฐเทศบาลตำบลอุบล และประชาชนทั่วไปได้รับความเสียหาย
จำเลยที่ 1 เจ้าหน้าที่พัสดุ ได้ดำเนินการแทนคณะกรรมการดำเนินการประมูลรถตักหน้าขุดหลัง ชนิดขับเคลื่อน 4 ล้อ ขนาดไม่น้อยกว่า 90 HP โดยไม่ได้เผยแพร่ประกาศเชิญชวน ลงประกาศในเว็บไซต์ www.gprocurement.go.th ตามระเบียบของประกาศ แต่กลับปลอมแปลงเอกสารว่าได้ลงแจ้งในเว็บไซต์ ของกรมบัญชีกลาง และของหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งยังได้นำเอกสารที่ปลอมแปลงดังกล่าวไปใช้ต่อไปอีก
โดยจำเลยที่ 2 หัวหน้าเจ้าหน้าที่พัสดุ ได้ร่วมกันปกปิดประกาศการจัดซื้อรถตักหน้าขุดหลังด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ ไม่ประกาศลงในระบบ e-GP ไม่ตรวจสอบตามอำนาจหน้าที่
จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นนายกเทศมนตรี เมื่อทราบเรื่องกลับไม่คัดค้านหรือยับยั้ง ปล่อยให้มีการประมูลต่อไป
ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 3 มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 17 มกราคม 2566 ว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 (เดิม), 162(1)(4) (เดิม), 265 (เดิม), 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 265 (เดิม) พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 172
จำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฏหมายอาญา มาตรา 157 , 162(1)(4) (เดิม) พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 172
จำเลยที่ 3 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 (เดิม) พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 172
การกระทำของจำเลยทั้งสามเป็นความผิดกรรมเดียว ผิดต่อกฎหมายหลายบทใช้ลงโทษบทหนัก ตาม พ.ร.บ. ประกอบธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 172
พิพากษา จำคุกคนละ 1 ปี และปรับคนละ 60,000 บาท
จำเลยทั้งสามให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษ ให้กึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78
คงโทษจำคุกคนละ 6 เดือน และปรับคนละ 30,000 บาท
โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้คนละ 2 ปี
อย่างไรก็ดี คดีนี้ยังไม่สิ้นสุด จำเลยทั้งหมด มีสิทธิต่อสู้คดีเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ในชั้นศาลที่สูงกว่านี้ได้อีก
อนึ่ง ก่อนหน้านี้ วันที่ 19 ก.ย.2561 ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีคำพิพากษา นางสาวสาวิตรี สิทธิธรรม หรือจึงวิวัฒนาภรณ์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีตำบลอุบล อ.เมืองอุบลราชธานี จ.อุบลราชธานี จงใจไม่ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ภายในเวลาที่กฎหมายกำหนด 3 กรณี ให้พ้นจากตำแหน่ง ห้ามมิให้ ดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือดำรงตำแหน่งใดในพรรคการเมืองเป็นเวลาห้าปีนับแต่วันที่ 19 ก.ย. 2561 คงจำคุก 3 เดือน และปรับ 12,000 บาท โทษจำคุก ให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 1 ปี ด้วย