‘ศาลปกครองกลาง’ สั่งเพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้าง ‘สะพานข้ามคลองมหาสวัสดิ์’ โดยให้มีผลย้อนหลังนับตั้งแต่วันออกคำสั่ง หลังพบไม่มีการจัดทำรายงาน EIA
.................................
เมื่อวันที่ 19 ก.ย. ศาลปกครองกลางนัดอ่านคำพิพากษา ในคดีหมายเลขดำที่ 1574/2563 ระหว่าง สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ที่ 1 กับพวกรวม 42 คน (ผู้ฟ้องคดี) กับ ผู้อำนวยการสำนักการโยธา กรุงเทพมหานคร ที่ 1 กับพวกรวม 2 คน (ผู้ถูกฟ้องคดี) คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
โดยศาลปกครองกลางพิพากษาเพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้างอาคารหรือสะพาน ค.ส.ล. ข้ามคลองมหาสวัสดิ์ เลขที่ 253/2561 ลงวันที่ 31 ต.ค.2561 และเลขที่ 048/2561 ลงวันที่ 12 ก.ย.2561 และใบอนุญาตให้ปลูกสร้างสิ่งล่วงล้ำลำน้ำ เลขที่ 001/2562 ลงวันที่ 7 พ.ย.2561 โดยให้มีผลย้อนหลังไปนับแต่วันออกคำสั่งดังกล่าว
เนื่องจากศาลฯ พิเคราะห์แล้วเห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังตามคำให้การของอธิบดีกรมศิลปากรได้ว่า คลองมหาสวัสดิ์เป็นโบราณสถานตามกฎหมาย การก่อสร้างสะพานข้ามคลองที่พิพาทจึงถือเป็นการก่อสร้างทางหรือถนนเพื่อประโยชน์ในการจราจรสาธารณะทางบกใกล้โบราณสถาน ตามกฎหมายว่าด้วยโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ในระยะทาง 1 กิโลเมตร ซึ่งตามมาตรา 48 แห่ง พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 ประกอบข้อ 3 ของประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ต้องจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA)
ดังนั้น การที่ผู้อำนวยการสำนักการโยธา กรุงเทพมหานคร ออกใบอนุญาตก่อสร้างอาคารหรือสะพาน ค.ส.ล. ข้ามคลองมหาสวัสดิ์ และนายกองค์การบริหารส่วนตำบลมหาสวัสดิ์ออกใบอนุญาตให้ปลูกสร้างสิ่งล่วงล้ำลำน้ำ โดยที่ยังไม่ได้รับแจ้งผลการพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมเกี่ยวกับการดำเนินโครงการก่อสร้างสะพานดังกล่าว ย่อมเป็นการสั่งอนุญาตโดยขัดต่อ พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535
อีกทั้งเป็นการอนุญาต โดยที่บริษัทผู้ขออนุญาตยังมิได้รับอนุญาตหรือความยินยอมตามกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องโดยถูกต้องครบถ้วน ใบอนุญาตทั้งสามจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย
“…โดยที่การออกใบอนุญาตก่อสร้างอาคารหรือสะพาน ค.ส.ล. เลขที่ 253/2561 ลงวันที่ 31 ต.ค.2561 และใบอนุญาตก่อสร้างอาคารหรือสะพาน เลขที่ 148/2561 ลงวันที่ 12 ก.ย.2561 ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ตามลำดับ ที่ได้กระทำในฐานะเจ้าพนักงานท้องถิ่น โดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 นั้นเป็นการกระทำทางปกครอง ซึ่งนอกจากจะต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติดังกล่าวที่เป็นแหล่งที่มาของอำนาจนั้นเองแล้ว กรณียังจะต้องไม่ขัดต่อกฎหมายอื่นด้วย
เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังตามคำให้การของผู้ร้องสอดได้ว่า คลองมหาสวัสดิ์เป็นโบราณสถานตามกฎหมาย ประกอบกับการที่บริษัท เอเชี่ยน พร็อพเพอร์ตี้ (กรุงเทพ) จำกัด ยื่นคำขออนุญาตก่อสร้างสะพาน ค.ส.ล. ข้ามคลองมหาสวัสดิ์ โดยเชื่อมโฉนดที่ดิน เลขที่ 115178 และเลขที่ 115179 แขวงตลิ่งชัน เขตตลิ่งชัน กรุงเทพมหานครกับโฉนดที่ดิน เลขที่ 842 อำเภอ (บางใหญ่) บางกรวย จังหวัดนนทบุรี เพื่อใช้เป็นทางสัญจรเชื่อมกับซอยชัยพฤกษ์ 33 แขวงตลิ่งชัน เขตตลิ่งชัน กรุงเทพมหานคร ที่เป็นถนนสาธารณะ
และวันที่ 24 ก.ค.25623 ได้จดทะเบียนโอนที่ดินตามโฉนดที่ดิน เลขที่ 115178 และเลขที่ 115179 แขวงตลิ่งชัน เขตตลิ่งชัน กรุงเทพมหานคร ซึ่งเชื่อมติดกับถนนซอยชัยพฤกษ์ 33 ให้เป็นที่สาธารณประโยชน์แล้วนั้น เป็นการก่อสร้างทางหรือถนนเพื่อประโยชน์ในการจราจรสาธารณะทางบกใกล้โบราณสถานตามกฎหมายว่าด้วยโบราณสถานโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ในระยะทาง 1 กิโลเมตร
ซึ่งตามมาตรา 48 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 ประกอบข้อ 3ของประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดโครงการ กิจการหรือการดำเนินการ ซึ่งต้องจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม และหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ตามเอกสารท้ายประกาศ 4 ลำดับที่ 20.7
กำหนดให้บริษัท เอเชี่ยน พร็อพเพอร์ตี้ (กรุงเทพ) จำกัด ในฐานะผู้ขออนุญาตก่อสร้างสะพาน ค.ส.ล. ข้ามคลองมหาสวัสดิ์ ต้องจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมประกอบการขออนุญาตด้วย
ประกอบกับมาตรา 50 วรรคหนึ่งแห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว บัญญัติว่า ในกรณีที่โครงการหรือกิจการหรือการดำเนินการที่ต้องจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมตามมาตรา 48 เป็นโครงการหรือกิจการหรือการดำเนินการที่จะต้องได้รับอนุญาตตามกฎหมายก่อนเริ่มการก่อสร้างหรือดำเนินการ ให้ผู้ดำเนินการหรือผู้ขออนุญาตเสนอรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมต่อเจ้าหน้าที่ ซึ่งมีอำนาจอนุญาตตามกฎหมายนั้น และต่อสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหรือหน่วยงานของรัฐ ตามที่คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่แทน
และวรรคสอง บัญญัติว่า ให้เจ้าหน้าที่ซึ่งมีอำนาจอนุญาตตามกฎหมายรอการสั่งอนุญาตสำหรับโครงการหรือกิจการหรือการดำเนินการตามวรรคหนึ่งไว้ จนกว่ารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมจะได้รับความเห็นชอบหรือถือว่าได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการผู้ชำนาญการ และได้รับหนังสือแจ้งผลการพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมดังกล่าว จากสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหรือหน่วยงานของรัฐตามที่คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าแทน
เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า ยังมิได้มีการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมเกี่ยวกับการดำเนินโครงการก่อสร้างสะพานดังกล่าวแต่อย่างใด ซึ่งนอกจากจะมีผลต่อคลองมหาสวัสดิ์แล้ว ยังมีผลต่อการสัญจรและอาชีพของประชาชนที่ต้องอาศัยคลองดังกล่าวด้วย เจ้าหน้าที่ซึ่งมีอำนาจอนุญาตตามกฎหมายสำหรับโครงการดังกล่าว จึงยังไม่อาจสั่งอนุญาตได้
รวมทั้งการอนุญาตให้ทำการก่อสร้างสะพานพิพาทของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคารและการอนุญาตของเจ้าหน้าที่อื่นที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ การอนุญาตให้ปลูกสร้างอาคารภายในบริเวณโบราณสถานของอธิบดีกรมศิลปากรตามกฎหมายว่าด้วยโบราณสถาน โบราณวัตถ ศิลปวัตถุและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ การอนุญาตให้ใช้ที่ราชพัสดุของอธิบดีกรมธนารักษ์หรือผู้ที่อธิบดีกรมธนารักษ์มอบหมายตามกฎหมายว่าด้วยที่ราชพัสดุ
การอนุญาตให้ปลูกสร้างสิ่งล่วงล้ำลำน้ำของเจ้าท่าตามกฎหมายว่าด้วยการเดินเรือในน่านน้ำไทย หรือการให้ความยินยอมของกรมชลประทานในฐานะผู้ครอบครอง ดูแล และใช้ประโยชน์คลองมหาสวัสดิ์ ซึ่งยังไม่อาจใช้อำนาจดังกล่าวข้างต้นได้เช่นกัน
ดังนั้น การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ออกใบอนุญาตก่อสร้างอาคารหรือสะพาน ค.ส.ล. เลขที่ 253/2561 ลงวันที่ 31 ต.ค.2561 การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ออกใบอนุญาตก่อสร้างอาคารหรือสะพาน เลขที่ 148/2561 ลงวันที่ 12 ก.ย.2561 และใบอนุญาตให้ปลูกสร้างสิ่งล่วงล้ำลำน้ำ เลขที่ 001/2562 ลงวันที่ 7 พ.ย.2561 ตามลำดับ
โดยที่ยังไม่ได้รับแจ้งผลการพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่ง แวดล้อมเกี่ยวกับการดำเนินโครงการก่อสร้างสะพานดังกล่าว ย่อมเป็นการสั่งอนุญาตโดยขัดต่อพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 อีกทั้งเป็นการอนุญาตโดยที่บริษัทผู้ขออนุญาตยังมิได้รับอนุญาตหรือความยินยอมตามกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องดังกล่าวโดยถูกต้องครบถ้วน ใบอนุญาตทั้งสามจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย” คำพิพากษาศาลปกครอง คดีหมายเลขดำที่ 1574/2563 คดีหมายเลขแดงที่ 1699/2566 ลงวันที่ 19 ก.ย.2566 ระบุ
สำหรับคดีนี้ผู้ฟ้องคดี ฟ้องว่า ผู้อำนวยการสำนักการโยธา กรุงเทพมหานคร ที่ 1 กับพวกรวม 2 คน กระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย กรณีมีคำสั่งที่ 253/2561 ลงวันที่ 31 ต.ค. 2561, 48/2561 ลงวันที่ 12 ก.ย. 2561 และ 1/2562 ลงวันที่ 7 พ.ย. 2561 อนุญาตก่อสร้างอาคารหรือสะพาน และอนุญาตให้ปลูกสร้างสิ่งล่วงล้ำลำน้ำ ในโครงการก่อสร้างสะพานข้ามคลองมหาสวัสดิ์ ซึ่งผู้ฟ้องคดีเห็นว่าไม่ชอบด้วยกฎหมาย และทำให้ผู้ฟ้องคดีทั้ง 42 คนได้รับความเดือดร้อนเสียหาย จึงนำคดีมาฟ้อง