สมาคมนักข่าวจัดเสวนาปฏิรูปตำรวจ ผู้เข้าร่วมชี้ต้องแก้โครงสร้างองค์กร-กฎหมาย ปรับความคิดใหม่-ไม่คิดแบบทหาร-ให้ความสำคัญกับประชาชน จึงจะสำเร็จ
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่าเมื่อวันที่ 17 ก.ย. 2566 สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยจัดกิจกรรมราชดำเนินเสวนา หัวข้อ 'ปฏิรูปตำรวจ' กู้วิกฤตศรัทธาหรือดิ่งเหว? ณ ที่ทำการชั่วคราวสมาคมนักข่าวฯ อาคารบางชื่อจังชั่น (ตึกแดง) ถนนกำแพงเพชร 2
ศาสตราจารย์พิเศษ วิชา มหาคุณ
ศาสตราจารย์พิเศษ วิชา มหาคุณ อดีตกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ อธิบายลักษณะขององค์กรตำรวจไทยในปัจจุบันไว้ ดังนี้
1. องค์กรตำรวจเป็นองค์กรใหญ่มีคนจำนวนมาก เป็นองค์กรที่รวมศูนย์ไว้ส่วนกลางเหมือนระบบราชการไทยทั่วไป ที่ผบ.ตร.กุมอำนาจในการดูแลทุกข์สุขของประชาชนทั่วประเทศ ซึ่งผบ.ตร.มีคนเดียวแต่ประชาชนมีหลายล้านและตำรวจก็มีจำนวนหลักแสน
2. เป็นองค์กรแห่งอำนาจ ที่มีอำนาจในการจับกุมควบคุมตัว ทำให้คนสิ้นอิสรภาพ หรือหลุดจากการถูกลงโทษก็ได้ มีอำนาจชี้เป็นชี้ตายได้ อีกทั้งยังเป็นระบบอุปถัมภ์ ถ้ามีการซื้อขายตำแหน่ง หรือส่วย หรือถูกครอบงำโดยผลประโยชน์จากภายนอก ซึ่งไม่ใช่เรื่องของเงินเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีเรื่องของการพึ่งพาอำนาจอีกด้วย
3. ระบบปกครองส่วนท้องถิ่นของไทยขึ้นอยู่กับคนไม่กี่คนจึงทำให้การจัดซื้อจัดจ้างมีการฮั้วกันได้ง่าย อีกทั้งยังมีระบบรัฐซ้อนรัฐ
"ระบบรัฐซ้อนรัฐ คือระบบที่รัฐเป็นไปตามกฎหมายกับระบบใต้ดิน (deep state) ระบบรัฐซ้อนรัฐไม่ได้อยู่แค่ในอบต. อบจ. แต่มีถึงในกระทรวง กำนันนกเป็นแค่กรณีตัวอย่าง โลกเปลี่ยนแปลงไปแล้วทำไมเราถึงยังอยู่ภายใต้อำนาจขององค์กรใต้ดิน" ศาสตราจารย์พิเศษ วิชา กล่าว
ศาสตราจารย์พิเศษ วิชา กล่าวต่อว่าการปฏิรูปตำรวจต้องทำดังนี้
1. ลดองค์กรที่มีขนาดใหญ่ที่รวมศูนย์อำนาจไว้ ซึ่งการรวมศูนย์อำนาจไม่มีประสิทธิภาพในการจัดการและดำเนินการต่าง ๆ
2. ใช้ผู้บริหารที่มีความเชี่ยวชาญ
3. ฝึกอบรมที่ต้องเปลี่ยนจากการสถาปนาอำนาจ เป็นการอบรมอยู่ร่วมกับชุมชน หรือจิตวิทยากับชุมชน
4. ถือหลักป้องกันอาชญากรรมเป็นเรื่องใหญ่ ไม่ใช่การป้องปราบ
"จะเรียกว่าพัฒนาหรือปฏิรูปอย่างไรก็แล้วแต่ แต่ตำรวจควรเป็นตำรวจของประชาชน ไม่ใช่ตำรวจของนาย ต้องสลายองค์กรของอำนาจเป็นองค์กรที่ร่วมมือกับชุมชน งานของตำรวจต้องใกล้ชิดกับประชาชน ต้องทำให้ประชาชนอุ่นใจ โดยเฉพาะในเรื่องของความปลอดภัย ความมีสันติสุข" ศาสตราจารย์พิเศษ วิชา กล่าว
นายมานะ นิมิตรมงคล
นายมานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) กล่าวว่า กรณีกำนันนกเป็นเหตุการณ์ที่ชั่วร้าย เต็มไปด้วยการทุจริต ขาดธรรมาภิบาล ไร้ความรับผิดชอบ ทำให้ข้าราชการที่ไม่ดีต้องไปก้มหัวให้ผู้มีอิทธิพล ส่วนข้าราชการน้ำดีถูกกดขี่ คนไทยต้องพูดเรื่องนี้ให้ชัดเจน ถ้าไม่ทำสังคมจะไม่เชื่อมั่นกระบวนการยุติธรรมของประเทศ
จากผลโพลโดยองค์กรต่าง ๆ พบว่าองค์กรตำรวจเป็นองค์กรที่ถูกร้องเรียนสูงเป็นอันดับ 1 หรือ 2 เสมอ สะท้อนให้เห็นว่าประชาชนไม่เชื่อมั่นในองค์กรตำรวจ
กรณีของกำนันนก สารวัตรซัว หรือจีนสีเทา ทำให้เห็นท่าทีของผบ.ตร.ว่ายอมรับและให้ทีมงานสอบสวนเรื่องที่เกิดขึ้น ถ้าตำรวจยอมให้เรื่องของกำนันนกเป็นเพียงไฟไหม้ฟางก็เป็นความอัปยศของตำรวจ
"วันนี้สิ่งที่ควรปฏิรูปคือการเลิกงุบงิบในรัฐสภา แต่ต้องพูดออกมาให้ประชาชนรู้ ประชาชนต้องการตำรวจไม่ตบทรัพย์ ไม่ขอค่าดำเนินการดำเนินคดี ส่วนองค์กรตำรวจควรให้ความสำคัญกับตำรวจระดับจังหวัดที่อยู่ใกล้กับประชาชน อีกทั้งการแก้ปัญหาตั๋วช้าง แก้ปัญหาซื้อขายตำแหน่ง จะนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลง" นายมานะ กล่าว
พ.ต.อ.วิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร
พ.ต.อ.วิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร เลขาธิการสถาบันเพื่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม กล่าวว่า เรื่องกำนันนกสะท้อนหลายมิติ เช่น ปัญหาตำรวจ ปัญหาสอบสวนคดีอาญา เป็นต้น ก่อนจะแก้ปัญหาต้องรู้สาเหตุก่อน ซึ่งการจะแก้ปัญหาตำรวจไม่ใช่เรื่องของบุคคลแต่เป็นเรื่องของโครงสร้างองค์กร
ทั้งนี้กฎหมายหลักในการรักษาความสงบ คือ กฎหมายป.วิอาญา ซึ่งกระทรวงมหาดไทยเป็นผู้มีอำนาจหลัก ในสมัยก่อนที่ตำรวจอยู่ภายใต้กระทรวงมหาดไทยไม่ค่อยได้ยินเรื่องการซื้อขายตำแหน่ง แต่เมื่อแยกตัวออกมาก็ได้ยินเรื่องซื้อขายตำแหน่งมากขึ้น ปัญหาอยู่ที่เมื่อแยกตำรวจออกจากกระทรวงมหาดไทย
"ทุกวันนี้ปัญหาอาชญากรรม มีมากกว่าเดิม 100 เท่า ปัญหาที่ประชาชนไปร้องทุกข์กับตำรวจเป็น 100 คดี แต่มีดำเนินคดีจริงแค่ 5 คดี ถ้าเป็นข่าวจึงจะดำเนินการ ประชาชนจึงไปหา กัน จอมพลัง สายไหมต้องรอด เป็นต้น หรือถ้าเป็นข่าวต้องเป็นข่าวดัง เช่น ไปออกรายการโหนกระแส เป็นต้น ซึ่งโครงสร้างเหล่านี้ผิด ตำรวจประเทศเราผิดรูปตั้งแต่แยกออกจากกระทรวงมหาดไทย"
"เมื่อมองย้อนไปก็จะพบว่าตำรวจมีปัญหาในยุคเผด็จการมาตลอด อีกทั้งประเทศไทยมีปัญหา คือ คนชั่วจริง ๆ ไม่ติดคุก คนจนติดคุก สาเหตุคือแยกตำรวยออกจากกระทรวงมหาดไทย ทำให้มีอำนาจแต่งตั้งกันเอง เมื่อออกมาก็แต่งตั้งนายพลตำรวจ ทั้งที่ประเทศอื่นไม่มี นายพลตำรวจเป็นปัญหาของการส่งส่วย ซึ่งวันประชุมประจำเดือนเป็นวันส่งส่วย" พ.ต.อ.วิรุตม์ กล่าว
พ.ต.อ.วิรุตม์ กล่าวต่อว่า วิธีแก้ปัญหาของตำรวจที่ยั่งยืน มีดังนี้
1. ต้องเข้าใจว่าคำว่า ตำรวจ ไม่ได้หมายถึงตำรวจแห่งชาติ แต่แผลงมาจากคำว่าตรวจ ซึ่งข้าราชการที่มีหน้าตรวจับ จึงนับเป็นตำรวจทั้งสิ้น
2. ตำรวจต้องเลิก ลด ระบบการปกครองแบบมีชั้นยศแบบทหาร ตำรวจต้องไม่ใช้ความคิดแบบทหาร ทั้งนี้ความคิดแบบทหารก็มีปัญหากับสังคมไทย ซึ่งความคิดแบบทหารเป็นแบบเผด็จการ นอกจากนี้ตำรวจทั่วโลกไม่มีระบบแบบทหาร อีกทั้งเครื่องแบบไม่ใช่ยศ การทำให้ตำรวจไม่มียศเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากกว่าการที่ให้ตำรวจมียศ นอกจากนี้ยังทำให้คนที่มีจิตใจรักยุติธรรมเป็นตำรวจไม่ได้
3. ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดมีอำนาจตรวจสอบ ควบุคมตำรวจได้ โดยทำผ่านระเบียบ ก.ต.ช.
4. โอนตำรวจ 13 หน่วยไปยังกระทรวงที่รับผิดชอบ เช่น ตำรวจตรวจคนเข้าเมือง ตำรวยสคบ. เป็นต้น จะทำให้ตำรวจทั้ง 13 หน่วยกลายเป็นพลเรือนทันที โดยที่ตำรวจทั้ง 13 มีอำนาจสอบสวน
5. อัยการต้องเข้าควบคุมสอบสวนเรื่องที่มีการร้องเรียนหรือคดีสำคัญ ไม่ใช่แค่เข้าร่วมสอบสวน ซึ่งปัจจุบันอัยการเขียนสำนวนส่งฟ้องตามนิยายที่ตำรวจเขียนมา ทำให้ศาลสั่งยกฟ้องถึง 40%
"เรื่องของกำนันกมีสาเหตุมาจากเรื่องส่วย ต้องไม่ลืมเรื่องส่วย อย่าหลงประเด็น การแก้ปัญหาหัวใจคือต้องเห็นปัญหา เช่น เรื่องตู้แดง ซึ่งตู้แดงเป็นรายได้สำคัญของตร.ผู้ใหญ่ หรือเรื่องเป่าแอลกอฮอล์ที่สังคมไทยชินชา ทั้งที่เรื่องนี้ต้องมีเหตุ สังคมไทยต้องไม่ชินกับเรื่องเหล่านี้ จะแก้แบบยั่งยืนต้องแก้ที่กฎหมาย ถ้านายกนำร่างแก้ไขป.วิอาญา เข้าสภา ภายใน 3 เดือน ประเทศเปลี่ยนโฉมแน่นอน" พ.ต.อ.วิรุตม์ กล่าว