สื่อจีนเผยไทยเคยตั้งเงื่อนไขขอบริจาคเรือดำน้ำจีน 2 ลำชดเชยเปลี่ยนเครื่องยนต์ แต่เงื่อนไขรุนแรงเกินไป จีนรับไม่ได้-ท้ายที่สุด ทร.ไทยก็ยอมรับเครื่องยนต์จีน แต่ขอเงื่อนไขขยายประกันเครื่องยนต์ CHD-620 จาก 10 ปี เป็น 20 ปี
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานข่าวความคืบหน้าการจัดหาเรือดำน้ำของกองทัพเรือไทยเพิ่มเติมว่าสื่อในประเทศจีนได้รายงานข่าวเมื่อวันที่ 13 ก.ย. ตอนหนึ่งระบุว่า ในช่วงการเจรจาจัดซื้อเรือดำน้ำ กองทัพเรือไทยได้เคยเรียกร้องค่าชดเชยจากกองทัพเรือเป็น โดยกองทัพเรือไทยจะจัดซื้อเรือดำน้ำรุ่น S26T จำนวนหนึ่งลำ และจีนจะต้องบริจาคเรือดำน้ำรุ่น Type-039A ให้ไทยอีกจำนวนสองลำ เพื่อเป็นข้อชดเชยต่อกรณีที่ประเทศจีนจะเปลี่ยนเครื่องยนต์เรือดำน้ำจากเครื่องยนต์ดีเซล MTU-396 จากประเทศเยอรมนี เป็นเครื่องยนต์ดีเซล CHD-620 จากประเทศจีน
สื่อจีนรายงานต่อไปว่าที่จริงแล้วใช่ว่ากองทัพเรือไทยจะไม่ยอมรับเครื่องยนต์รุ่น CHD-620 เพราะว่ากองทัพเรือไทยได้เคยส่งเจ้าหน้าที่มาตรวจสอบเครื่องยนต์รุ่นนี้แล้วถึงในประเทศจีน ซึ่งประเทศไทยก็รับทราบดีว่าเครื่องยนต์รุ่นนี้สามารถแทนที่เครื่องยนต์ MTU-396 ได้ แต่ประเทศไทยก็ต้องการใช้ประเด็นเรื่องเครื่องยนต์เป็นข้อต่อรองต่อไป เพื่อทำให้ราคาลดลง และหาผลประโยชน์ที่ใหญ่กว่า ทว่าข้อเรียกร้องของประเทศไทยที่ระบุเรื่องการให้บริจาคเรือดำน้ำนั้นรุนแรงเกินไปและไม่อาจเป็นที่ยอมรับของทางประเทศจีนได้
“ต่อมาจีนและไทยเริ่มเจรจาระยะยาว ซึ่งไทยเคยขู่ว่าจะยกเลิกสัญญาเรือดําน้ำและยกเลิกแผนการนําเข้าเรือดําน้ำจากจีน ประเทศจีนจึงได้ประสานงานอย่างแข็งขันเพื่อแก้ปัญหาทางเทคนิคที่ประเทศไทยกังวล หลังจากความพยายามอย่างไม่หยุดยั้งในที่สุดทั้งสองประเทศก็บรรลุข้อตกลงเมื่อเร็ว ๆ นี้และเรื่องนี้ได้รับการแก้ไขเรียบร้อยแล้ว” สื่อจีนรายงานและรายงานต่อด้วยว่าเป็นที่เข้าใจได้ว่าประเทศไทยต้องการต่อรองเพราะความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจไทยมีจำกัด และค่าใช้จ่ายทางทหารก็มีน้อยมาก โดยอยู่ที่ 7.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เท่านั้นในปี 2565 แต่มูลค่าเรือดำน้ำอยู่ที่ 1.05 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ทว่าประสิทธิภาพขั้นสูงของเรือดำน้ำจีนก็ทำให้ประเทศไทยประทับใจ และตัดสินใจซื้อเรือดำน้ำจีนในที่สุด
สื่อจีนระบุต่อว่า มีรายงานว่าประเทศไทยได้ขอขยายระยะเวลาการรับประกันเครื่องยนต์ดีเซล CHD-620 จาก 10 ปีเป็น 20 ปี โดยจะช่วยประหยัดค่าบำรุงรักษามูลค่าสูงให้กับประเทศไทย แน่นอนว่าจีนยอมรับในประเด็นการขยายระยะเวลาการรับประกันออกไป เพราะแสดงให้เห็นถึงความมั่นใจของประเทศจีนต่อเครื่องยนต์ดีเซล CHD-620
สื่อจีนรายงานว่าสำหรับประเทศเยอรมนี ซึ่งเป็นผู้กีดกันไม่ให้นำเอาเครื่องยนต์รุ่น MTU-396 ไปใช้ในเรือดำน้ำ S26T การกีดกันดังกล่าว ท้ายที่สุดแล้วก็จะส่งร้ายต่อเยอรมนีเอง เพราะว่าเยอรมนีได้สูญเสียส่วนแบ่งการตลาดให้กับประเทศจีน
เรียบเรียงจาก:https://www.nmgtl.com.cn/world/80348.html