ครม.เศรษฐา ‘นัดแรก’ ไฟเขียวลดค่าไฟฟ้าเหลือ 4.10 บาท/หน่วย เริ่มรอบบิล ก.ย.66 ลดราคา ‘ดีเซล’ ต่ำกว่า 30 บาท/ลิตร เริ่ม 20 ก.ย.นี้ ด้าน ‘โฆษกรัฐบาล’ ปัดชี้แจงรายละเอียด บอกประชาชนอยากรู้แค่ว่าลดราคา ‘ไฟฟ้า-น้ำมัน’ เท่าไหร่
..................................
เมื่อวันที่ 13 ก.ย. นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง แถลงภายหลังประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)นัดแรก ว่า ที่ประชุม ครม.ได้มีการพูดเรื่องการลดค่าไฟฟ้าและมีมติเห็นชอบให้ลดค่าไฟฟ้าเหลือ 4.10 บาท/หน่วย จากปัจจุบัน 4.45 บาท/หน่วย โดยเริ่มตั้งแต่รอบบิลเดือน ก.ย.2566 เป็นต้นไป ส่วนเรื่องการลดราคาน้ำมันดีเซลนั้น ครม.มีมติลดราคาน้ำมันดีเซลให้ต่ำกว่า 30 บาท/ลิตร และให้เริ่มมีผลตั้งแต่วันที่ 20 ก.ย.นี้
ด้านนายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุม ครม. ว่า ที่ประชุม ครม. มีมติให้ลดค่าไฟฟ้าในรอบบิลเดือน ก.ย.2566 โดยลดจาก 4.45 บาท/หน่วย เหลือ 4.10 บาท/หน่วย หรือลดลง 35 สต./หน่วย และมีมติลดราคาน้ำมันดีเซลเหลือไม่ให้เกิน 30 บาท/ลิตร จากปัจจุบัน 32 บาท/ลิตร หรือลดลง 2 บาท/ลิตร ทั้งนี้ มาตรการลดราคาพลังงานทั้ง 2 ส่วนนี้ จะทำให้ประชาชนประหยัดเงินในกระเป๋าได้กว่า 300 ล้านบาท/วัน
นายชัย ระบุด้วยว่า การลดราคาน้ำมันดีเซลให้เหลือไม่เกิน 30 บาท/ลิตร และการลดค่าไฟฟ้าลง 35 สต./หน่วยนั้น จะใช้วิธีการบริหารจัดการภาษีสรรพสามิต เงินอุดหนุน และค่า Ft ต่างๆ
“การลดค่าไฟฟ้า ครม. ไม่อำนาจ คนที่มีอำนาจ คือ กกพ. (คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน) แต่ว่าโดยการหารือกับ รมว.พลังงาน แล้วเสนอให้ ครม.รับทราบ ซึ่งครม.ไม่ท้วงติง ครม.เห็นด้วย โดยมีการบริหารต้นทุนต่างๆในโครงสร้างพลังงาน ส่วนเรื่องเงินสนับสนุนนั้น ไม่มีการควักออกเพิ่ม แต่ของเดิมที่เคยเก็บเยอะ อาจจะเก็บน้อยลง และที่ประชุม (ครม.) ได้บอกว่า ถ้ามีคำถามในรายละเอียดพวกนี้จากสื่อ ขอให้ รมว.พลังงาน ชี้แจง” นายชัย กล่าว
ทั้งนี้ นายชัย ไม่ได้ตอบคำถามสื่อมวลชนที่ได้สอบถามว่า ภาระงบประมาณที่ใช้ในการอุดหนุนการลดราคาน้ำมันดีเซลและค่าไฟฟ้าเป็นเท่าไหร่ แต่นายชัย ได้กล่าวว่า “อย่างที่พูดมา ประชาชนอยากรู้ค่าไฟลดเท่าไหร่ ค่าน้ำมันลดเท่าไหร่ มติ ครม.แถลงชัดเจนอยู่แล้ว ว่า ค่าไฟลดทันที เดือน ก.ย. หน่วยละ 35 สต. อันนี้ชัดยิ่งกว่าชัด และลดราคาน้ำมันในวันที่ 20 ก.ย.นี้”
นายชัย กล่าวด้วยว่า “ครม.รับฟังในรายละเอียด แล้วตัดสินใจรวบยอด หลังจาก analyze (วิเคราะห์) มาแล้ว ก็ตัดสินในเชิงนโยบาย ส่วนรายละเอียดมันมีเยอะมาก เวลาผมพูดเรื่องอะไร ถ้าท่าน (สื่อ) สงสัยให้เอาคำพูดที่ผมแถลงมติไป เจอหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ท่านไปเจาะเลย รมว.พลังงาน จะอธิบายได้ละเอียด เพราะท่านเป็นคนทำรายละเอียดมาเสนอ แต่สิ่งที่ ครม.รับทราบ คือ สรุปบรรทัดสุดท้าย แล้วมาแจ้งให้พี่น้องประชาชนทราบ”
นายชัย ยังย้ำว่า “สิ่งที่ ครม.มีมติให้มีการลดค่าใช้จ่ายพลังงานนั้น สาระสำคัญ คือ ลดภาระค่าใช้จ่ายของพี่น้องประชาชน ส่วนการบริหารจัดการเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ตามที่ได้เราประกาศ นั้น เราจะบริหารจัดการโดยยึดถือวินัยการเงินการคลังที่เป็นกรอบอยู่ ณ ปัจจุบัน ผมพูดรายละเอียดได้แค่นี้ ส่วนเรื่องรายละเอียดในเชิงวิเคราะห์ ใครจะเห็นด้วย ไม่เห็นด้วย กับวิธีการบริหารเพื่อให้ได้มาซึ่งค่าไฟฟ้าถูกลง 35 สต./หน่วย หรือค่าน้ำมันถูกลง 2 บาท/ลิตร เราน้อมรับฟัง
และอย่างที่อธิบายไปแล้ว คนเห็นด้วยคงมี คนที่ไม่เห็นด้วยกับวิธีการแบบที่รัฐบาลหรือกระทรวงนั้นๆเสนอมา ก็มี แต่ผมคิดว่าสาระสำคัญที่สุดที่พี่น้องประชาชนรอฟัง คือ ตกลงจะลดค่าใช้จ่ายพลังงานเท่าไหร่ อันนั้น คือ ตัวใหญ่ พี่น้องประชาชน คงไม่มาทำวิจัยทางวิชาการแบบเรา อยากรู้แค่ bottom line (บรรทัดสุดท้าย)”
ขณะที่ นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พลังงาน ระบุว่า ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบมาตรการลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานให้แก่ประชาชนตามที่กระทรวงพลังงานเสนอ ซึ่งสอดคล้องตามนโยบายรัฐบาลเร่งด่วนในการลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานให้แก่ประชาชน ประกอบกับสถานการณ์พลังงานในตลาดโลกเข้าสู่ในไตรมาสที่ 4 (ฤดูหนาว) ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น กระทรวงพลังงานจึงเสนอมาตรการลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน 2 ด้าน ได้แก่
1.มาตรการลดภาระค่าใช้จ่ายด้านน้ำมันเชื้อเพลิง โดยในส่วนราคาน้ำมันดีเซล จะตรึงราคาน้ำมันดีเซลไม่ให้เกิน 30 บาทต่อลิตร ตั้งแต่วันที่ 20 ก.ย.2566 ถึงวันที่ 31 ธ.ค.2566 โดยใช้กลไกของภาษีสรรพสามิตและกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง
ส่วนราคาน้ำมันเบนซิน กระทรวงพลังงานจะพิจารณารายละเอียดแนวทางการช่วยเหลือแบบมุ่งเป้าให้แก่ผู้ใช้น้ำมันเบนซินกลุ่มเปราะบาง เช่น กลุ่มมอเตอร์ไซค์รับจ้างและแท็กซี่ และนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอีกครั้ง ทั้งนี้ ในระหว่างนี้ ให้มีการกำกับดูแลราคาขายปลีกให้มีค่าการตลาดอยู่ในระดับที่เหมาะสม ประมาณ 2.00 บาทต่อลิตร ตามมติ กบง.
สำหรับราคาก๊าซหุงต้ม (LPG) จะตรึงราคาขายปลีก LPG ที่ระดับ 423 บาทต่อถังขนาด 15 กิโลกรัม ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.2566 ถึงวันที่ 31 ธ.ค.2566 ผ่านกลไกกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง รวมทั้ง จะมีมาตรการช่วยเหลือส่วนลดค่าก๊าซหุงต้มให้กับผู้มีรายได้น้อยหรือกลุ่มเป้าหมาย ผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ
2.มาตรการลดภาระค่าใช้จ่ายด้านไฟฟ้า โดยจะปรับลดอัตราค่าไฟฟ้าที่ประกาศเรียกเก็บกับผู้ใช้ไฟฟ้ารอบเดือน ก.ย.ถึงเดือน ธ.ค.2566 ในอัตรา 4.45 บาทต่อหน่วย ลงเหลือในอัตรา 4.10 บาทต่อหน่วย โดยกระทรวงพลังงานร่วมกับ กกพ. จะดำเนินการหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการคิดราคาก๊าซธรรมชาติ Pool gas ให้ไม่เกินค่าประมาณการคงที่ ประมาณ 305 บาทต่อล้านบีทียู และให้นำส่วนต่างของราคาก๊าซธรรมชาติที่เกิดขึ้นจริงกับค่าก๊าซธรรมชาติที่เรียกเก็บไปทยอยเรียกเก็บคืน ซึ่งจะทำให้ปรับลดราคาค่าไฟฟ้าลงได้อีก
นอกจากนี้ จะมีการดำเนินมาตรการช่วยเหลือส่วนลดค่าไฟฟ้าเพิ่มเติมให้แก่กลุ่มเปราะบาง อาทิ การให้ส่วนลดค่าไฟฟ้าแก่ผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัยที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 150 หน่วยต่อเดือน โดยกระทรวงพลังงานจะร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาเสนอต่อ ครม.ต่อไป
"มาตรการลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน ทั้ง 2 ด้าน นั้น ครม.ได้มอบหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสนับสนุนการดำเนินการต่อไป" นายพีระพันธุ์ กล่าว