'ชลน่าน' โต้นโยบายสาธารณสุข หลวม ไม่มีเป้าหมาย เตรียมประกาศนโยบายระดับกระทรวง 22 ก.ย.นี้ เล็งตั้ง คกก.พัฒนาระบบสุขภาพแห่งชาติ-คกก.บริหารงานบุคคล เร่งแก้ไขภาระงาน ค่าตอบแทน สมองไหล
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงาน เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2566 นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ชี้แจงในการแถลงนโยบายรัฐบาลต่อรัฐสภา โดยขอบคุณเพื่อนสมาชิกที่ร่วมกันอภิปรายในนโยบายด้านสุขภาพ ให้ความคิดเห็น ให้ข้อแนะนำ และจะขอตอบในเรื่องของนโยบาย เพราะเพื่อนสมาชิกบางคนอภิปรายในลักษณะกระทู้ถาม ซึ่งที่มีการอภิปรายว่านโยบายสาธารณสุข หลวม ไม่มีเป้าหมาย ไม่ชัดเจน ไม่มีทิศทางนั้น นโยบายที่แถลงเป็นภาพรวมของรัฐสภา ภายใต้การนำของ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ที่ให้แต่ละกระทรวงไปจัดทำนโยบายรองรับนโยบายรัฐบาล ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขจะประกาศนโยบายในวันที่ 22 กันยายนนี้
สำหรับนโยบายกระทรวงสาธารณสุข จะอยู่บนพื้นฐานการทำกรอบ 5 ด้าน ประกอบด้วย 1. ยุทธศาสตร์ชาติ 2. ผลลัพธ์สุขภาพ 3. ความต้องการประชาชน 4. ภาพอนาคต 5. นโยบายพรรคการเมือง ออกมาเป็นนโยบายสาธารณสุข พ.ศ. 2567 ที่จะใช้ตลอด 4 ปี พร้อมขอให้ความมั่นใจว่าจะออกนโยบายมาแก้ไขปัญหาให้กับประชาชน อีกทั้งภาพเดิมกระทรวงสาธารณสุขเป็นกระทรวงที่ใช้เงิน ขอเงินมาเพื่อใช้กับประชาชน แต่กระทรวงสาธารณสุขยุคใหม่จะเป็นกระทรวงที่หาเงินให้ประเทศด้วย
ทั้งนี้ มิติการบริการต้องมีความร่วมมือจากทุกฝ่าย กระทรวงสาธารณสุขมีส่วนดูแล 70% ของฐานประชากร ยกเว้นการป้องกันโรคที่ต้องดูแลทุกคนทั่วประเทศแบบ 100% ขณะเดียวกัน จะเสนอให้มีคณะกรรมการพัฒนาระบบสุขภาพแห่งชาติ มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน แยกจากคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ โดยจะมาดูแลพัฒนาขับเคลื่อนระบบสุขภาพ ซึ่งทุกกระทรวงที่เกี่ยวข้องมาทำงานร่วมกัน โดยจะพยายามทำให้ดีที่สุดเพื่อสุขภาพประชาชนคนไทย
ขณะที่นโยบายศูนย์การแพทย์ในอาเซียน ที่มีข้อห่วงใยว่าจะกระทบการบริการสุขภาพคนไทย หรือได้รับการบริการไม่ทั่วถึงนั้น นายแพทย์ชลน่าน ระบุว่า ถ้าคิดแบบเดิมอาจจะเกิดขึ้น แต่นโยบายรัฐบาลจะให้ความสำคัญประชาชนที่ต้องเข้าถึงการรักษาอย่างมีคุณภาพ ทั่วถึง เป็นธรรม บัตรประชาชนใบเดียวรักษาได้ทุกที่ จะมีข้อมูลบนคลาวด์ถึงกัน มั่นใจได้ว่านอกจากจะหารายได้ให้ประเทศได้แล้ว จะไม่กระทบการบริการคนภายในประเทศแน่นอน ส่วนบริการปฐมภูมิ ยอมรับบางที่มีปัญหา แต่บางที่ทำได้ดี เป็นระบบ ลดความแออัดการรักษาในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ได้จริง เพราะหลายโรคไม่ต้องเข้าโรงพยาบาลระดับสูง แต่เข้ารับบริการปฐมภูมิได้
ส่วนเรื่องภาระงานการแพทย์และสาธารณสุข สมัยเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุขเมื่อ 10 ปีก่อน ก็คิดเรื่องนี้ และเมื่อกลับมาเป็นรัฐมนตรีว่าการจะดำเนินการอย่างแน่นอน ทั้งนี้ การบริการงานบุคคลของกระทรวงสาธารณสุข อยู่ภายใต้สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (กพ.) ที่จำกัดจำนวน อัตรา บุคลากรบางส่วนจึงไม่สามารถบรรจุเป็นข้าราชการได้ ซึ่งเป็นนโยบายที่พยายามขับเคลื่อน โดยจะมีคณะกรรมการบริหารงานบุคคลของกระทรวงสาธารณสุขเอง ถ้าตกลงกับ กพ. ได้ เชื่อว่าจะเป็นเชิงโครงสร้างใหญ่ที่จะแก้ปัญหาบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขได้
ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข
“ปัญหาเรื่องภาระงาน เรื่องค่าตอบแทน เรื่องคนไหลออก เป็นสิ่งที่เจอมาตลอด ด้วยนโยบายที่เราให้คนสามารถเข้าถึงทุกที่ทุกแห่ง ไม่ว่าเป็น รพ.ภาครัฐ หรือเอกชน บุคลากรเมื่อย้ายออกจากภาครัฐไปภาคเอกชน เลยถูกตราหน้า ปรามาสว่าสมองไหล แต่ลักษณะอย่างนี้ไหลออกเรื่อยๆ เหมือนว่าสมองไหลแล้วดี เราจะพัฒนาเชิงระบบมาแก้ปัญหาตรงนี้ เป้าหมายทำอย่างไรให้ รพ.ที่มีสังกัดทุกแห่ง ไม่ว่ารัฐหรือเอกชน เป็น รพ.ของประชาชน ประชาชนสามารถเข้าถึงทุกที่ในสิทธิที่เขามีอยู่ ในค่าบริการที่เราสามารถตอบแทนความต้องการของสถานบริการได้ ถ้าเราปรับวิธีคิดแบบใหม่อย่างนี้มันจะแก้ปัญหาเรื่องของบุคลากรทางการแพทย์การสาธารณสุขได้
เพราะแพทย์ขณะนี้มีอยู่ 60,000 คน ประมาณ 30,000 อยู่ในระบบกระทรวงสาธารณสุข รับภาระงาน 70% ก็เลยมีความลักลั่นเยอะมาก กระบวนการการผลิตแพทย์ปีนี้คาดว่าจะจบประมาณ 2,800 การกระจายแพทย์ มีข้อห่วงใยสมาชิกเรื่องจัดสรรโควตา เราพูดกันเรียบร้อยครับ จัดสรรด้วยความเป็นธรรมทุกฝ่าย ทางมหาวิทยาลัยที่เขาจำเป็นต้องใช้ โดยเฉพาะคณะแพทย์เปิดใหม่ ส่วนของกลาโหมต่างๆ เราให้ความเป็นธรรม เพื่อแก้ปัญหาในขณะนี้ แล้วไปดูระบบการกระจายทั้งหมด ที่จะแก้ปัญหาภาระงาน เรื่องค่าตอบแทน เรื่องบุคลากรที่มีปัญหา”
ส่วนเรื่อง 50 เขต 50 รพ. ถ้าไม่มีโควิด-19 มาชี้แจงคงยากที่จะเชื่อ เพราะมีคนคัดค้านเยอะมาก ทำไมต้องสร้าง รพ.ให้คนกรุง แต่โควิด-19 ทำให้เราเห็นชัดว่า คน กทม. ที่ติดโควิด มีการเสียชีวิตข้างถนน ไม่เหมือนที่ต่างจังหวัด จึงต้องแก้ปัญหาให้เข้าถึงสถานบริการ และเป็นเรื่องที่กล้าประกาศได้ว่าจะนำร่องในเรื่องนี้ ทางด้านปัญหาเด็กแรกเกิด การให้นมบุตร ขอบคุณสมาชิกพรรคก้าวไกล ที่มาคุยส่วนตัวว่าเราต้องช่วยเด็ก อีกทั้งโครงสร้างประชากรคนไทยขณะนี้เข้าสู่ผู้สูงวัยมากกว่า 20% ขณะที่คนเกิดใหม่น้อยมาก
นอกจากนี้ สถานชีวาภิบาล จะมีที่ดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย กระทรวงสาธารณสุขจะนำร่องทำเช่นกัน ภายใต้การกำกับของตน จะเอาสิ่งที่ดีที่สุดเป็นต้นแบบแล้วขยายผล รวมถึงเรื่องบัตรประชาชนใบเดียว จะมีเขตสุขภาพเขตหนึ่งนำร่องก่อน และนำสู่การปฏิบัติตาม