ปลัด สธ.เผยนโยบายยกระดับบัตรทอง อาจใช้ '30 บาทพลัส' ตาม 'ชลน่าน' ทั้งบัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกที่ เตรียมแปลงสู่ภาคปฏิบัติแบบ 'ควิกวิน' ให้เร็วที่สุด พร้อมชู 2 เรื่องหลัก เน้นตอบโจทย์ ปชช.และไม่ละเลยภาระงาน
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 12 ก.ย. 2566 นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวระหว่างเปิดมหกรรมการจัดการความรู้และบทเรียนโควิด 19 และโครงการประชุมวิชาการกระทรวงสาธารณสุข ประจำปี 2566 “ยกระดับสาธารณสุขไทยเพื่อสุขภาพที่ดีอย่างยั่งยืน” ระหว่างวันที่ 11-13 ก.ย. 2566 ว่า การจัดงานมี 2 ธีม คือ การประชุมวิชาการฯ ซึ่งไม่ได้แค่นำเสนอผลงานวิชาการ แต่เป็นการชุมนุมคนทำงานที่มีความรู้วิชาการมารวมกัน ถ้าเราคิดว่าความรู้ไม่ได้เป็นกระดาษเอกสาร แต่อยู่ที่ตัวคน การมาชุมนุมกันก็ไม่ได้มาพบปะพูดคุยกันเฉยๆ แต่มีทั้งเรื่องงาน การถ่ายทอดประสบการณ์ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ เชื่อว่าการประชุมวิชาการและการจัดงานแสดงมุทิตาจิตเมื่อวันที่ 11 ก.ย. ก็เป็นเรื่องสอดคล้องกัน เพราะปีนี้มีอธิบดีหลายท่านเกษียณ ซึ่งหายากที่บุคคลที่มีความรู้ด้านวิชาชีพ การจัดการ เชิงนโยบาย การบูรณาการกว่า 30 ปีมาถ่ายทอดให้พวกเราฟัง ถือเป็นไฮไลท์ ก็ขอให้จดคำดีๆ มาถ่ายทอดให้เกิดประโยชน์
นพ.โอภาสกล่าวว่า อีกด้านคือ การจัดมหกรรมการจัดการความรู้โรคโควิด 19 ซึ่งโควิด 19 เป็นเรื่องที่สอนพวกเราอย่างมหาศาล โดย 3 ปีที่ทั่วโลกรวมถึงไทยรับมือกับสถานการณ์โควิด เป็นช่วงที่มนุษยชาติและไทยได้เรียนรู้มากมาย คือ
1.ระบบสาธารณสุขเรามีความเข้มแข็ง เป็น Unity ผ่านมา 1 ปีหลังยกเลิกการเป้นโรคติดต่ออันตราย ก็ยืนยันว่าระบบเรามีความเข้มแข็ง แทบไม่มีปัญหากลับไปเหมือนเดิมอย่างที่หลายนักวิชาการด้อยค่ามาตลอด สิ่งที่ สธ.และรัฐบาลที่ผ่านมาดำเนินได้ดี คือ ใช้ควารู้ ทรัพยากรที่ดีมาจัดการอย่างเหมาะสม เราเป็นประเทศแรกๆ เลยที่ประกาศไม่ใช่โรคติดต่ออันตราย ทำระบบเศรษฐกิจไทยขับเคลื่อนไปได้ หลังๆ ก็ไม่มีผู้เสียชีวิต ยกเว้นกลุ่ม 608 ที่ไม่ได้รับวัคซีน อย่างไรก็ตาม ยังมีจุดที่สามารถพัฒนาหลายเรื่อง โดยเฉพาะระบบการจัดการสาธารณสุขในชุมชนที่เป็นกลุ่มเปราะบาง ซึ่งต้องนิยามใหม่ เดิมเรานิยามกลุ่มเปราะบางว่าอยู่ตามชายขอบ ชายแดน แต่จากโควิดทำให้ทราบดีว่า กลุ่มเปราะบางในระบบการแพทย์และสาธารณสุข คือ ใจกลางเมืองหลวงเมืองใหญ่ของไทย เช่น กทม. เราเห็นปัญหา อย่างที่มีดรามาส่วนใหญ่ก็อยู่ใน กทม.ทั้งนั้น เป็นอีกจุดที่ต้องกลับมาทบทวนและจัดการดำเนินการ
2.เรื่องความครอบคลุมทั่วถึงของการให้บริการด้านการแพทย์และสาธารณสุข ซึ่งในยุคโควิดอะไรที่สามารถครอบคลุมการให้บริการสาธารณสุขได้ดีที่สุด พบว่า ไม่ใช่การให้คนเจ็บป่วยมา รพ. เพราะคงรับไม่ไหวในสถานการณ์วิกฤต แต่เราเรียนรู้เรื่องการใช้ "เทเลเมดิซีน" โดยเฉพาะประเทศไทยเรามีคนที่ใช้สมาร์ทโฟนครอบคลุมสูงมาก แทบจะทุกครัวเรือน การครอบคลุมบริการแพทย์และสาธารณสุขให้ความรู้ประชาชนเพื่อรับมือภัยสุขภาพ ทั้งยามปกติและฉุกเฉิน คือ เทคโนโลยีด้านดิจิทัลและเทเลเมดิซีน ซึ่งก่อนโควิดมีการพูดกันเยอะ ว่าเรื่องนี้จะถูกกฎหมายไหม ใช้ได้ไหม แต่หลังโควิดทุกอย่างจบ มันเวิร์กและใช้ได้จริง ทั้งยามวิฤตและฉุกเฉิน เราก็ต้องกลับมาต่อยอด โดยเรื่องเทเลเมดิซีนก็สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลฃที่แถลงไปแล้ว
นพ.โอภาสกล่าวอีกว่า นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการ สธ. ฝากย้ำนโยบายของรัฐบาลและรัฐมนตรีเอง ถึงการยกระดับ 30 บาทรักษาทุกโรคหรือหลักประกันสุขภาพ หรืออาจใช้คำว่า "30 บาทพลัส" ซึ่งคงต้องรอชื่อทางการอีกครั้ง ให้สอดรับความต้องการประชาชนทุกกลุ่มเป้าหมาย เพราะแม้หลายคนชื่นชมว่าเราเป็นต้นแบบของโลก ชื่นชมระบบเราว่าโดดเด่นเพียงใด แต่ถ้าอยู่นิ่งไม่พัฒนา คนอื่นก็จะไล่เราทัน เราจึงต้องไล่ตัวเองยกระดับการบริการ โดยเฉพาะการส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค ควบคุมโรค และรักษาพยาบาลฟื้นฟู ต้องรีบดำเนินการในยุครัฐบาลใหม่ที่มี นพ.ชลน่าน เป็น รมว.สธ. ซึ่งที่ผ่านมาก็มีการปูพื้นไปบ้างแล้ว ทั้งนี้ หากอ่านจากแถลงการณ์นายกฯ จะเห็นคำหนึ่งที่มาพร้อมกัน คือ การยกระดับบริการสุขภาพประชาชน ต้องคำนึงถึงภาระงานของบุคลากร ทำอย่างไรให้สมดุลและขับเคลื่อนไปข้างหน้า ถือเป็นโจทย์ท้าทายของฝ่ายปฏิบัติที่ต้องรับนโยบายมาปฏิบัติ รวมถึงการพัฒนาระบบการแพทย์และสาธารณสุข ต้องก้าวข้ามคำว่าการแพทย์และสาธารณสุข เพราะมีมิติอื่นๆ ด้วย มิเช่นนั้นก็จะอยู่ในวงจำกัด อย่างโควิดถ้าไม่มีคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด ไม่มีผู้ว่าฯ ไม่มีหน่วยงานอื่นทั้งกลาโหม มหาดไทย ศึกษาธิการ ชุมชน และ อสม.มาร่วมขับเคลื่อน ก็จะปัญหาได้ยาก
"นอกจากนี้ ไม่ว่าจัดการเรื่องอะไร พื้นฐานการจัดการคือการใช้หลักความรู้ มีเหตุมีผล แต่ความรู้เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา วันหนึ่งถูก ต่อไปอาจผิด อย่าไปยึดติดความรู้มากเกินไป จนละเลยผลลัพธ์การกระทำ แต่ต้องปรับความรู้มาใช้ให้สอดคล้องเหมาะสมสถานการณ์นั้นๆ ที่อาจมีข้อจำกัดเชิงทรัพยากร เชิงการจัดการ ด้านกฎระเบียบ ด้านกฎหมาย ความรู้ที่ยังไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ เป็นเรื่องการจัดการความรู้" นพ.โอภาสกล่าว
ถามว่าบัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกที่มีการเตรียมพร้อมอย่างไร นพ.โอภาสกล่าวว่า เป็นหนึ่งในนโยบายของ นพ.ชลน่าน เป็นหน้าที่ของ สธ. สปสช. หน่วยงานหลักใหญ่เอามาบูรณาการทำงานร่วมกัน การแปลงภาคปฏิบัติ รมว.สธ.ก็สั่งเรื่อง Quick Win ก็จะมีออกมาให้ได้เห็น รอวันนี้รัฐบาลแถลงให้เสร็จสิ้นก่อน ซึ่งไม่อยากเรียกว่าใน 100 วัน แต่ให้เร็วที่สุดก็น่าจะดี
ถามต่อว่าที่ผ่านมาเมื่อเปลี่ยนรัฐบาลก็มักจะมีการเปลี่ยนชื่อโครงการบัตรทอง 30 บาท นพ.โอภาสกล่าวว่า เรื่องคำชื่อเป็นการสื่อกับประชาชน อย่าไปกังวล ประเด็นคือต้องยกระดับให้สอดรับความต้องการประชาชนมากที่สุด เดิมตอนที่เราดีไซน์ 30 บาท ผ่านมา 20 กว่าปีแล้ว เราก็มีประสบการณ์อะไรที่ดี ไม่ดี เวิร์กไม่เวิร์กก็ต้องทำให้สอดคล้องกัน และสังคไทยเปลี่ยนไปเยอะ เดิมชนบทเข้าไม่ถึงบริการ แต่วันนี้ไม่ใช่ เรามี อสม. รพ.สต. ครอบคลุมเกือบทุกพื้นที่ของประเทศไทย หาจุดที่เข้าไม่ถึงบริการน้อยมากๆ แต่ปัญหาคนเข้าไม่ถึงคือคนในเมืองใหญ่และชุมชน โดยเฉพาะต่างจังหวัดเข้ามาทำงานในเมืองใหญ่ ไม่เฉพาะ กทม. ยังมีพัทยา เชียงใหม่ โคราช อุดรธานี เป็นต้น 30 บาทที่ดูแลรักษาทุกที่จะเป็นตัวตอบโจทย์ แต่มีประเด็นข้อดีและข้อด้อย ฝ่ายปฏิบัติก็ต้องทำให้สอดคล้องกัน
ผู้สื่อข่าวถามว่าจะนำเอาเทคโนโลยีมาช่วยการบริหารจัดการให้สะดวกและลดภาระงานหรือไม่ นพ.โอภาสกล่าวว่า แน่นอน โควิดที่เรารับมือได้ดี คือ เทเลเมดิซีน ต้องพัฒนาและเอาไปใช้ต่อ ของเดิมเทเลเมดิซีนใช้รักษาคนห่างไกล ป่าเขา ทะเล ทุกวันนี้ไม่ใช่ เหมาะกับคนทุกคน เพราะสิ่งที่เข้าถึงประชาชนมากที่สุดคือสมาร์ทโฟน ทุกคนมีเกือบหมด ต่อไปการเข้าถึงสาธารณสุขจะละเลยเรื่องดิจิทัลไม่ได้ สธ.ก็ร่วมกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) วางระบบพื้นฐานเรื่องคลาวด์ จะเชื่อมต่อกับทุกเทคโนโลยีที่เข้ามา เชื่อมต่อทุกสถานบริการ และประชาชน เป็นจุดสำคัญที่จะต้องพัฒนาต่อไป
ถามว่าต้องเชื่อมข้อมูล รพ.ข้ามสังกัดด้วยหรือไม่ นพ.โอภาสกล่าวว่า ถูกต้อง ให้ข้อมูลทั้งหมดเชื่อมโยงกัน สามารถมีข้อมูลสุขภาพไปรักษาในพื้นที่ บัตรประชาชนเป็นแค่ตัวอย่างเดียวในการแสดงตัวตน ก็สามารถไปรักษาทุกที่ได้ในประเทศไทย แต่ที่ตามมาคือ ระบบการจัดการ และระบบการจ่ายเงิน หัวใจสำคัญที่ต้องมี สปสช.มาพูดคุยกันและอื่นๆ เช่น กระทรวงอุดมศึกษาฯ เพราะระบบสถานบริการสาธารณสุข สธ.ครอบคลุมเพียง 70% ที่เหลือยังมีมหาวิทยาลัย สังกัดกระทรวงกลาโหม ภาคเอกชน รมว.สธ.ให้นโยบายว่า รพ.ทุกแห่งของไทยต้องเป็น รพ.ของประชาชน หมายถึงทั้งภาครัฐและเอกชนเป้นโจทย์ท้าทายที่ต้องดำเนินการต่อไป ส่วนเรื่องการจ่ายเงินแบบ Per Visit มีการหารือหลักการกับ สปสช.แล้ว แต่รายละเอียดต้องหารือกันอีกเยอะ เพราะยังมีรายละเอียดที่ต้องดูหลายมิติหลายประเด็น
ถามว่าบุคลากรกังวลเรื่องภาระงานเพิ่ม นพ.โอภาสกล่าวว่า บางเรื่องอาจเพิ่ม บางเรื่องอาจลด ตัวที่ลดจากเดิมที่เขียนกระดาษหมดก้ใช้ระบบดิจิทัล ที่ สธ.ทำหลายที่แล้วคือ พยาบาลดูคนไข้ต้องจดโน้ตของพยาบาลบันทึกอาการผู้ป่วย เราก็ใช้ระบบดิจิทัลที่มีฟอร์มทำให้สะดวกขึ้น พวกหัตถการที่จำเป็นาอจต้องเพิ่มขึ้นที่ส่งผลชีวิตประชาชน เช่น การดูแลรักษาระดับสูง เช่น ฟอกไต สิ่งที่จำเป็นต้องเพิ่มก็เพิ่ม สิ่งที่ต้องลดก็ลด ส่วนค่าตอบแทนก็ต้องให้สอดคลบ้องกัน จะต้องไปคุยรายละเอียด
ถามว่าเทเลเมดิซีนก็จะตอบโจทย์เรื่องลดภาระงานด้วยหรือไม่ นพ.โอภาสกล่าวว่า เทเลเมดิซีนมี 2 ส่วน ส่วนหนึ่งทำให้การรักษาดีขึ้นเร็วขึ้น และลดภาระงานไม่จำเป็น เช่น การลดบันทึกต่างๆ ประชาชนไม่ต้องเดินทางมาหาหมอ ลดความเสี่ยง ลดการเดินทาง ลดภาระเงิน ลดการรีเฟอร์คนไข้ หลายครั้งเราเห็นการส่งต่อผู้ป่วยจาก รพ.หนึ่งไป รพ.หนึ่ง ก็เกิดอุบัติเหตุขึ้นได้ เป็นความเสี่ยงบุคลากร เพราะขับเร็วไปก็ไม่ดี ช้าไปก็ไม่ดี การมีเทเลเมดิซีนก็จะช่วยลดภาระงานลงได้ ส่วนยกระดับแล้วจะทำอย่างไรให้สมดุลก็ต้องดูหน้างาน ต้องพูดคุยลงรายละเอียด
ถามว่า National Health Board ที่จะมีการจัดตั้งจะมาช่วยพัฒนาระบบอย่างไร นพ.โอภาสกล่าวว่า คงเป็นนโยบายที่จะให้มีหน่วยงานที่ดูเรื่องครอบคุลม ก้าวข้ามงาน สธ. เพราะงาน สธ.พูดเฉพาะสธ.ก็ครอบคลุ 70-80% แต่ยังมีหน่วยงานนอกที่ทำเรื่องสาธารณสุขการแพทย์อีกเยอะ ทั้งมหาดไทย ศึกษา แรงงาน หากมีคณะกรรมการที่ดูแลครอบคลุมเชื่อมโยงนอกกระทรวง จะเป็นบทบาทคณะกรรมการชุดนี้ในการวางแนวนโยบาย แนววิธีการขับเคลื่อน เป็นต้น ส่วนเรื่องทำให้สิทธิต่างๆ เท่ากันนั้นก็จะต้องดูแนวนโยบายต่อไป
ถามว่าต้องจัดทำเรื่องปฐมภูมิด้วยหรือไม่ นพ.โอภาสกล่าวว่า ก็เป็นนโยบายหลักของท่านรมว.สธ. แต่ส่วนตัวเชื่อว่าต้องนิยามการแพทย์ปฐมภูมิใหม่ เดิมเรานิยามเมื่อ 20-40 ปี กับ 2566 คงไม่เหมือนเดิมแล้ว หลักการคงคล้ายเดิม แต่เนื้อหารายละเอียดคงแตกต่างกัน ต้องทำความเข้าใจและจัดระบบบริการการแพทย์ปฐมภูมิแบบใหม่