อดีตผู้เชี่ยวชาญ UN ชี้ พรรคเพื่อไทยประนีประนอมทหาร พรรคร่วมรัฐบาล เป็นข้อบ่งชี้ว่านโยบายเมียนมาของรัฐบาลไทยจะไม่เปลี่ยนจากเดิม ติง 'เศรษฐา' กำลังผลักดันอาเซียนให้หมดความสำคัญ
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานข่าวความเห็นการเมืองไทยที่มาจากผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศว่า มาร์ค เอส โคแกน รองศาสตราจารย์ด้านสันติภาพและความขัดแย้งศึกษา ที่มหาวิทยาลัย Kansai Gaidai ประเทศญี่ปุ่น และอดีตผู้เชี่ยวชาญด้านการสื่อสารขององค์การสหประชาชาติ ได้เขียนบทความลงเว็บไซต์สื่อ The Diplomat ของสหรัฐอเมริกา วิจารณ์ว่ารัฐบาลของนายเศรษฐา ทวีสิน นั้นอาจล้มเหลวในการแก้ไขปัญหาเมียนมา เนื่องจากว่าเป็นรัฐบาลผสม ทำให้การปรับเปลี่ยนนโยบายต่างประเทศให้แต่งตากจากสมัย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นเรื่องค่อนข้างยาก
นายโคแกนกล่าวต่อไปว่าสืบเนื่องจากที่นายเศรษฐาพยายามทำให้ความสัมพันธ์กับกองทัพไทยมีความราบรื่น ซึ่งกองทัพไทยยังคงรักษานโยบายที่อ้างว่าเป็น “การมีส่วนร่วมอย่างสร้างสรรค์” กับสภาบริหารแห่งรัฐ (SAC) และ พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย ผู้นำรัฐประหารเมียนมา
โดยในวันแรกที่นายเศรษฐาเข้าดำรงตำแหน่ง เขาได้พบกับผู้นำกองทัพเพื่อ และพยายามสื่อสารให้สาธารณชนได้รับทราบว่าเขาจะเป็นสะพานเชื่อมความแตกแยกระหว่างประชาชนและกองทัพ และอ้างว่ากองทัพได้ทำสิ่งดีๆมากมายให้กับประชาชน แต่นายเศรษฐายังต้องเผชิญหน้ากับเหล่าบรรดาผู้นำเหล่าทัพที่ถูกแต่งตั้งในช่วงวันท้ายๆที่ พล.อ.ประยุทธ์ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
อย่างไรก็ตาม การเมืองภายในประเทศทำให้ไทยเสียโอกาสจะเริ่มนโยบายกับต่างประเทศเพื่อให้สอดคล้องกับประชาคมประเทศภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่เหลือ เพราะในอดีต นโยบายต่างประเทศของพรรคเพื่อไทยจะเน้นแนวทางความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านมากกว่านี้ มีการหาลู่ทางเพื่อเชื่อมโยงสัมพันธ์ระดับทวิภาคืเพื่อจะยกระดับฐานะของประเทศไทยในกลุ่มประเทศต่างๆ เช่นในกลุ่มยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง (Ayeyawady-Chao Phraya-Mekong Economic Cooperation Strategy: ACMECS)
ในกรณีเมียนมา ก่อนหน้าที่จะมีการจัดตั้งรัฐบาล พรรคเพื่อไทยมีแนวโน้มว่าจะดำเนินนโยบายต่างประเทศในทิศทางที่แตกต่างจากรัฐบาลทหารของไทย โดยจะเอาประเทศไทยเข้าไปร่วมมือกับประเทศผู้ก่อตั้งอาเซียนอื่นๆ เพื่อเสริมสร้างเส้นสายที่มั่นคง รับมือกับเผด็จการทหารที่กรุงเนปิดอว์ โดยแนวโน้มดังกล่าวนี้ถูกสื่อสารออกมาจากนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ทว่าการสื่อสารในลักษณะนี้กลับทำให้ชนชั้นสูงของประเทศไทยเสียผลประโยชน์เพราะว่ามีส่วนได้ส่วนเสียกับสถานะทางการทูตที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
ด้วยเหตุผลว่าการเมืองภายในประเทศไทย ที่พรรคเพื่อไทยมีท่าทีโอนอ่อนไปทางฝ่ายพรรคภูมิใจไทยและพรรคพลังประชารัฐ ที่มีความเป็นมิตรกับทหาร ดังนั้นคาดว่าวิกฤตมนุษยธรรม วิกฤตชาวโรฮิงญาและวิกฤตผู้ลี้ภัยที่อยู่ริมพรมแดนของประเทศไทยจะยังคงดำเนินต่อไป
อย่างไรก็ตามกรุงเทพคงไม่อาจจะปล่อยให้ประชาคมอาเซียน ซึ่งเป็นเศรษฐกิจขนาดใหญ่ มีความอ่อนแอลง แต่อาเซียนก็มีความจำเป็นที่จะต้องมีความสัมพันธ์กับมหาอำนาจนอกภูมิภาค โดยสหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกา มีท่าทีชัดเจนในการต่อต้านเผด็จการทหารเมียนมา ดังนั้นจึงมีความเป็นไปได้อย่างยิ่ง ที่อาเซียนอาจจะไปอิงความสัมพันธ์กับประเทศจีนที่เริ่มจะแสดงออกอย่างก้าวร้าวมากขึ้นเรื่อยๆ
“ด้วยการที่นายเศรษฐาเฉยเมย อย่างมีเจตนา เขาได้ผลักดันให้อาเซียนกลายเป็นกลุ่มซึ่งไม่มีความสำคัญไปมากขึ้นเรื่อยๆ” นายโคแกนกล่าว
เรียบเรียงจาก:https://thediplomat.com/2023/09/sretthas-first-foreign-policy-mistake-passing-on-the-asean-summit/