'เศรษฐา ทวีสิน' แถลงนโยบายต่อรัฐสภา มีระยะสั้น: เงินดิจิทัล 10,000 บาท กระตุ้นเศรษฐกิจ-กลาง-ยาว: พัฒนาเศรษฐกิจใหม่-เร่งด่วน: แก้หนี้สิน ลดค่าพลังงาน-ขยายโอกาส: ดันรัฐบาลดิจิทัล-สร้างคุณภาพชีวิต: สวัสดิการโดยรัฐ
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) เมื่อวันที่ 11 ก.ย. 2566 เวลา 09.30 น. ที่รัฐสภา มีการแถลงนโยบายรัฐบาลต่อรัฐสภา ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 162 มี นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา ทำหน้าที่ประธานการประชุม
นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี กล่าวชี้แจงนโยบายรัฐบาลต่อรัฐสภา ว่า คณะรัฐมนตรีมีนโยบายรัฐบาลมุ่งมั่นสร้างความสามัคคี ปรองดองให้เกิดขึ้นในสังคม นำไปสู่ความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม การเมืองของประเทศให้ก้าวหน้า เพื่อประโยชน์สุขของประชาชน วันนี้ประเทศไทยกำลังเผชิญความท้าทายเชิงเศรษฐกิจ สังคม การเมืองในประเทศที่ถูกซ้ำเติมจากการแพร่ระบาดเชื้อโควิด-19 เกิดภาวะวิกฤตเศรษฐกิจเป็นวงกว้าง สถานการณ์ปัจจุบันยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ และยังไม่สามารถแก้ไขเยียวยาได้เป็นรูปธรรม
ขณะที่ปัญหาสังคมและการเมืองยังยืดเยื้อ ฝังรากลึก และยังไม่ได้รับการแก้ไขอย่างมีประสิทธิภาพ เศรษฐกิจประเทศไทยกว่าร้อยละ 30.9 ของGDP อยู่ในภาคอุตสาหกรรม กระจุกตัวอยู่ในไม่กี่หมวดสินค้า ภาคส่งออกติดลบติดต่อกัน 3 ไตรมาสและมีแนวโน้มหดตัวต่อเนื่อง ภาวะหนี้ครัวเรือนสูงกว่าร้อยละ 90 ของGDP หนี้สาธารณะสูงกว่าร้อยละ 61 อาจกลายเป็นข้อจำกัดด้านการคลังและการบริหารประเทศในอนาคต
ส่วนภาคการเกษตร ประชากรกว่า 10 ล้านคน หรือ 1 ใน 3 ของกำลังแรงงาน อยู่ในภาคที่ทำงานหนัก แต่กลับสะท้อนออกมาเป็นมูลค่าเพียงร้อยละ 7 ต่อGDP ส่งผลให้เกษตรกรไทยมีหนี้สินเฉลี่ยครัวเรือนละ 3 แสนบาท ส่วนด้านการเมืองมีความเห็นต่าง แบ่งแยกทางความคิด ทำให้สังคมอยู่ในจุดน่ากังวล ข้อกฎหมายไม่ทันสถานการณ์บ้านเมือง ปัญหาทุจริต อาชญากรรม ยาเสพติดรุนแรงขึ้น ความท้าทายเหล่านี้ทำให้เกิดปัญหาความยากจน เหลื่อมล้ำ ทำให้ประเทศไทยขาดความพร้อมที่จะเติบโตได้อย่างเต็มศักยภาพ เกิดวิกฤตศรัทธาประชาชน กลายเป็นเป้าหมายของรัฐบาลนี้ต้องแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วน สร้างความพร้อม และวางรากฐานเพื่อสร้างอนาคตที่ดีกว่า
“รัฐบาลชุดนี้มีนโยบายพิทักษ์รักษาสถาบันพระมหากษัตริย์ สร้างความเข้าใจที่ถูกต้องและเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับการปฏิบัติพระราชกรณียกิจ รวมทั้งการดำเนินงานของประชาชนจิตอาสาพระราชทานอย่างต่อเนื่อง รัฐบาลมีกรอบนโยบายบริหารและพัฒนาประเทศตามกรอบความเร่งด่วน ได้แก่ กรอบระยะสั้น จะต้องกระตุ้นการใช้จ่าย จุดประกายให้เครื่องยนต์เศรษฐกิจกลับมาเติบโตอีกครั้ง เร่งแก้ปัญหาเฉพาะหน้าประชาชนอย่างรวดเร็ว ส่วนกรอบระยะกลางและระยะยาว จะเสริมขีดความสามารถให้ประชาชนผ่านการสร้างรายได้ ลดรายจ่าย สร้างโอกาส ลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น” นายเศรษฐา กล่าว
สรุปคำแถลงนโยบายของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ดังนี้
นโยบายกรอบระยะสั้น ได้แก่ กระตุ้นเศรษฐกิจเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet กระตุ้นเศรษฐกิจประเทศให้ตื่นขึ้นมาอีกครั้ง
นโยบายกรอบระยะกลาง-ยาว มีดังนี้
1. สร้างรายได้เปิดประตูการค้า เจรจา FTA ยกระดับ Passport ไทย
2. พัฒนาเศรษฐกิจใหม่ อุตสาหกรรมสีเขียว-เทคโนโลยีขั้นสูง ส่งเสริมสตาร์ทอัพ และลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งของประเทศ
3. สร้างรายได้เกษตรกรรม การประมง และปศุสัตว์ "ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้"
นโยบายเร่งด่วน มีดังนี้
1. แก้ปัญหาหนี้สิน พักหนี้เกษตรกร-ประดองภาระหนี้สิน SME ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19
2. ลดภาระค่าพลังงาน ไฟฟ้า-ก๊ซหุงตัม-น้ำมัน
3. เร่งสร้างรายได้จากการท่องเที่ยว
4. มีรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น หารือแนวทางในการทำประชามติที่ให้ประชาชนทุกภาคส่วนมีส่วนร่วม
5. ฟื้นฟูหลักนิติธรรมที่น่าเชื่อถือ
นโยบายสร้างและขยายโอกาส มีดังนี้
1. ประชาชนมีสิทธิในที่ดินพิจารณาเอกสารสิทธิให้เป็นโฉนด
2. เปลี่ยนรัฐที่เต็มไปด้วยกฎระเบียบให้เป็น "ผู้สนับสนุน"
3. ผลักดัน "รัฐบาลดิจิทัล"
4. ส่งเสริม 1 ครอบครัว 1 Soft Power ปฏิรูปการศึกษา ส่งเสริมงานวิจัยและการเรียนรู้ตลอดชีวิต
นโยบายสร้างคุณภาพชีวิต มีดังนี้
1. พัฒนาหน่วยงานความมั่นคง-กองทัพให้ทันสมัย เช่น เปลี่ยนรูปแบบการเกณฑ์ทหารเป็นแบบสมัครใจ และลดกำลังพลนายทหารชั้นสัญญาบัตรระดับสูง
2. ปราบปรามยาเสพติด/ยึดทรัพย์ผู้ผลิตและผู้ค้า/เปลี่ยนผู้เสพเป็นผู้ป่วย
3. ดูแลสิ่งแวดล้อม อากาศที่สะอาดสำหรับทุกคน
4. ยกระดับ 30 บาทรักษาทุกโรค
5. ดูแลคนทุกกลุ่มด้วย "สวัสดิการโดยรัฐ"
6. ผลักดันกฎหมายสนับสนุนสิทธิและความเท่าเทียม
อ่านคำแถลงฉบับเต็ม: https://www.thaigov.go.th/ebook/contents/detail/231#book/
ต่อมา เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ คำแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ที่แถลงต่อรัฐสภา ทั้งนี้คำแถลงนโยบายมีทั้งหมด 41 หน้า แบ่งเป็น 2 ส่วน ได้แก่ 1. คำแถลงนโยบายจำนวน 14 หน้า 2. ภาคผนวก ซึ่งเป็นตารางแสดงความสอดคล้องระหว่างนโยบายในการบริหารราชการแผ่นดินของคณะรัฐมนตรีกับหน้าที่ของรัฐและแนวนโยบายแห่งรัฐของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และยุทธศาสตร์ชาติ
อ่านราชกิจจาฯฉบับเต็ม https://ratchakitcha.soc.go.th/documents/140D221S0000000000100.pdf