‘ศาลปกครองกลาง’ พิพากษายกฟ้อง คดีบอร์ดแข่งขันทางการค้าฯ ไฟเขียวรวมธุรกิจ ‘ซีพี-โลตัส’ ชี้เป็นการออกคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว
...............................................
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 8 ก.ย. ศาลปกครองกลางนัดอ่านคำพิพากษาในคดีที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคกับพวก (ผู้ฟ้องคดี) ยื่นฟ้องคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1) และสำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2) กรณีมีคำวินิจฉัยอนุญาตให้รวมธุรกิจระหว่าง บริษัท ซี.พี.รีเทล ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด หรือ ซีพี และบริษัท โลตัสส์ สโตร์ส (ประเทศไทย) หรือ โลตัส
โดยศาลปกครองกลางพิพากษายกฟ้อง เนื่องจากศาลฯเห็นว่า คำสั่งคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า ที่ 93/2563 เรื่อง ผลการพิจารณาคำขออนุญาตรวมธุรกิจระหว่าง บริษัท ซี.พี.รีเทล ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด และบริษัท โลตัสส์ สโตร์ส (ประเทศไทย) จำกัด ลงวันที่ 6 พ.ย.2563 และคำวินิจฉัยของคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า กรณีผลการพิจารณาคำขออนุญาตธุรกิจระหว่าง บริษัท ซี.พี.รีเทล ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด และบริษัท โลตัสส์ สโตร์ส (ประเทศไทย) จำกัด ลงวันที่ 9 ธ.ค.2563 นั้น ชอบด้วยกฎหมายแล้ว
“...คดีนี้ ผู้ร้องสอดที่ 1 (บริษัท ซี.พี.รีเทล ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด) ได้เข้าซื้อหุ้นของผู้ร้องสอดที่ 2 (บริษัท โลตัสส์ สโตร์ส (ประเทศไทย) จำกัด) และ Tesco Store (Malaysia) Sdn Bhd ของประเทศมาเลเซีย เป็นหุ้นจำนวน 490,101 หุ้น คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 39.8 ของจำนวนหุ้นทั้งหมด และคิดเป็นสัดส่วนสิทธิออกเสียงร้อยละ 86.9 ของสิทธิออกเสียงทั้งหมด อันเป็นการรวมธุรกิจตามมาตรา 51 วรรคสี่ (4) แห่งพระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า พ.ศ.2560
โดยภายหลังการรวมธุรกิจ เซเว่น อีเลฟเว่น และเทสโก้ โลตัส เอ็กซ์เพรส จะมีส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 83.05 และกลายเป็นผู้ประกอบธุรกิจร้านค้าปลีกขนาดเล็กที่มีส่วนแบ่งตลาดสูงสุด รองลงมาคือกลุ่มเซ็นทรัล (แฟมิลี่มาร์ท และท็อปส์ เดลี่) และมินิบิ๊กซี มีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 4.79 และ 3.24 ตามลำดับ โดยส่วนแบ่งตลาดของผู้ประกอบธุรกิจ 3 รายแรกในตลาด (CR3) เท่ากับ 91.08
ดังนั้น ภายหลังการรวมธุรกิจในครั้งนี้ ตลาดร้านค้าปลีกขนาดเล็ก จะมีผู้ประกอบธุรกิจ ซึ่งมีอำนาจเหนือตลาดรายเดียว คือ เซเว่น อีเลฟเว่น และเทสโก้ โลตัส เอ็กซ์เพรส เนื่องจากกลุ่มเซ็นทรัล (แฟมิลี่มาร์ท และท็อปส์ เดลี่ และมินิบิ๊กซี มีส่วนแบ่งตลาดต่ำกว่าร้อยละ 10
และแม้ผู้ร้องสอดที่ 1 (บริษัท ซี.พี.รีเทล ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด) ไม่มีรายได้ในปีที่ผ่านมา แต่เมื่อพิจารณารายได้ของกลุ่มบริษัทในเครือเจริญโภคภัณฑ์ ที่มีสถานะเป็นเสมือนหน่วยธุรกิจเดียวกันกับผู้ร้องสอดที่ 1 ในส่วนที่มาจากตลาดร้านค้าปลึกสมัยใหม่ ซึ่งต้องนับรวมเป็นรายได้ของผู้ร้องสอดที่ 1 เกินหนึ่งพันล้านบาท ประกอบกับรายได้ของผู้ร้องสอดที่ 2 (บริษัท โลตัสส์ สโตร์ส (ประเทศไทย) จำกัด) เกินหนึ่งพันล้านบาท
ภายหลังการรวมธุรกิจ ผู้ร้องสอดทั้งสอง จึงเป็นผู้ประกอบธุรกิจซึ่งมีอำนาจเหนือตลาด ตามข้อ 3 (1) (2) ของประกาศคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า เรื่อง หลักเกณฑ์การเป็นผู้ประกอบธรกิจซึ่งมีอำนาจเหนือตลาด ดังนั้น ผู้ประกอบธุรกิจที่จะกระทำการรวมธุรกิจอันอาจก่อให้เกิดการเป็นผู้ประกอบธุรกิจซึ่งมีอำนาจเหนือตลาด ต้องได้รับอนุญาตจากผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า) ตามมาตรา 51 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า พ.ศ.2560
เมื่อปรากฎว่าผู้ร้องสอดทั้งสองได้ขออนุญาตรวมธุรกิจต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 โดยไม่ปรากฏข้อบกพร่อง และเป็นไปตามหลักเกณฑ์ของประกาศคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการขออนุญาตและการอนุญาตการรวมธุรกิจ พ.ศ.2561 และผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ได้อนุญาตให้รวมธุรกิจระหว่างผู้ร้องสอดทั้งสองและได้แจ้งผลตามประกาศคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าเรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการแจ้งผลการรวมธุรกิจ พ.ศ.2561 แล้ว
อีกทั้ง ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ได้พิจารณาหลักเกณฑ์ตามมาตรา 52 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า พ.ศ.2560 แล้ว กรรมการเสียงข้างมากเห็นว่า
(1) ความจำเป็นตามควรทางธุรกิจ เนื่องจากบริษัท เทสโก้ ประเทศอังกฤษ มีความต้องการขายกิจการของเทสโก้ โลตัส ในประเทศไทยโดยวิธีการเปิดประมูลให้กับผู้ประกอบธุรกิจที่มีความประสงค์จะซื้อกิจการจากผู้ขายด้วยการเข้าร่วมประมูลเพื่อซื้อกิจการ ผลปรากฏว่า มีผู้ประกอบธุรกิจในประเทศไทยรายใหญ่ 3 รายเข้าร่วมประมูลซื้อดังกล่าว และผู้ประกอบธุรกิจรายใหญ่ในประเทศไทยทั้ง 3 ราย ต่างก็มีธุรกิจที่เกี่ยวกับกิจการค้าส่งค้าปลีกสมัยใหม่ที่มีส่วนแบ่งตลาดสูงอยู่ในประเภทธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่อยู่แล้ว
(2) ประโยชน์ต่อการส่งเสริมการประกอบธุรกิจ ผู้ร้องสอดที่ 1 เป็นผู้ประกอบธุรกิจในประเทศไทยที่ชนะการประมูลด้วยมูลค่าการซื้อขายกิจการ ประมาณ 338,000 ล้านบาท การรวมธุรกิจในครั้งนี้ จึงสามารถสร้างรายได้ให้อยู่ในประเทศและเกิดประโยชน์ต่อระบบเศรษฐกิจมากกว่าการรวมธุรกิจจากผู้ประกอบธุรกิจในต่างประเทศ นอกจากนี้ ยังเป็นการรักษาช่องทางการจำหน่ายสินค้าภายในประเทศ และสามารถขยายการส่งออกสินค้าไทยไปสู่สาขาในต่างประเทศเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ
แต่การรวมธุรกิจดังกล่าวส่งผลให้ผู้ร้องสอดที่ 1 มีอำนาจเหนือตลาดมากขึ้น และมีโอกาสในการใช้อำนาจเหนือตลาดอย่างไม่เป็นธรรม อย่างไรก็ตาม การบังคับใช้พระราชบัญญัติการแข่งชันทางการค้า พ.ศ.2560 จะสามารถแก้ปัญหาผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นดังกล่าว
(3) การไม่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อเศรษฐกิจอย่างร้ายแรง การรวมธุรกิจในครั้งนี้ส่งผลให้ภาคการผลิตและธุรกิจค้าปลีกมีการขยายตัวเพิ่มมากขึ้น และไม่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อเศรษฐกิจอย่างร้ายแรง เพราะไม่เกิดการเลิกจ้างงานในธุรกิจค้าปลีกค้าส่ง ซึ่งมีมูลค่าถึงร้อยละ 50 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติของประเทศ และยังคงมีการจ้างงานทั้งห่วงโซ่อุตสาหกรรมขนาดเล็ก กลาง และใหญ่ ถึง 1.1 ล้านคน ทำให้การผลิตไม่หยุดชะงัก ไม่ซ้ำเติมสภาพเศรษฐกิจที่ตกต่ำอยู่แล้ว ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
แต่การรวมธุรกิจส่งผลให้ภาพรวมของตลาดร้านค้าปลีกสมัยใหม่ สินค้าอุปโภคบริโภค และตลาดร้านค้าปลีกสมัยใหม่สินค้าอุปโภคบริโภคประเภทร้านค้าปลีกขนาดเล็กมีการกระจุกตัวเพิ่มสูงยิ่งขึ้น อาจก่อให้เกิดการลดการแข่งขันอย่างมีนัยสำคัญ ส่งผลให้ผู้ร้องสอดที่ 1 มีความได้เปรียบต่อการแข่งขันมากว่าคู่แข่งรายอื่น และมีโอกาสในการใช้อำนาจต่อรองหรือสร้างแรงกดดันในการซื้อสินค้าจากผู้ผลิตและผู้จำหน่ายสินค้าหรือวัตถุดิบมากยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ มีความจำเป็นต้องกำหนดมาตรการเพื่อลดหรือเยียวยาผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นต่อการแข่งขันในตลาด ร้านค้าปลีกค้าส่งสมัยใหม่สินค้าอุปโภคบริโภคภายหลังการรวมธุรกิจ
(4) การไม่กระทบต่อประโยชน์สำคัญอันควรมีควรได้ของผู้บริโภคส่วนรวม การรวมธุรกิจระหว่างเซเว่น อีเลฟเว่น และเทสโก้ โลตัส เอ็กซ์เพรส ซึ่งเป็นผู้ประกอบธุรกิจร้านค้าปลีกขนาดเล็กที่มีจำนวนสาขามากที่สุดสองอันดับแรก ย่อมส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพการแข่งขันที่ลดลง เนื่องจากภายหลังการรวมธุรกิจส่งผลให้ผู้ประกอบธุรกิจในตลาดมีจำนวนลดลงและทำให้ผู้ประกอบธุรกิจรายใหญ่อย่างเซเว่น อีเลฟเว่น มีจำนวนสาขาของร้านค้าปลีกขนาดเล็กมากยิ่งขึ้นและครองส่วนแบ่งตลาดกว่าร้อยละ 83.5 อันเป็นผลให้ผู้บริโภคมีทางเลือกในการซื้อสินค้าที่น้อยลง
อย่างไรก็ตาม ธุรกิจร้านค้าปลีกขนาดเล็ก เป็นธุรกิจที่มีอุปสรรคในการเข้าสู่ตลาดต่ำ เนื่องจากไม่มีกฎหมายหรือระเบียบรัฐที่เป็นข้อจำกัด อีกทั้งต้นทุนในการประกอบธุรกิจต่ำกว่าร้านค้าปลีกประเภทอื่น นอกจากนี้ ปัจจุบันร้านค้าปลีกสมัยใหม่ในประเทศไทยรองรับประชากรต่อ 1 สาขา มากกว่าร้านค้าปลีกในประเทศอื่น เช่น มากกว่าเกาหลีและญี่ปุ่นถึง 4 เท่า ดังนั้น ร้านค้าปลีกสมัยใหม่ในไทยจึงยังคงมีความสามารถในการแข่งขันและมีโอกาสในการขยายสาขาเพิ่มขึ้นอีกมาก
นอกจากนั้น ผู้บริโภคยังมีทางเลือกในการเลือกซื้อสินค้าจากร้านค้าปลีกขนาดเล็กรายอื่นที่สามารถขยายสาขาได้ รวมทั้งยังสามารถซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ซึ่งมีอัตราการขยายตัวเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
จึงสรุปได้ว่า การรวมธุรกิจมีผลกระทบต่อประโยชน์สำคัญอันควรมีควรได้ของผู้บริโภคส่วนรวมเล็กน้อย อาศัยเหตุดังกล่าวข้างต้น ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า) จึงวินิจฉัยเห็นควรอนุญาตให้รวมธุรกิจ โดยกำหนดระยะเวลาและเงื่อนไขที่ต้องดำเนินการประกอบการอนุญาตรวมธุรกิจ
กรณีจึงเห็นได้ว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า) ได้พิจารณาคำขออนุญาตรวมธุรกิจระหว่างผู้ร้องสอดที่ 1 (บริษัท ซี.พี.รีเทล ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด) และผู้ร้องสอดที่ 2 (บริษัท โลตัสส์ สโตร์ส (ประเทศไทย) จำกัด) โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 17 (15) มาตรา 19 วรรคสาม มาตรา 51 วรรคสอง และมาตรา 52 วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า พ.ศ.2560
ประกอบกับประกาศคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการขออนุญาตและการอนุญาตการรวมธุรกิจ พ.ศ.2561 โดยได้ใช้ดุลพินิจและพิจารณาภายใต้ข้อเท็จจริงเหตุผล หลักเกณฑ์ วิธีการ และข้อกฎหมายดังกล่าวแล้ว
อีกทั้งการพิจารณาคำขออนุญาตรวมธุรกิจเป็นการใช้ดุลพินิจโดยแท้ของฝ่ายปกครอง ซึ่งเป็นคณะกรรมการที่ประกอบไปด้วย ผู้ที่มีผลงานหรือเคยปฏิบัติงานที่แสดงให้เห็นถึงการเป็นผู้มีความรู้และความเชี่ยวชาญหรือมีประสบการณ์ไม่น้อยกว่าสิบปี ในสาขานิติศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ การเงิน การบัญชี อุตสาหกรรม การบริหารธุรกิจ การคุ้มครองผู้บริโภค หรือสาขาอื่นที่เกี่ยวข้องตามมาตรา 8 แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน โดยอาศัยความรู้ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านของฝ่ายปกครองผู้มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย ศาลจึงไม่อาจตรวจสอบอำนาจการใช้ดุลพินิจโดยแท้ของฝ่ายปกครองได้
และเมื่อไม่ปรากฎเหตุอื่นใด อันทำให้คำสั่งพิพาทไม่ชอบด้วยกฎหมาย คำสั่งคณะกรรมการการแช่งขันทางการค้า ที่ 93/2563 เรื่อง ผลการพิจารณาคำขออนุญาตรวมธุรกิจระหว่างบริษัท ซี.พี. รีเทล ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด และบริษัท เทสโก้ สโตร์ส (ประเทศไทย) จำกัด ลงวันที่ 6 พฤศจิกายน 2563 จึงชอบด้วยกฎหมาย
และเมื่อได้วินิจฉัยมาแล้วว่าคำสั่งพิพาทเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว ดังนั้น คำวินิจฉัยคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า กรณีผลการพิจารณาคำขออนุญาตรวมธุรกิจ ระหว่างบริษัท ซี.พี. รีเทล ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด และบริษัท เทสโก้ สโตร์ส (ประเทศไทย) จำกัด ลงวันที่ 9 ธันวาคม 2563
ที่จัดทำขึ้นสืบเนื่องมาจากการประชุม (วาระลับ) คณะกรรมการการแข่งชันทางการค้า ครั้งที่ 43/2563 โดยอาศัยข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายอย่างเดียวกันกับคำสั่งพิพาท เพื่อให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 เผยแพร่ผลคำวินิจฉัยของคณะกรรมการต่อสาธารณชน ตามมาตรา 29 (12) แห่งพระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า พ.ศ.2560 จึงชอบด้วยกฎหมายเช่นเดียวกัน…” คำพิพากษาศาลปกครองกลาง คดีหมายเลขดำที่ 434 ,244/2564 คดีหมายเลขแดงที่ 1617-1618/2566 ลงวันที่ 8 ก.ย.2566 ระบุ