‘ออมสิน’ ใช้เกณฑ์ ‘ESG Score’ ประกอบการพิจารณาปล่อยกู้ลูกค้า หากผ่านเกณฑ์มีสิทธิได้ส่วนลดดอกเบี้ย-ให้วงเงินกู้เพิ่มเติมเป็นกรณีพิเศษ ยุติปล่อยสินเชื่อ ‘ธุรกิจถ่านหิน’ ตั้งแต่ปีนี้ พร้อมตั้งเป้าปี 2050 ลดก๊าซเรือนกระจก 1.72 ล้านตัน
.......................................
นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า ขณะนี้ธนาคารออมสินได้เริ่มใช้ ESG Score ในการประเมินคุณสมบัติด้าน ESG ของลูกค้าธนาคารฯแล้ว โดยผลคะแนน ESG Score ดังกล่าว จะถูกนำมาใช้ประกอบการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อ และพิจารณาให้ส่วนลดดอกเบี้ย และ/หรืออนุมัติเพิ่มวงเงินสินเชื่อให้กับลูกค้าเป็นพิเศษ เพื่อเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนกิจการที่ดีและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
ทั้งนี้ การนำ ESG Score ในการประเมินคุณสมบัติด้าน ESG ของลูกค้าฯนั้น จะเริ่มนำร่องจากลูกค้ารายใหญ่หรือลูกค้ามีวงเงินสินเชื่อ 500 ล้านบาทขึ้นไปก่อน จากนั้นจะขยายไปยังลูกค้ากลุ่มอื่นๆต่อไป
“สิ่งที่เราประกาศในวันนี้ เรานำสถาบันการเงินเฉพาะกิจ (SFI) ทั้งหมดไปแล้ว และถ้าเทียบกับแบงก์พาณิชย์ที่ประกาศก่อนเรา เราน่าจะอยู่อันดับต้นๆ บางองค์กรประเมินธุรกิจบางส่วน กี่เปอร์เซ็นต์ของธุรกิจว่ามีคาร์บอนกี่ตัน แต่เราประเมินทั้งแบงก์ว่า คาร์บอนต้องเป็นศูนย์ (Net Zero) หรือลดก๊าซเรือนกระจกให้ได้ในปริมาณ 1.72 ล้านตันในปี 2050 และเราเองเป็นธนาคารแห่งแรกที่ริเริ่มนำเอา ESG Score มาใช้ประกอบการพิจารณาให้สินเชื่อเงื่อนไขพิเศษ”นายวิทัย ย้ำ
นายวิทัย กล่าวต่อว่า ธนาคารฯได้จัดกลุ่มธุรกิจที่จะสนับสนุนสินเชื่อและการลงทุนออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่
กลุ่มแรก กลุ่ม Exclusion List หรือธุรกิจที่ไม่สนับสนุนหรือไม่ยุ่งเกี่ยวเลย เนื่องจากเป็นธุรกิจที่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมสูง โดยธนาคารได้กำหนดแผนงดการปล่อยสินเชื่อแก่ธุรกิจเชื้อเพลิงถ่านหินและธุรกิจเกี่ยวเนื่อง (No Coal and Coal Related Business) โดยธนาคารจะยุติการปล่อยสินเชื่อใหม่ให้กับธุรกิจเชื้อเพลิงถ่านหินนับตั้งแต่ปีนี้เป็นต้นไป และภายใน 7 ปีข้างหน้าหรือปี 2030 ธนาคารจะไม่มีพอร์ตสินเชื่อหรือเงินลงทุนในธุรกิจเชื้อเพลิงถ่านหินเหลืออยู่อีก
กลุ่มที่สอง กลุ่ม Negative List หรือ ธุรกิจที่ต้องพิจารณาเป็นพิเศษ โดยหลีกเลี่ยงการให้สินเชื่อแก่ธุรกิจที่มีคะแนน ESG Score ในระดับต่ำมากหรือน้อยกว่า 2 คะแนน โดยธนาคารจะเข้าทำ Positive Engagement กับลูกค้าเพื่อช่วยเหลือ และให้คำปรึกษาในการปรับปรุงดำเนินงานด้านความยั่งยืน รวมทั้งด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งจะช่วยส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนทั้งระบบ
กลุ่มที่สาม กลุ่ม Positive List หรือ ธุรกิจที่ให้การสนับสนุนเป็นพิเศษ ผ่านการกำหนดสิทธิประโยชน์แก่ธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น ธุรกิจในอุตสาหกรรมที่ส่งเสริม BCG (Bio-Circular-Green) ธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานสะอาด .ธุรกิจเกี่ยวกับรถยนต์รถไฟฟ้า (EV) และ Supply Chain หรือกิจการบริษัทที่มีคะแนน ESG Score ในระดับสูง เป็นต้น โดยการให้สินเชื่อในอัตราดอกเบี้ยพิเศษและให้สินเชื่อเพิ่มขึ้นเป็นกรณีพิเศษ
นายวิทัย ระบุว่า ธนาคารฯยังมีมาตรการสนับสนุนลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอื่นๆ และโครงการเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม อาทิ การเปลี่ยนมาใช้พลังงานสะอาดโดยติดตั้ง Solar Rooftop ภายในสำนักงานใหญ่และสาขาไม่น้อยกว่า 900 แห่งในปี 2568 การผลักดันการเปลี่ยนรถยนต์สันดาปเป็นรถยนต์ EV และติดตั้งจุดชาร์จรถยนต์ EV ในกรุงเทพฯให้ได้ 100% ภายใน 3 ปี และต่างจังหวัดภายใน 5 ปี รวมทั้งการปลูกป่าทดแทนป่าเสื่อมโทรมและการอนุรักษ์ป่า เป็นต้น
นายวิทัย กล่าวด้วยว่า การใช้ ESG Score มาประเมินคุณสมบัติด้าน ESG ของลูกค้าของธนาคารออมสินดังกล่าว เป็นไปตามแผนลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions Roadmap) ที่คณะกรรมการธนาคารออมสินได้มีมติอนุมัติๆไปเมื่อเร็วๆนี้
โดยในอีก 7 ปีข้างหน้า หรือในปี 2030 ธนาคารออมสินตั้งเป้า Net Zero สำหรับ Scope 1 (การปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางตรงจากการใช้น้ำมัน/LPG) และ Scope 2 (การปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางอ้อมที่เกิดจากการใช้ไฟฟ้า) หรือลดก๊าซเรือนกระจกในภาพรวมลงได้มากกว่า 50% ขณะที่ในปี 2050 ตั้งเป้า Net Zero สำหรับ Scope 3 (การปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางอ้อมที่เกิดขึ้นจากการให้ สินเชื่อหรือลงทุน) หรือรวมแล้วลดก๊าซเรือนกระจกในปริมาณ 1.72 ล้านตัน (CO2e)
“ในปี 2030 เราจะไม่มีสินเชื่อธุรกิจถ่านหินอยู่ในพอร์ตเหลืออยู่ ถ้ายังมีจะต้องขายออกไปให้หมด ในขณะที่ 35% ของสินเชื่อโครงการโรงไฟฟ้าทั้งหมด จะต้องเป็นโรงไฟฟ้าพลังงานสะอาด นอกจากนี้ 40% ของสินเชื่อที่ปล่อยให้กับลูกค้าบริษัทจดทะเบียนขนาดใหญ่ ,สินเชื่ออินฟราสตรัคเจอร์ ,สินเชื่อ Syndicated Loan และสินเชื่อสำหรับบริษัทที่มีเครดิตเรตติ้งสูง จะต้องกำหนดเป้าหมายเป็น Net Zero ในปี 2050 รวมทั้งต้องอนุรักษ์ป่าให้ได้ 5 หมื่นไร่ เป็นต้น” นายวิทัย กล่าว