ศาลปกครองสูงสุดยืนไม่รับคำฟ้อง 'หมอสมิทธิ์-ส.ส.ฝ่ายค้านเดิม' ร้องถอดประกาศปลดล็อก'กัญชา' ชี้ไม่ใช่ผู้เสียหาย-ผลกระทบแค่คาดการณ์
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2566 ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งยืนตามคำสั่งของศาลปกครองชั้นต้น ไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณา และให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ ในคดีที่นายสมิทธิ์ ศรีสนธิ์ กรรมการแพทย์สภาและนายกสมาคมแพทย์นิติเวชแห่งประเทศไทย พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง นายสุทิน คลังแสง นายณัฐวุฒิ บัวประทุม นายวิรัตน์ วรศสิริน นายนิคม บุญวิเศษ ส.ส.ฝ่ายค้านในขณะนั้น ฟ้องว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กับพวกรวม 2 คน กระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย กรณี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 พ.ศ. 2565 ซึ่งประกาศให้พืชกัญชาไม่เป็นยาเสพติดให้โทษอีกต่อไป
โดยศาลเห็นว่า เห็นว่าที่ผู้ฟ้องคดีอ้างว่าว่าไม่อาจทำหน้าที่ตามที่ กฎหมายเคยให้อำนาจไว้ได้ดังเดิมนั้น เป็นผลกระทบเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ฟ้องคดีที่ 1ในฐานะที่เป็นแพทย์ในการควบคุมการใช้กัญชาที่อาจต้องเปลี่ยนแปลงไป แต่ไม่ได้มีผลกระทบ ต่อสิทธิหรือหน้าที่ของผู้ฟ้องคดีที่ 1ในฐานะที่เป็นบุคคลเป็นการเฉพาะตัว หรือทำให้กูฟ้องคดีที่ 1ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายโดยตรง
ส่วนที่ผู้ฟ้องคดีทั้งหมดอ้างว่าประกาศที่พิพาท จะมีผลทำให้ภาระงานของผู้ฟ้องคดีที่ 1และแพทย์คนอื่น ๆ เพิ่มมากขึ้น ก็เป็นเพียงการ คาดคะเนเท่านั้น ยังไม่แน่นอนว่าจะเกิดขึ้นหรือไม่ ทั้งภาระงานของแพทย์ จะมีมากน้อยเพียงใดย่อมขึ้นอยู่กับปริมาณงานและจำนวนบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงปัจจัยอื่น ที่เกี่ยวข้อง
และที่อ้างว่า ก่อนการออกประกาศดังกล่าวไม่ได้มีการ กําหนดมาตรการหรือกลไกใด ๆ ในการคุ้มครองประชาชนผู้บริโภค ไม่ว่าจะเป็นด้านการรับรู้ ข้อมูลที่เป็นจริง ด้านความปลอดภัย หรือด้านอื่นใด และภายหลังจากที่ประกาศนั้นมีผลใช้บังคับแล้ว ก็ไม่ได้มีการกำกับดูแลหรือควบคุม ส่งผลให้เกิดการนำกัญชาไปใช้ในรูปแบบที่หลากหลาย นอกจากใช้ในทางการแพทย์ มีการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของกัญชาอย่างแพร่หลายในท้องตลาด และมีแนวโน้มในการใช้กัญชาเพื่อนันทนาการเพิ่มมากขึ้น นั้น ก็เป็นปัญหาที่อาจ เกิดขึ้นหลังจากที่ประกาศที่พิพาทมีผลใช้บังคับแล้ว ความเดือดร้อนหรือเสียหายที่อ้างนั้นจึงเป็นปัญหาที่เกิดจากการบังคับใช้กฎหมายภายหลังจากที่ประกาศนั้นมีผลบังคับใช้ ไม่ใช่ความเดือดร้อนหรือเสียหายที่เกิดจากตัวประกาศนั้นเอง
ซึ่งผู้ฟ้องคดีทั้งหมดก็ไม่ได้คัดค้าน การนำกัญชามาใช้ และยอมรับในอุทธรณ์ว่าฤทธิ์ของกัญชามีทั้งโทษและคุณประโยชน์ แต่ควรใช้ เพื่อประโยชน์ในทางการแพทย์โดยความควบคุมดูแลของแพทย์ หรือการศึกษาวิจัย ดังนั้นผู้ฟ้องคดีที่ 1 จึงไม่ได้เป็นผู้ได้รับความเดือดร้อนเสียหายหรืออาจจะเดือดร้อนหรือเสียหายโดยไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ จากการออกประกาศกระทรวงที่พิพาท ที่จะเป็นผู้มีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลปกครองได้ ตามมาตรา 42 วรรคหนึ่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542
ส่วนที่ผู้ฟ้องคดีที่ 2 - 6 อ้างว่า ฟ้องในฐานะประชาชนชาวไทยผู้ได้รับผลกระทบจากบริการสาธารณสุขของรัฐ แต่ผลบังคับของประกาศที่พิพาทก็ไม่ได้ทำให้ผู้ฟ้องคดีที่2-6 ไม่ได้รับ บริการสาธารณสุขหรือทำให้คุณภาพของบริการดังกล่าวลดลง หรือต้องรับภาระในการเสียภาษี มากขึ้น ประกาศดังกล่าวจึงไม่ได้มีผลกระทบโดยตรงต่อผู้ฟ้องคดีที่2-6 ในฐานะ ประชาชนชาวไทย ทั้งในฐานะส่วนตัวหรือในฐานะผู้เสียภาษี อีกทั้งความกังวลที่ว่าประกาศดังกล่าวอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนหรือต่อเยาวชน ที่อาจบริโภคในสถานศึกษา นั้น ก็ยังไม่ใช่ผลกระทบที่มีลักษณะแน่นอน และไม่ได้ส่งผลให้เกิด ความเดือดร้อนหรือเสียหายแก่ผู้ฟ้องคดีที่ 2-6 เป็นการเฉพาะตัว แต่เป็นผลกระทบ ต่อสุขภาพของประชาชนหรือเยาวชนในภาพรวม ส่วนการที่ผู้ฟ้องคดีที่2-6 อ้างว่าเป็นผู้ที่มีความใกล้ชิดกับประชาชนในพื้นที่ และเป็นตัวกลางในการเชื่อมโยงระหว่างภาครัฐ กับภาคประชาชน และต้องฟ้องคดีแทนประชาชนนั้น ก็ไม่ได้ทำให้ผู้ฟ้องคดีที่ 2-6เป็นผู้ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายโดยตรงตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ หรือทำให้เกิดสิทธิ ในการฟ้องคดีแทนประชาชนได้ จึงถือไม่ได้ว่าผู้ฟ้องคดีที่ 2-6 เป็นบุคคล ผู้ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายหรืออาจจะเดือดร้อนหรือเสียหายโดยมิอาจหลีกเลี่ยงได้ จากการออกประกาศนั้น ที่จะมีสิทธินำคดีมาฟ้องต่อศาลปกครองได้ ตามมาตรา 42 วรรคหนึ่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง 2542