อธิบดีกรมการจัดหางานยืนยันโครงการจ้างเหมาเอกชนผลิตใบอนุญาตทำงานแรงงานข้ามชาติ 7.9 พันล้าน โปร่งใส เป็นไปตามพ.ร.บ. จัดซื้อจัดจ้างภาครัฐทุกประการ หลัง 'ศรีสุวรรณ จรรยา' โพสต์เฟซ ไม่ยื่นสอบแล้ว อ้างได้รับหลักฐานน่าเชื่อถือ
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 1 ก.ย. 2566 นายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน เปิดเผยว่า จากกรณีนายศรีสุวรรณ จรรยา ผู้นำองค์กรรักชาติ รักแผ่นดิน เตรียมนำความไปร้องเรียนต่อปลัดกระทรวงแรงงาน เพื่อขอให้ตั้งกรรมการสอบกรมการจัดหางาน เกี่ยวกับโครงการจ้างเหมาเอกชนผลิตใบอนุญาตทำงาน และให้บริการรับคำขอและการแจ้งการทำงานของคนต่างด้าว (Outsourcing Service) ว่ามีความไม่โปร่งใส นั้น กรมการจัดหางานขอยืนยันว่าทุกกระบวนการเป็นไปตามกฎหมาย และตามพรบ. การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 ทุกประการ ทั้งก่อนเริ่มโครงการ ขั้นตอนจัดทำร่างขอบเขตของงาน (Terms of Reference) และกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง ดังนี้
1.กรมการจัดหางานได้ว่าจ้างที่ปรึกษา เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ ความคุ้มค่า การดำเนินงานของโครงการและนำผลการศึกษามากำหนดรูปแบบ วิธีการ ขนาดของโครงการ แหล่งเงินงบประมาณที่ใช้ดำเนินการมีความเหมาะสม คุ้มค่าเมื่อเทียบระหว่างภาครัฐกับภาคเอกชน จนได้รับการพิจารณาอนุญาตจากกรมบัญชีกลาง และยังเข้าร่วมโครงการจัดทำข้อตกลงคุณธรรม (Integrity Pact) ประจำปี พ.ศ.2565 เพื่อให้เกิดความโปร่งใสในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วมในการสังเกตการณ์
2. การจัดทำร่างขอบเขตของงาน (Terms of Reference) ได้เชิญผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญของกระทรวงแรงงาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุมหารือมากกว่า 10 ครั้ง และมีผู้สังเกตุการณ์ในโครงการจากองค์กรต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันเข้าร่วมประชุมทุกครั้ง เพื่อให้การจัดทำรายละเอียดคุณลักษณะเฉพาะฯ เปิดกว้างในการแข่งขัน ไม่เอื้อประโยชน์ให้แก่ผลิตภัณฑ์ใดผลิตภัณฑ์หนึ่ง มีการสืบราคาจากบริษัทฯ ที่มีศักยภาพ และผลงานเป็นที่ยอมรับ จนได้ราคาต่ำที่สุดที่สามารถดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างได้
3. กระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง ใช้วิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) และได้นำร่างประกาศและเอกสารประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์และร่างขอบเขตของงานเผยแพร่ทางเว็บไซต์ของส่วนราชการ และเว็บไซต์ของกรมบัญชีกลาง เพื่อให้สาธารณชนมีโอกาสเสนอแนะ
4. กรมการจัดหางานได้รับอนุญาตให้ใช้จ่ายเงินจากกองทุนเพื่อการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว เพื่อจ้างเอกชนดำเนินการตามโครงการฯเป็นระยะเวลา 10 ปี หรือ 15 ล้านใบอนุญาตทำงาน ในวงเงิน 7,950 ล้านบาท และเอกชนจะเป็นผู้ลงทุนในโครงการทั้งหมด ส่วนกรมการจัดหางานจะจ่ายค่าจ้างเมื่อได้รับมอบใบอนุญาตทำงานจากเอกชนผู้รับจ้างแล้วเท่านั้น
“กรมการจัดหางานคำนึงถึงการใช้งบประมาณให้เกิดความคุ้มค่าสูงสุด มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล โปร่งใส สามารถตรวจสอบได้ และกรมฯได้ส่งเอกสารหลักฐานชี้แจงต่อองค์กรรักชาติ รักแผ่นดิน เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องเรียบร้อยแล้ว” อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าว
ทั้งนี้การชี้แจงของนายไพโรจน์นั้น มาจากการที่นายศรีสุวรรณ จรรยา ประกาศลงเฟซบุ๊ก ศรีสุวรรณ จรรยา เมื่อวันที่ 31 ส.ค. 2566 ว่า ในวันที่ 1 ก.ย. 2566 จะยื่นร้องปลัดแรงงานให้สอบอธิบดีกรมจัดฯพบพิรุธงานจ้างเอกชนผลิตใบอนุญาตต่างด้าว 7,900 ล้าน ภายหลังโพสต์ดังกล่าวหายไปจากเฟซบุ๊กของนายศรีสุวรรณ
ล่าสุดวันที่ 1 ก.ย. 2566 นายศรีสุวรรณได้ประกาศลงเฟซบุ๊กศรีสุวรรณ จรรยา ว่าจะยกเลิกการยื่นร้องเรื่องดังกล่าว มีรายละเอียด ดังนี้
ศรีสุวรรณระงับการยื่นตรวจสอบกรมจัดฯเหตุมีหลักฐานแย้งที่น่าเชื่อถือ
นายศรีสุวรรณ จรรยา ผู้นำองค์กรรักชาติ รักแผ่นดิน เปิดเผยว่า องค์กรฯได้รับเอกสารหลักฐานการชี้แจงจากอธิบดีกรมการจัดหางาน ก.แรงงานในกรณีโครงการจัดทำบัตรคนต่างด้าว 15 ล้านใบแล้ว สามารถรับฟังได้และมีน้ำหนักน่าเชื่อถือได้ในระดับหนึ่ง ซึ่งเป็นข้อมูลที่สามารถหักล้างข้อมูลเดิมที่องค์กรฯมี ดังนั้นเพื่อให้ความเป็นธรรมต่อผู้ถูกตรวจสอบ องค์กรรักชาติ รักแผ่นดิน จึงต้องระงับการยื่นร้องเรียนให้ตรวจสอบในกรณีนี้ต่อปลัดกระทรวงแรงงานในวันนี้ไว้พรางก่อน อีกทั้งเรื่องดังกล่าวได้มีการร้องเรียนและตรวจสอบของ ป.ป.ช.อยู่ในขณะนี้แล้วด้วย จึงเรียนแจ้งต่อสาธารณะเพื่อทราบ นายศรีสุวรรณกล่าว