'สถาบันวิเทศสัมพันธ์แห่งออสเตรเลีย' ชี้ เพื่อไทย จับมือ รวมไทยสร้างชาติ เป็นข้อบ่งชี้ อาเซียนมุ่งหน้าสู่ 'ลัทธิอำนาจนิยม' มากขึ้น ย้ำไม่ใช่ปรากฏการณ์ใหม่ เพราะฟิลิปปินส์-อินโดฯก็มีเลือกตั้ง แต่สิทธิพลเมืองถดถอย คาดหากก้าวไกลเป็น รบ.อาจกดดันเมียนมาได้ดีกว่านี้
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานข่าวบทวิเคราะห์จากสถาบันวิเทศสัมพันธ์แห่งออสเตรเลีย ที่วิเคราะห์กรณีพรรคเพื่อไทยสามารถจับมือจัดตั้งรัฐบาลกับพรรครวมไทยสร้างชาติซึ่งได้รับการสนับสนุนจากกองทัพได้เป็นผลสำเร็จ สิ่งนี้เป็นข้อบ่งชี้ว่าประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรือว่าอาเซียน กำลังเข้าไปสู่ทิศทางของความเป็นลัทธิอำนาจนิยมมากขึ้น และนอกจากนี้ยังเป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเลยว่าสถาบันที่มีลักษณะของความเป็นเผด็จการมีความทนทานอย่างยิ่ง อันจะส่งผลทำให้การเลือกตั้งในภูมิภาคนี้ไม่สามารถจะพัฒนาประชาธิปไตยได้
สถาบันฯออสเตรเลียระบุด้วยว่าในวันที่ 22 ส.ค. ซึ่งนายเศรษฐา ทวีสิน ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นนายกรัฐมนตรี นั้นเป็นวันเดียวกับ พล.อ.ฮูน มาเนต ได้รับตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีกัมพูชา ต่อจากนายฮุน เซน พ่อของเขา โดยสิ่งนี้ถือว่าเป็น “ความบังเอิญอันเป็นเอกลักษณ์” อย่างไรก็ตาม สำหรับฝ่ายที่สนับสนุนประชาธิปไตย ในภูมิภาค การเลือกตั้งเหล่านี้ไม่ได้เป็นสิ่งบ่งบอกถึงประชาธิปไตย แต่ในทางกลับกัน การเลือกตั้งกลับกลายเป็นเหมือนกับตัวแทนของการเสริมสมรรถนะของสถาบันเผด็จการต่างๆที่มีลักษณะทนทานเป็นอย่างยิ่ง
สถาบันฯออสเตรเลียระบุต่อไปว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในไทยและในกัมพูชาไม่ใช่ปรากฎการณ์ใหม่ในอาเซียนแต่อย่างใด เพราะว่าฟิลิปปินส์และอินโดนีเซีย ซึ่งจัดการเลือกตั้งเป็นประจำนับตั้งแต่การเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตย แต่ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา สิทธิพลเมืองในทั้งสองประเทศนี้ก็ลดลงเป็นอย่างยิ่ง ทั้งเรื่องสงครามยาเสพติดอันอื้อฉาวของอดีตประธานาธิบดีโรดริโก ดูเตอร์เตของฟิลิปปินส์ และปัญหาเรื่องการปราบปรามฝ่ายเห็นต่าง และการกระจุกตัวของอำนาจภายใต้การบริหารงานของประธานาธิบดีโจโค วิโดโด้ ของอินโดนีเซีย
สถาบันฯออสเตรเลียระบุทิ้งท้ายว่าปัญหาของการที่อาเซียนมุ่งไปสู่ทิศทางของความเป็นลัทธิอำนาจนิยมที่ว่ามานี้ ก็คือการขาดประสิทธิภาพในการกดดันในเมียนมาได้ดำเนินการตามฉันทามติห้าข้อที่ทางประธานาธิบดีอินโดนีเซียได้ออกมายอมรับว่าไม่มีความคืบหน้าเท่าที่ควร ซึ่งสำหรับประเทศไทยแล้ว ถ้าหากพรรคก้าวไกลได้มีโอกาสจัดตั้งรัฐบาล เราอาจจะได้เห็นแรงกดดันที่มีต่อเมียนมามากขึ้น อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการเลือกตั้งในภูมิภาคอาเซียนอาจจะไม่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระบอบประชาธิปไตย แต่เสียงของคนรุ่นใหม่ที่เป็นหัวก้าวหน้าและต้องการจะมีส่วนร่วมไม่น่าจะเงียบหายไปโดยง่ายนัก