นายก อบต.สาคู แจงปม นอภ.สั่งสอบปัญหาสร้างอาคาร 15 หลังไม่ได้รับอนุญาตรอบสนามบินภูเก็ต เตรียมทำหนังสือสอบถามว่าส่วนไหนเป็นพื้นที่กรมป่าไม้ รับ กฎหมายปี 65 ระบุชัด อบต.ไม่มีอำนาจดูแลเพราะกรมป่าไม้เป็นเจ้าของพื้นที่ ถามกลับทำไมไม่ดูเรื่องวิทยาลัยเทคนิคถลาง เพราะพื้นที่ยังไม่ชัดแต่มีการล้มต้นไม้โดยไม่มีใบอนุญาต
สืบเนื่องจากที่สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ได้นำเสนอข่าวกรณี นายบัญชา ธนูอินทร์ นายอำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต ได้ทำหนังสือถึง นายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) เทพกระษัตรี และนายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) สาคู แจ้งให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงและดำเนินการตามอำหน้าที่ปัญหาการก่อสร้างอาคารโดยไม่ได้รับอนุญาตจำนวนกว่า 49 หลัง ในบริเวณพื้นที่ภูเขาสูงชันและพื้นที่ราบ รอบสนามบินนานาชาติภูเก็ต พร้อมแจ้งผลการตรวจสอบภายใน 30 วัน
ระบุว่า "ด้วยอำเภอถลาง ได้รับหนังสือจากเครือข่ายอนุรักษ์ทรัพยากรชายฝั่งทะเลอาวไทย - อันตามัน ได้รับข้อมูลทางลับจากนักอนุรักษ์พื้นที่ ที่เป็นสมาชิกเครือข่ายในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต ว่าเกิดปรากฎการณ์น้ำท่วมสนามบินนานาชาติภูเก็ต อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต เมื่อปีที่ผ่านมา ส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์การเป็นเมืองท่องเที่ยวระดับโลก อย่างรุนแรง และไม่เคยเกิดเหตุการณ์รุนแรงเช่นนี้มาก่อน ซึ่งเครือข่ายได้ตรวจสอบสำรวจพบว่าพื้นที่ สนามบินนานาชาติภูเก็ต รายล้อมภูเขาหลายลูกและพื้นที่ภูเขาสูงชันและพื้นราบมีการก่อสร้างอาคาร โดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่นตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร ปี พ.ศ.2522 แก้ไข พ.ศ.2535 ซึ่งเป็นผลต่อเนื่องจากการละเลยการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องหรือไม่ประการใด มิทราบ
แต่เนื่องจากการละเลยละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานท้องถิ่น ได้เกิดผลกระทบที่เห็นเป็นประจักษ์โดยกายภาพแล้ว จึงขอแจ้งเบาะแส มายังท่าน เพื่อสั่งการผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่อยู่ภายใต้อำนาจท่าน ดังนี้
1. พบการก่อสร้างในพื้นที่ ม. ตำบลเทพกระษัตรี อ.ถลาง จ.ภูเก็ต จำนวน 34 หลัง
2. พบการก่อสร้างในพื้นที่ ม. ตำบลสาคู อ.ถลาง จ.ภูเก็ต จำนวน 15 หลัง
จึงขอให้อำเภอถลางได้ใช้อำนาจสั่งการในฐานะผู้กำกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทั้งองค์การบริหารส่วนตำบลเทพกระษัตรี และองค์การบริหารส่วนตำบลสาคู ให้บังคับใช้กฎหมายตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 แก้ไข พ.ศ. 2535 อย่างเคร่งครัด เพื่อความผาสุกของประชาชนชาวไทย และนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาท่องเที่ยวยังจังหวัดภูเก็ต และเพื่อภาพลักษณ์เชิงบวกในฐานะเมืองท่องเที่ยวที่มีชื่อระดับโลก
จากกรณีดังกล่าว ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศราได้ติดต่อไปยังนายตฤณ ปัญญาไวย์ นายกอบต.สาคู เพื่อสอบถามเกี่ยวกับกรณีการตรวจสอบในครั้งนี้
โดยนายตฤณได้ให้สัมภาษณ์ว่ารับทราบเรื่องนี้แล้ว เพราะว่ามีการประชุมของคณะกรรมการป่าไม้จังหวัดอยู่แล้ว ซึ่งการดำเนินการในขั้นตอนนี้ก็คือกำลังมีการดูอยู่ว่าพื้นที่ที่มีการรุกล้ำนั้นเป็นพื้นที่ของกรมป่าไม้หรือไม่ เพราะว่ามันมีกฎหมายออกมาเมื่อปี 2565 ระบุว่าถ้าหากว่าเป็นพื้นที่ของกรมป่าไม้ ทางหน่วยงานท้องถิ่น ไม่สามารถจะรุกล้ำเข้าไปได้ การกระทำใดๆของกรมป่าไม้ ก็แค่ว่าแจ้งให้ อบต.รับทราบเท่านั้น ไม่ใช่การขออนุญาตแต่อย่างใด
“ปัญหามันมาจากป่าไม้เขาเอง เพราะว่ามันมีการดำเนินการ สำรวจ ชาวบ้านก็ไปมีการปลูกสร้างบ้าน ทำสวนในพื้นที่ของป่าไม้ ซึ่งตอนนี้มันก็มีข้อพิพาทกันอยู่เพราะทางจังหวัดเขาก็พยายามที่จะหาทางออก โดยที่ให้นายอำเภอแต่ละอำเภอประธานอนุคณะกรรมการป่าไม้จังหวัด นำเสนอของปัญหาแต่ละพื้นที่ขึ้นไป ทางจังหวัดกับทางทหารเรือก็ได้พยายามหาทางออกผู้ที่ได้รับผลกระทบในเรื่องนี้โดยตรง ตอนนี้มันก็เลยจะออกมาในรูปแบบของว่ากลุ่มทุนเข้าไปบุกรุก อันนี้ก็ว่ากันไป” นายตฤณกล่าว
เมื่อถามว่าสิ่งก่อสร้างจำนวน 15 หลัง ในตำบลสาคู บอกว่าเป็นของชาวบ้าน ตกลงเป็นของกลุ่มทุนหรือไม่ นายตฤณกล่าวว่าเท่าที่ทราบคือปะปนกันอยู่ ทั้งกลุ่มทุนและชาวบ้านที่ไปพักพิงอาศัยไปเลย ซึ่งตรงนี้ก็คงต้องเข้าไปตรวจสอบกันอีกทีหนึ่ง เช่นเดียวกับกรณีว่าสิ่งปลูกสร้างทั้ง 15 หลังนี้อยู่ในพื้นที่ของกรมป่าไม้หรือไม่ โดยส่วนตัวยังไม่เห็นแบบแปลนแผนที่ของสิ่งปลูกสร้างทั้ง 15 หลังดังกล่าวว่าสร้างอยู่ตรงไหน เพราะหนังสือจากนายอำเภอที่ให้ทาง อบต.ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบเพิ่งจะมาถึงทางฝ่ายของนิติกร
นายก อบต.สาคูกล่าวอีกว่าจริงๆแล้วเรื่องวิทยาลัยเทคนิคถลางก็เป็นปัญหา เพราะตรงนี้พื้นที่ของเขาก็ยังไม่ชัดเจนเลย แต่ว่ามีการนำเอารถไปแผ้วถางป่า ซึ่งตรงนี้มันก็ผิดเหมือนกัน เพราะว่าไม่ได้มีการไปขอใบอนุญาต
“ทำไมไม่ไปดูของเทคนิคบ้าง ที่ไปบุกรุกเอาแบคโฮไปแผ้วถาง มันก็ผิดเหมือนกัน ตอนที่มีการประชุมคณะกรรมการป่าไม้จังหวัด ตอนที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) เขาลงพื้นที่ เขาบอกว่าชาวบ้านเขาบุกรุก มันไม่ใช่นะ ชาวบ้านเขาไม่ได้เอาแบคโฮไปแผ้วถาง เทคนิคเป็นผู้ที่เอาแบคโฮไปแผ้วถาง มันก็เป็นพื้นที่เหมือนกัน ถ้าหากมันต้องดำเนินการอะไรสักอย่าง มันก็ต้องดำเนินการกับพื้นที่ทั้งหมดเป็นมาตรฐานเดียวกัน ถึงแม้ว่าเทคนิคจะได้รับให้ใช้พื้นที่ต่างๆของป่าไม้ แต่ว่าการล้มไม้ เทคนิคก็ต้องได้รับใบอนุญาต อีกทั้งเทคนิคก็ต้องมีพื้นที่ชัดเจนก่อน จะเอารถไปล้มไม้เลย มันไม่ได้” นายตฤณกล่าว
นายก อบต.สาคูกล่าวต่อไปว่ากรมป่าไม้นั้นเป็นเจ้าของพื้นที่เดิม เขาก็มีการอนุญาตให้พื้นที่กับกองทัพเรือไปจัดการ สำหรับในส่วนความรับผิดชอบของ อบต.นั้นจะเป็นในส่วนของ กฎหมายควบคุมอาคารเท่านั้นเอง หรือสรุปก็คือความรับผิดชอบในส่วนของ อบต.อยู่ที่หางว่าวแล้ว อีกทั้งตามกฎหมายท้องถิ่นก็ไม่สามารถจะไปยุ่งกับพื้นที่กรมป่าไม้ได้ เพราะเขาก้มีกฎหมายของเขา
เมื่อถามว่ากรอบระยะเวลา 30 วันที่ทางนายอำเภอมอบหมายให้ดำเนินการตรวจสอบ ทาง อบต.สาคูจะสามารถดำเนินการทันได้หรือไม่ นายตฤณกล่าวว่าถ้าหากมันไม่ทันก็ต้องขยายระยะเวลาการตรวจสอบตามระเบียบ ซึ่งจะทันหรือไม่ก็ต้องขึ้นอยู่กับขั้นตอนระยะเวลาการทำหนังสือไปถามทางกรมป่าไม้และทางทหารเรือด้วย
“จริงๆอำนาจโดยตรงมันก็ไม่ใช่ของเราอยู่แล้ว มันเป็นของป่าไม้จะไปดำเนินการ เราจะไปตรวจสอบได้อย่างไร เราก็ต้องทำหนังสือไปถึงทั้งทางป่าไม้และทางทหารเรือก่อน เพราะนี้มันไม่ใช่พื้นที่ของเรา” นายตฤณกล่าว
หมายเหตุ: รูปภาพนายตฤณ ปัญญาไวย์ จากกรมประชาสัมพันธ์