สธ.เผย ปี 67 ตั้งเป้าใช้งบลงทุน 2 หมื่นล้านบาท ยกระดับบริการสุขภาพภาพทั้งประเทศ พร้อมพัฒนาระบบบริการสุขภาพ 19 สาขา มุ่งลดป่วย-เสียชีวิตจากอุบัติเหตุ โรคหัวใจ-หลอดเลือด และโรคมะเร็ง
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 24 ส.ค. 2566 นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวปาฐกถาพิเศษ "ทศวรรษที่ 2 ยกระดับศักยภาพบริการสู่ความมั่นคงด้านสุขภาพ" ว่า โจทย์สำคัญขณะนี้ของการพัฒนาระบบบริการสุขภาพเพื่อประชาชน คือ “หนึ่งจังหวัด หนึ่งโรงพยาบาล” (One Province One Hospital) แต่เรื่องนี้เป็นวิธีการมากกว่า เป้าหมายจริงๆ คือ ต้องการให้โรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุข เป็นโรงพยาบาลของประชาชน คำนี้ดูง่ายแต่ไม่ง่าย เพราะพวกเราจะติดว่า รพ.เป็นของฉัน เราต้องปรับความคิดว่า รพ.ไม่ใช่ของใคร แต่เป็นของประชาชน และจะทำอย่างไรให้เป็นของประชาชนจริงๆ ซึ่งเราต้องเข้าใจความต้องการของประชาชนที่เปลี่ยนไปตามยุคสมัย
สำหรับการบริการ Service Plan คือแผนการบริการระบบสุขภาพด้านต่างๆ ซึ่งจุดเริ่มต้นมาจากการพัฒนาระบบบริการการสาธารณสุข หรือเครือข่ายบริการสุขภาพ (พบส.) ในยุคแรกๆ หัวใจสำคัญคือ พี่ช่วยน้อง โดยโรงพยาบาลศูนย์(รพศ.)โรงพยาบาลทั่วไป(รพท.) จะช่วยโรงพยาบาลชุมชน(รพช.) โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล(รพ.สต.) ในการดูแลประชาชนอย่างเป็นเครือข่ายเป็นระบบ แต่สักระยะหนึ่งมีเรื่องกลไกทางการเงินแบบใหม่เข้าสู่ประเทศไทย พี่จึงไม่ค่อยช่วยน้อง แต่กลับแย่งงบประมาณกันอีก จึงเกิดปัญหา การบริการต่างคนต่างทำ รับรีเฟอร์แต่ต้องเอาเงินมาจ่ายก่อน กลายเป็นการแย่งชิงทรัพยากร จึงเป็นที่มาของการแก้ปัญหาเซอร์วิสแพลนแบบใหม่ที่ตั้งขึ้นในสมัย นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ เป็นปลัด สธ. จึงมีความหวังให้เกิดการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ทั้งพี่ช่วยน้อง และน้องช่วยพี่ โดยทั้งหมดต้องเกิดประโยชน์กับประชาชน
สิ่งสำคัญเป้าหมายของกระทรวงสาธารณสุข คือ ต้องตอบโจทย์ประชาชน ว่าประชาชนต้องการอะไร หรือเพลนพ้อย (pain point) ประชาชนต้องการบริการได้ทุกที่ ทุกเวลาและมีประสิทธิภาพตอบโจทย์ความต้องการ และยังมีเพลนพ้อยของผู้บริการ ทั้งค่าตอบแทน สวัสดิการ ความก้าวหน้า ภาระงาน จริงๆต้องมีเพลนพ้อยของผู้บริหารด้วย อย่างไรก็ตาม เป้าหมายของกระทรวงฯ จะทำอย่างไรให้ประชาชนมีชีวิตยืนยาวที่สุด อย่างตอนนี้เข้าใจว่าอยู่ที่ 78 ปี ผู้หญิงอายุมากกว่าผู้ชาย และต้องทำให้มีอายุยืนยาวแบบมีสุขภาวะดีด้วย
“จริงๆประเทศไทยเรามีระบบสาธารณสุขที่ไม่น้อยหน้าใคร อย่างโรคระบาดใหญ่เราเพิ่งผ่านพ้นวิกฤตโรคโควิดเป็นแพนดามิกระบาดใหญ่มากที่สุดในรอบ 100 ปี ต้องขอขอบคุณทุกท่านที่ทำให้ประเทศไทยผ่านวิกฤตได้และทำให้คนไทยเสียชีวิตน้อยกว่าประเทศมหาอำนาจมากมาย โดยไทยมีคนเสียชีวิตจากโควิด 2-3 หมื่นคน ซึ่งเรามีมาตรการต่างๆ ทั้งการสนับสนุนการรักษาและการฉีดวัคซีนสามารถลดคนไทยไม่ให้ป่วยหนักและเสียชีวิตจากโควิด จากการศึกษาวิเคราะห์มาประมาณ 500,000 คน ซึ่งนี่คือโจทย์ที่เราสามารถปกป้องชีวิตคนไทยได้เป็นอย่างดี” นพ.โอภาส กล่าว
นพ.โอภาส กล่าวด้วยว่า แม้จะผ่านวิกฤตโรคระบาดมาได้ แต่โควิดเป็นเพียงการจบยกแรก แต่ยกต่อไปเราต้องเตรียมพร้อมในการรับมือโรคระบาดใหญ่ในอนาคต จากพื้นฐานที่ได้จากโควิดที่ผ่านมา ทั้งกลไกการจัดการ ระบบโลจิสติกส์ ซึ่งตอนนี้เรามีโรงงานที่สามารถผลิตวัคซีนได้เพื่อรองรับเป้าหมายในการรับโรคระบาดครั้งหน้า ภายภาคหน้าต้องมีการตั้งเป้าว่า หากมีโรคระบาดครั้งใหม่ต้องมีวัคซีนอย่างต่ำ 100
ภายภาคหน้าต้องมีการตั้งเป้าว่าหากมีโรคระบาดครั้งใหม่ต้องมีวัคซีนอย่างต่ำ 100 ล้านโดสสำหรับประเทศไทยและใช้เวลา 100 วันต้องมีวัคซีนในการต่อสู้กับเชื้อโรคกันใหม่สู่ประชาชนภายใน 100 วัน แต่ตามสถิติการจะเกิดโรคระบาดใหญ่อีกครั้งน่าจะ 100 ปี จึงต้องฝากรุ่นต่อไป แต่นี่เป็นการคาดเดา แต่โลกปัจจุบันเดาไม่ได้ อาจเกิดตอนไหนก็ได้ จึงต้องเตรียมความพร้อมให้มากที่สุด
นอกจากนี้ นพ.โอภาส กล่าวภายหลังเปิดการประชุมสัมมนาว่า กระทรวงสาธารณสุขได้พัฒนาระบบบริการสุขภาพมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งที่ผ่านมาเกิดความเปลี่ยนแปลงในหลายด้าน ทั้งระบบบริการ บุคลากร การดูแลรักษาที่เป็นเครือข่ายเชื่อมโยง ทำให้ประชาชนได้รับประโยชน์อย่างมาก
สำหรับในปี 2567 ได้มีแผนพัฒนาระบบริการสุขภาพ (Service Plan) ทั้ง 19 สาขา โดยนำประเด็นสำคัญของประเทศมาพัฒนาเพื่อตอบโจทย์ให้ประชาชนเข้าถึงบริการที่มีประสิทธิภาพ รวดเร็ว ลดการป่วยและการเสียชีวิต โดยเฉพาะจากสาเหตุหลัก 3 เรื่อง ได้แก่ อุบัติเหตุ โรคหัวใจและหลอดเลือด และโรคมะเร็ง
นพ.โอภาสกล่าวต่อว่า ในการพัฒนาดังกล่าวได้ตั้งเป้าใช้งบลงทุนประมาณ 2 หมื่นล้านบาท เพื่อให้แต่ละโรงพยาบาลนำไปพัฒนาศักยภาพของตนเองให้สามารถตอบโจทย์ประชาชนได้มากขึ้น เช่น การส่องกล้องอวัยวะต่างๆ (Endoscope) การปรับปรุงห้องผ่าตัด ระบบคอมพิวเตอร์ ระบบความปลอดภัยไซเบอร์ (Cyber Security) เครื่องฉายรังสี เป็นต้น
โดยให้เป็นการหารือร่วมกันในระดับจังหวัดและเขตสุขภาพ เพื่อ “ทำโรงพยาบาลให้เป็นโรงพยาบาลของประชาชน” รวมถึงการลงทุนในส่วนของโรงพยาบาลทันตกรรม เพื่อเพิ่มการเข้าถึงบริการด้านทันตกรรม ซึ่งจะเกิดการสร้างรายได้และนำมาพัฒนางานของโรงพยาบาลต่อไป
สำหรับในปีงบประมาณ 2566 นี้ กระทรวงสาธารณสุขได้ใช้งบลงทุนในการพัฒนาด้านต่างๆ ตามเป้าหมาย ประมาณ 1.2 หมื่นล้านบาท อาทิ การจัดซื้อเครื่องมือทางการแพทย์ การปรับปรุงโรงพยาบาลตามนโยบาย EMS การติดตั้งโซล่าเซลล์ จัดสร้างบ้านพักบุคลากรประมาณ 10,000 ยูนิต เป็นต้น