กทม.เปิดรับฟังความคิดเห็น ‘ร่างระเบียบ-ประกาศกรุงเทพฯ’ 7 ฉบับ เปิดทางเก็บค่าบำบัดน้ำเสีย 2-8 บาท/หน่วย เผยอัตราค่าบำบัดน้ำเสีย ‘คอนโด-หอพัก’ 2 บาท/หน่วย ‘โรงแรม’ เก็บ 8 บาท/หน่วย ‘วัด-โรงเรียน-โรงพยาบาล’ เก็บ 4 บาท/หน่วย
.........................................
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 18 ส.ค.ที่ผ่านมา กรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดรับความคิดเห็นร่างระเบียบและประกาศกรุงเทพมหานครเกี่ยวกับการจัดเก็บค่าธรรมเนียมบำบัดน้ำเสียของกรุงเทพฯ จำนวน 7 ฉบับ ทั้งนี้ เพื่อให้สอดคล้องกับข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง การจัดเก็บค่าธรรมเนียมบำบัดน้ำเสีย พ.ศ.2547ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง การจัดเก็บค่าธรรมเนียมบำบัดน้ำเสีย (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2562
โดย กทม.ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นร่างระเบียบและประกาศกรุงเทพมหานครฯทั้ง 7 ฉบับดังกล่าว ผ่านเว็บไซต์ระบบกฎหมายกลาง www.law.go.th ไปจนถึงวันที่ 1 ก.ย.2566
สำหรับร่างระเบียบและประกาศฯทั้ง 7 ฉบับดังกล่าว ประกอบด้วย
1.ร่างระเบียบกรุงเทพมหานครว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไขในการขอรับบริการบำบัดน้ำเสีย การระบายน้ำเสียลงสู่ระบบรวบรวมน้ำเสีย และการระงับการให้บริการบำบัดน้ำเสีย พ.ศ. ....
มีสาระสำคัญ คือ กำหนดให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองแหล่งกำเนิดน้ำเสีย ที่ถูกควบคุมการปล่อยน้ำเสียออกสู่สิ่งแวดล้อมนอกเขตที่ตั้ง และที่มีระบบบำบัดน้ำเสียเป็นของตนเอง ตามมาตรา 69 และมาตรา 70 แห่ง พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 สามารถยื่นคำขออนุญาตต่อเชื่อมท่อน้ำเสียเข้ากับระบบรวบรวมน้ำเสียของกรุงเทพมหานคร โดยจะต้องมีการปรับปรุงน้ำเสียขั้นต้นให้ได้คุณภาพตามเกณฑ์ที่กำหนด และต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขการระบายน้ำเสีย รวมทั้งจะต้องจ่ายค่าธรรมเนียมบำบัดน้ำเสีย
หากไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนดในระเบียบนี้ กรุงเทพมหานครจะระงับการให้บริการชั่วคราว และพิจารณาดำเนินการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป
2.ร่างระเบียบกรุงเทพมหานครว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการขอยกเว้นค่าธรรมเนียมบำบัดน้ำเสียสำหรับแหล่งกำเนิดน้ำเสียที่มีระบบบำบัดน้ำเสีย ซึ่งสามารถบำบัดน้ำเสียจนได้น้ำทิ้ง พ.ศ...
มีสาระสำคัญ คือ กำหนดเจ้าของหรือผู้ครอบครองแหล่งกำเนิดน้ำเสียที่มีระบบบำบัดน้ำเสีย ซึ่งสามารถบำบัดน้ำเสียจนได้น้ำทิ้งตามเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด สามารถยื่นคำร้องขอยกเว้นการชำระค่าธรรมเนียมบำบัดน้ำเสียต่อกรุงเทพมหานคร โดยต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่ระบุไว้
เมื่อได้รับอนุญาตแล้วเจ้าของหรือผู้ครอบครองแหล่งกำเนิดน้ำเสีย จะต้องรายงานผลการตรวจวิเคราะห์คุณภาพน้ำทิ้งจากหน่วยตรวจวิเคราะห์ของของรัฐหรือเอกชน ไม่เกินวันที่ 25 ของทุกเดือนให้กรุงเทพมหานคร ตามช่องทางที่กำหนด หากปรากฏว่าเจ้าของหรือผู้ครอบครองแหล่งกำเนิดน้ำเสียที่ได้รับการยกเว้นคำธรรมเนียมไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขในเดือนใด ต้องชำระค่าธรรมเนียมบำบัดเสียตั้งแต่เดือนนั้นเป็นต้นไป
3.ร่างประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่อง กำหนดอัตราค่าธรรมเนียมบำบัดน้ำเสียของกรุงเทพมหานคร
มีสาระสำคัญ คือ กำหนดให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองแหล่งกำเนิดน้ำเสีย ต้องชำระค่าธรรมเนียมบำบัดน้ำเสียเป็นรายเดือน โดยคิดจากร้อยละ 80 ของปริมาณการใช้น้ำคูณด้วยอัตราที่กำหนด ตามประเภทของแหล่งกำเนิดน้ำเสีย ดังต่อไปนี้
(1) ประเภทที่ 2 (ก) ได้แก่ หน่วยงานของรัฐหรืออาคารที่ทำการของเอกชน หรือองค์กรระหว่างประเทศ และ 2 (จ) ได้แก่ สถานประกอบการที่ใช้น้ำเฉลี่ยไม่เกิน 2,000 ลูกบาศก์เมตรต่อเดือน อัตราค่าธรรมเนียม 4 บาทต่อลูกบาศก์เมตร
(2) ประเภทที่ 3 ได้แก่ โรงแรม โรงงาน และสถานประกอบการที่ใช้น้ำเกินกว่า 2,000 ลูกบาศก์เมตรต่อเดือน อัตราค่าธรรมเนียม 8 บาทต่อลูกบาศก์เมตร
(3) ประเภทที่ 1 อัตราค่าธรรมเนียม 2 บาทต่อลูกบาศก์เมตร หรือประเภทที่ 2 อัตราค่าธรรมเนียม 4 บาทต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งเจ้าของหรือผู้ครอบครองแหล่งกำเนิดน้ำเสียได้ขอรับบริการบำบัดน้ำเสียของกรุงเทพมหานครอยู่ก่อนประกาศนี้ใช้บังคับ และได้ดำเนินการปรับปรุงระบบบำบัดน้ำเสียตามที่ได้ขอไว้กับกรุงเทพมหานครเรียบร้อยแล้ว
(4) ประเภทที่ 1 หรือประเภทที่ 2 ซึ่งเจ้าของหรือผู้ครอบครองแหล่งกำเนิดน้ำเสีย มีความประสงค์จะขอรับบริการบำบัดน้ำเสียของกรุงเทพมหานคร
4.ร่างประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่อง กำหนดเขตพื้นที่ที่เจ้าของหรือผู้ครอบครองแหล่งกำเนิดน้ำเสียต้องชำระค่าธรรมเนียมบำบัดน้ำเสีย
มีสาระสำคัญ คือ กำหนดให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองแหล่งกำเนิดน้ำเสียที่อยู่ในพื้นที่บริการบำบัดน้ำเสียที่ระบายน้ำเสียผ่านท่อรวบรวมน้ำเสียไปสู่ระบบบำบัดน้ำเสียรวมของกรุงเทพมหานคร ซึ่งกรุงเทพมหานครได้ให้บริการบำบัดน้ำเสียในเขตพื้นที่ ดังต่อไปนี้
เขตพื้นที่บริการบำบัดน้ำเสียของโรงควบคุมคุณภาพน้ำรัตนโกสินทร์ โรงควบคุมคุณภาพน้ำสี่พระยา โรงควบคุมคุณภาพน้ำช่องนนทรี โรงควบคุมคุณภาพน้ำดินแดง โรงควบคุมคุณภาพน้ำจตุจักร โรงควบคุมคุณภาพน้ำหนองแขม โรงควบคุมคุณภาพน้ำทุ่งครุ และศูนย์การศึกษาและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมบางชื่อ กรุงเทพมหานคร ต้องชำระค่าธรรมเนียมบำบัดน้ำเสีย
5.ร่างประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่อง วิธีคำนวณปริมาณน้ำที่ใช้ในแหล่งกำเนิดน้ำเสียที่ไม่อาจใช้เครื่องอุปกรณ์วัดปริมาณน้ำที่ใช้ได้
มีสาระสำคัญ คือ กำหนดให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองแหล่งกำเนิดน้ำเสียที่ใช้น้ำบาดาลหรือน้ำจากแหล่งอื่น มีหน้าที่ต้องยื่นคำขอรายงานปริมาณการใช้น้ำหรือปริมาณน้ำเสียต่อกรุงเทพมหานคร ซึ่งเจ้าหน้าที่จะพิจารณาคำขอและรายการเอกสารหรือหลักฐานที่ยื่นพร้อมคำขอและพิจารณาอนุญาตคำขอ หลังจากได้รับอนุญาตแล้วเจ้าของหรือผู้ครอบครองแหล่งกำเนิดน้ำเสียจะต้องรายงานปริมาณการใช้น้ำ
โดยผู้ใช้น้ำบาดาลที่ติดตั้งอุปกรณ์วัดปริมาณน้ำบาดาล ให้ใช้ค่าน้ำบาดาลตามปริมาณน้ำบาดาลที่วัดได้จากอุปกรณ์วัดปริมาณน้ำนั้น หากไม่ใด้ติดตั้งอุปกรณ์วัดปริมาณน้ำ ให้ใช้ค่าน้ำบาดาลตามปริมาณน้ำบาดาลสูงสุดที่กำหนดไว้ในใบอนุญาตใช้น้ำบาดาล
ส่วนผู้ใช้น้ำจากแหล่งน้ำอื่น กรณีที่ติดตั้งอุปกรณ์วัดปริมาณน้ำใช้ ให้ใช้คำปริมาณน้ำใช้ที่วัดได้จากอุปกรณ์วัดปริมาณน้ำนั้น กรณีที่ไม่มีอุปกรณ์วัดปริมาณน้ำใช้ ให้คำนวณปริมาณการใช้น้ำโดยคำนวณตามสูตรวิธีคำนวณปริมาณน้ำที่ใช้ในแหล่งกำเนิดน้ำเสียที่ไม่อาจใช้เครื่องอุปกรณ์วัดปริมาณน้ำที่ใช้ได้ และต้องรายงานปริมาณการใช้น้ำหรือปริมาณน้ำเสีย ไม่เกินวันที่ 25 ของทุกเดือน ให้กรุงเทพมหานครตามช่องทางที่กำหนด
6.ร่างประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่อง แนวทางการติดตั้งอุปกรณ์วัดปริมาณน้ำเสียจากแหล่งกำเนิดน้ำเสียที่ใช้น้ำประปา
มีสาระสำคัญ คือ กำหนดให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองแหล่งกำเนิดน้ำเสียที่มีปริมาณการใช้น้ำประปา และปริมาณน้ำเสียไม่สัมพันธ์กัน สามารถติดตั้งอุปกรณ์วัดปริมาณน้ำเสีย โดยให้ใช้ค่าปริมาณน้ำเสียที่วัดได้จากอุปกรณ์วัดปริมาณน้ำเสียนั้น และให้ยื่นคำขอรายงานปริมาณน้ำเสียอุปกรณ์วัดปริมาณน้ำเสีย ซึ่งเจ้าหน้าที่จะพิจารณาคำขอและรายการเอกสารหรือหลักฐานที่ยื่นพร้อมคำขอ และพิจารณาอนุญาตคำขอ
หลังจากได้รับอนุญาตแล้วเจ้าของหรือผู้ครอบครองแหล่งกำเนิดน้ำเสียจะต้องติดตั้งอุปกรณ์วัดปริมาณน้ำเสีย และรายงานปริมาณน้ำเสียไม่เกินวันที่ 25 ของทุกเดือนให้กรุงเทพมหานคร ตามช่องทางที่กรุงเทพมหานครกำหนด
7.ร่างประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่อง กำหนดสถานที่รับชำระค่าธรรมเนียมบำบัดน้ำเสียของกรุงเทพมหานคร
มีสาระสำคัญ คือ กำหนดให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองแหล่งกำเนิดน้ำเสียสามารถชำระค่าธรรมเนียมบำบัดน้ำเสีย ตามช่องทางดังต่อไปนี้ สำนักการระบายน้ำ สำนักงานเขตทั้ง 50 เขต ธนาคารกรุงไทยทุกสาขาบริการธนาคารบนอินเทอร์เน็ต (Internet Banking) บริการธนาคารบนโทรศัพท์เคลื่อนที่ (Mobile Banking) และเครื่องรับจ่ายเงินอัตโนมัติ (Automatic Teller Machine : ATM)
ก่อนหน้านี้ นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าฯกทม. ให้สัมภาษณ์สื่อว่า การจัดเก็บค่าธรรมเนียมบำบัดน้ำเสียดังกล่าว ไม่ได้ไปสร้างภาระกับประชาชน แต่จะช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายในการบำบัดน้ำเสียของ กทม. และทำให้การบำบัดน้ำเสียมีคุณภาพมากขึ้น นอกจากนี้ ยังช่วยลดค่าใช้จ่ายของผู้ประกอบการที่ต้องมีระบบบำบัดน้ำเสียแบบเต็มรูปแบบ เหลือแค่บำบัดน้ำเสียบางส่วนเท่านั้น
ทั้งนี้ กทม.คาดว่าจะเริ่มจัดเก็บค่าบำบัดน้ำเสียภายในสิ้นปีนี้ และจะทำให้ กทม. มีรายได้เพิ่มจากการจัดเก็บค่าธรรมเนียมบำบัดน้ำเสีย 223 ล้านบาท
ขณะที่ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. ระบุในช่วงกลางเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา ว่า ปัจจุบัน กทม.เสียค่าดำเนินการในการบำบัดน้ำเสียประมาณ 600 ล้านบาทต่อปี แต่ยังไม่ได้มีการเก็บเงินค่าบำบัดน้ำเสียแต่อย่างใด ทั้งนี้ ในการจัดเก็บค่าบำบัดน้ำเสียดังกล่าว จะเก็บเฉพาะผู้ประกอบการ ส่วนครัวเรือนประชาชนทั่วไปจะยังไม่เก็บค่าบำบัดน้ำเสีย