ป.ป.ช.ตรัง ลุยเกาะมุก ตรวจโครงการก่อสร้างถนนอิฐตัวหนอนทับถนนคอนกรีต งบผู้ว่าฯ 21 ล้าน ระยะทาง 4 กิโลเมตร สร้างเสร็จแค่ 4 เดือน พังชำรุดแล้ว ชาวบ้านเดือดร้อนหนักเข้าร้องเรียน หวั่นเกิดอันตรายกระทบนักท่องเที่ยวช่วงเปิดฤดู ‘ไฮซี่ซั่น’ อีก 1 เดือน จี้หน่วยงานรับผิดชอบเข้าซ่อมแซมเร่งด่วน ยังอยู่ในระยะเวลาประกัน
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 18 ส.ค.66 ที่บ้านเกาะมุก ต.เกาะลิบง อ.กันตัง จ.ตรัง นายบัณฑิต คณะสุวรรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำ จ.ตรัง พร้อมด้วย นายยุทธนา วิมลเมือง เจ้าพนักงานป้องกันการทุจริตชำนาญการพิเศษ ป.ป.ช.ตรัง เจ้าหน้าที่เกี่ยวข้อง และเครือข่ายภาคประชาชน ได้เดินทางโดยการนั่งเรือลงพื้นที่ลงตรวจสอบถนนบนเกาะมุก หลังได้รับการร้องเรียนจากชาวบ้านว่าถนนที่มีการก่อสร้างโดยการวางอิฐตัวหนอน ตามโครงการปรับปรุงเส้นทางเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวรอบเกาะมุก ขนาดผิวทางกว้าง 3-4 เมตร ระยะทางตลอดสาย 4.205 กิโลเมตร โดยมีจังหวัดตรัง เป็นหน่วยงานเจ้าของโครงการ งบประมาณ จ.ตรัง จำนวน 21,510,000 บาท อนุมัติโดยนายขจรศักดิ์ เจริญโสภา ผู้ว่าราชการ จ.ตรัง โดยให้แขวงทางหลวงชนบทตรัง สำนักงานทางหลวงชนบทที่ 14 (กระบี่) กรมทางหลวงชนบท เป็นผู้จัดซื้อจัดจ้าง เอกชนผู้รับจ้าง คือ ห้างหุ้นส่วนจำกัด โล่ทองการโยธา เป็นผู้เข้าดำเนินการก่อสร้าง โดยการประกวดราคาแบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) ก่อสร้างแล้วเสร็จ ในช่วงเดือน เม.ย.66 หรือประมาณ 4 เดือนที่ผ่านมา
ปรากฏว่า ถนนกลับมีการชำรุดเสียหาย ชาวบ้านได้รับผลกระทบจำนวนหลายจุด และในภาพรวมของโครงการเกิดข้อคำถามว่าเป็นไปตามหลักวิศวกรรม หลักความคุ้มค่าหรือไม่
จากการลงพื้นที่ตรวจสอบ ของป.ป.ช.ตรัง เจ้าหน้าที่เกี่ยวข้อง และเครือข่ายภาคประชาชน ไม่ปรากฏป้ายโครงการทั้งชั่วคราวและถาวรแสดงให้เห็น เมื่อลงตรวจสอบถนนพบว่าพื้นถนนรอบเกาะทั้งหมดเดิมเป็นถนนคอนกรีตอยู่แล้ว บางจุดเป็นถนนคอนกรีตที่เพิ่งจะก่อสร้างไปได้เพียงแค่ 4 ปี ยังไม่ชำรุดหรือเสียหาย โดยก่อนที่โครงการดังกล่าวจะเข้ามา มีการดำเนินการโดยนำทรายปูรองบนถนนคอนกรีตและใช้อิฐตัวหนอนปูวางทับลงไป ใช้คันหินสำเร็จรูปวางประกบบล็อกอิฐตัวหนอนทั้งสองฝั่ง
บางจุดมีการรื้อถนนคอนกรีตเดิมออกและวางอิฐตัวหนอนบนพื้นดิน สภาพการชำรุดพบว่าพื้นถนนไม่เรียบสม่ำเสมออิฐตัวหนอนแตก ยุบตัวลง และหลุดออกจากพื้น จนกลายเป็นหลุมใหญ่บนถนน และในจุดที่มีการก่อสร้างระบายน้ำก็เกิดการทรุดตัวด้วยเช่นเดียวกัน บางจุดไม่มีรางระบายน้ำส่งผลทำให้เกิดน้ำท่วมขังและไหลเข้าบ้านเรือนชาวบ้าน และชาวบ้านต่างก็หวั่นว่าสภาพถนนที่ชำรุดเช่นนี้จะเป็นอันตรายแก่นักท่องเที่ยว ที่ใช้สัญจรในช่วงเปิดการท่องเที่ยว หรือ ไฮซีซั่น ช่วงเดือน ต.ค.ที่จะถึงนี้ รวมไปถึงชาวบ้านที่ใช้สัญจรเป็นประจำในทุกวัน
ขณะที่ นายมนัส กังแฮ หรืออิ๋ว อายุ 42 ปี ชาวบ้านเลขที่ 106/2 หมู่ 2 บ้านเกาะมุก กล่าวว่า ถนนจากการก่อสร้างเพิ่งแล้วเสร็จได้ประมาณ 4-5 เดือน เกิดชำรุดเสียหายเยอะหลายจุด บางจุดก็ทรุดตัวลงไป หากฝนตกหนักน้ำก็ไม่มีทางไหล ตอนแรกคิดว่าจะสามารถแก้ปัญหาน้ำท่วมขังบนถนนให้ชาวบ้านได้ แต่จนถึงตอนนี้ก็กลับไม่ได้แก้ไขอะไรให้ดีขึ้นเลย อยากเรียกร้องไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้ามาปรับปรุงแก้ไขซ่อมแซมให้น้ำไหลสะดวก ไม่ต้องท่วมขังอยู่บนพื้นถนน ทั้งที่เป็นถนนใหม่ เพิ่งสร้างเสร็จเมื่อช่วงเดือน เม.ย.66 ที่ผ่านมา แต่กลับขับขี่สัญจรลำบาก
นางนงนุช ดวงทอง หรือป้านุช อายุ 58 ปี ชาวบ้านเลขที่ 113/1 หมู่ 2 บ้านเกาะมุก ต.เกาะลิบง กล่าวว่า หลังจากก่อสร้างถนนเกิดปัญหาน้ำไหลเข้าท่วมบ้านในช่วงฝนตก จากที่เมื่อก่อนที่มีถนนคอนกรีตอยู่เดิมก็ไม่เคยเกิดปัญหานี้ และตอนที่ก่อสร้างคิดว่าจะมีการทำคูระบายน้ำให้ด้วย แต่ก็ไม่มีการทำคูระบายน้ำให้
นายหิม หญ้าปรัง อายุ 59 ปี ส.อบต.หมู่ 2 เกาะลิบง กล่าวว่า หน้าบ้านอยู่สุดทางที่มีการก่อสร้างวางอิฐตัวหนอนพอดี ปรากฏว่าปูนที่มีการมาเทเพื่อป้องกันไม่ให้อิฐหลุดนั้นพัง จนทำให้อิฐหลุดกระจาย เนื่องจากเป็นการนำปูนมาเททับพื้นถนนคอนกรีตเดิม โดยไม่ได้มีการเสริมเหล็กหรือขุดถนนเดิมออก และส่วนตัวมองว่าเดิมมีถนนคอนรีตอยู่แล้วตัวหนอนก็ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องมาปูทับ แต่ทางเจ้าของโครงการระบุว่าปูเพื่อความสวยงาม และส่งเสริมการท่องเที่ยว หากทำก็น่าจะทำเป็นถนนคอนกรีตเดิม มองว่าสวยก็จริง แต่อิฐตัวหนอน ไม่มีความคงทน
ด้านนายบัณฑิต คณะสุวรรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำ จ.ตรัง กล่าวว่า ชาวบ้านร้องเรียนเข้ามาถนนบางจุดมีความชำรุด และจากการลงพื้นที่บางจุดก็มีการชำรุดจริงๆ อย่างไรก็ตามถนนรอบเกาะมุกตามโครงการนี้ จากการตรวจสอบข้อมูลเบื้องต้น ยังอยู่ในช่วงระยะเวลาประกัน ฉะนั้นทาง ป.ป.ช.จะประสานไปยังหน่วยงานที่รับผิดชอบ เพื่อที่จะเข้าดำเนินการแก้ไขให้เรียบร้อยภายในระยะเวลาประกัน เพื่อสภาพถนนจะได้เป็นไปตามโครงการ และความต้องการของประชาชน
"ส่วนในเรื่องของการก่อสร้างตามหลักวิศวกรรมหรือไม่นั้น ไม่อยากออกความเห็นตรงนี้ เพราะเป็นหลักวิศวกรรม หากออกความเห็นไปจะคลาดเคลื่อนได้ แต่เมื่อเกิดการชำรุด เราก็ต้องหาแนวทางที่จะต้องแก้ไขเพื่อให้สมบูรณ์ขึ้น ซึ่งถนนที่เกิดการชำรุดทำให้ชาวบ้านใช้สัญจรได้ไม่เต็มที่ และการก่อสร้างถนนหลากหลายที่ในทุกๆจังหวัด จะมีปัญหา จะเป็นเพราะเหตุใดก็แล้วแต่ จะต้องเน้นย้ำในเรื่องของระเบียบของกฎหมาย เพื่อให้เป็นไปตามแนวทางแบบแปลนของโครงการที่ก่อสร้าง" นายบัณฑิตระบุ