‘ศาลปกครองกลาง’ พิพากษายกฟ้อง ‘รฟม.-ITD’ คดีตัดต้นไม้ หน้า ม.เกษตรฯ-แนวเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีเขียว ‘หมอชิต-สะพานใหม่-คูคต’ ชี้เป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว
........................................
เมื่อวันที่ 16 ส.ค. ศาลปกครองกลาง นัดอ่านคำพิพากษาในคดีหมายเลขดำที่ ส.17/2561 ระหว่าง สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ที่ 1 กับพวกรวม 9 คน (ผู้ฟ้องคดี) กับ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ที่ 1 กับพวกรวม 2 คน (ผู้ถูกฟ้องคดี) คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย (ฟ้องขอให้ห้ามการทำการใดๆ ในลักษณะตัดฟัน โค่น ทำลายไม้ยืนต้น ตลอดแนวรถไฟฟ้าสายสีเขียวฯ)
โดยศาลฯพิพากษายกฟ้อง รฟม. เนื่องจากวินิจฉัยแล้ว เห็นว่า การดำเนินการเกี่ยวกับต้นไม้ในพื้นที่ก่อสร้างตามโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสอง (รฟม. และ บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์) เป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว ดังนั้น รฟม. (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1) จึงไม่มีหน้าที่ต้องดำเนินการปลูกต้นไม้เพื่อทดแทนตามคำขอของผู้ฟ้องคดีทั้งเก้าแต่อย่างใด
“…ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองได้ขออนุญาตต่อหน่วยงานของกรุงเทพมหานคร ในการรื้อย้ายต้นไม้ที่กีดขวางการก่อสร้างออก โดยได้รับอนุญาตจากหน่วยงานของกรุงเทพมหานครที่รับผิดชอบพื้นที่นั้นๆ และชำระค่าเสียหายตามที่หน่วยงานดังกล่าวแจ้งแล้ว ประกอบกับข้อเท็จจริงปรากฎตามคำชี้แจงของกรุงเทพมหานคร ลงวันที่ 10 เมษายน 2561และวันที่ 18 พฤษภาคม 2561 ว่า
การรื้อย้ายต้นไม้ที่อยู่ในแนวการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ได้แก่ พื้นที่เขตจตุจักร เขตสายไหม เขตบางเขน เขตดอนเมือง และพื้นที่ของสำนักสิ่งแวดล้อม มีการขออนุญาตและได้รับอนุญาตให้ดำเนินการ พร้อมทั้งชำระค่าเสียหาย โดยดำเนินการถูกต้องตามหลักเกณฑ์และอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบพื้นที่นั้นๆ
จึงถือได้ว่าผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขการอนุญาตเกี่ยวกับการรื้อย้ายต้นไม้ และหลักเกณฑ์ในการพิจารณาปลูกและคิดคำเสียหายต้นไม้ตามคำสั่งกรุงเทพมหานคร ที่ 1124/2526 ลงวันที่ 24 มีนาคม 2526
ส่วนกรณีการตัดต้นไม้ 14 ต้น บริเวณทางเท้าด้านหน้ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน ริมถนนพหลโยธิน นั้น ปรากฏว่า ผู้อำนวยการเขตจตุจักร มีหนังสือ ที่ กท 6506/1239 ลงวันที่ 4 มีนาคม 2561 แจ้งผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ว่า จากการตรวจสอบ พบว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ตัดต้นนนทรีบริเวณหน้ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ฝั่งถนนพหลโยธิน จำนวน 9 ต้น และหน้าธนาคารออมสิน สาขามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จำนวน 5 ต้น โดยไม่ได้รับอนุญาต
จึงแจ้งให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ยุติการตัดต้นไม้บริเวณดังกล่าวจนกว่าจะได้รับอนุญาต และให้ชำระค่าปรับ จำนวน 170,000 ซึ่งผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ชำระค่าเสียหายดังกล่าวแล้ว เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2561
แม้ข้อเท็จจริงปรากฏตามคำชี้แจงของกรุงเทพมหานคร ลงวันที่ 10 เมษายน 2561 ว่า การตัดต้นไม้ 14 ต้น ในบริเวณดังกล่าวข้างต้น ต้นไม้ส่วนใหญ่ถูกตัดแต่งกิ่งและทรงพุ่มอย่างหนัก จนเหลือเฉพาะลำต้น หรือกิ่งใหญ่ 2-3 กิ่ง เท่านั้น ทำให้ทรงของต้นไม้เสียหาย ทำลายลักษณะรูปทรงเดิมตามธรรมชาติของต้นไม้ ต้องใช้ระยะเวลานานหลายปีกว่าจะแตกพุ่มใบพอให้ร่มเงาได้
แต่เมื่อข้อเท็จจริงปรากฎตามคำให้การของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ว่า บริเวณหน้ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ฝั่งถนนพหลโยธิน มีแนวสายไฟฟ้าและสายสื่อสารอยู่ในระดับที่ต่ำมากและอยู่ติดกับทรงพุ่มของต้นนทรีทั้ง 14 ต้น การขุดล้อมย้ายต้นไม้ดังกล่าวออกจากพื้นที่ จะต้องดำเนินการตัดแต่งทรงพุ่ม ตัดริดกิ่งให้ต่ำกว่าระดับของสายไฟฟ้าและสายสื่อสาร เพื่อไม่ให้กิ่งไม้ไปโดนระบบสาธารณูปโภคดังกล่าวเสียหาย
การตัดริดกิ่งดังกล่าว จึงเป็นการกระทำตามความเหมาะสมและอุปสรรคที่เกิดในแต่ละพื้นที่แล้ว ถือได้ว่าการรื้อย้ายต้นไม้ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ดำเนินการถูกต้องตามหลักวิชาการและอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของเจ้าหน้าที่ของกรุงเทพมหานครซึ่งมีความเชี่ยวชาญในการรื้อย้ายต้นไม้แล้ว แม้จะปรากฎข้อเท็จจริงว่ามีต้นไม้บางส่วนตาย แต่สาเหตุการตายยังไม่แน่ชัดว่าเกิดจากสาเหตุใดจึงไม่อาจพิจารณาได้ว่าการที่ต้นไม้ตามคดีพิพาทตายมีสาเหตุมาจากการรื้อย้ายเท่านั้น
นอกจากนี้ โดยที่รายงาน EA กำหนดให้ต้องมีการปลูกต้นไม้ทดแทนใต้แนวสายทางโครงการและทางเดินเท้าภายหลังการก่อสร้างโครงสร้างของสถานีรถไฟฟ้าแล้วเสร็จ และปลูกต้นไม้ชดเชยบริเวณเกาะกลางถนนและทางเดินเท้าหรือฟื้นที่ใกล้เคียง โดยพันธุ์ไม้ที่นำมาปลูกควรเป็นไม้ประเภทไม้ใบและไม้ดอกทรงพุ่มสูง ซึ่งผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 กำหนดไว้ในสัญญาจ้างก่อสร้างงานโยธา สัญญาที่ 1 ให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ปลูกต้นไม้ชดเชยตามแบบที่ได้ระบุไว้ในแบบก่อสร้าง
ประกอบด้วย ไม้ยืนต้นจำนวน 801 ต้น และไม้พุ่ม จำนวน 36,100 ต้น พยานหลักฐานจึงฟังได้ว่า การดำเนินการเกี่ยวกับต้นไม้ในพื้นที่ก่อสร้างตามโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสอง เป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว
เมื่อศาลได้วินิจฉัยแล้วว่า การดำเนินการเกี่ยวกับต้นไม้ในพื้นที่ก่อสร้างตามโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสอง เป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 จึงไม่มีหน้าที่ต้องดำเนินการปลูกต้นไม้เพื่อทดแทนตามคำขอของผู้ฟ้องคดีทั้งเก้าแต่อย่างใด พิพากษายกฟ้อง” คำพิพากษาศาลปกครองกลาง คดีหมายเลขดำที่ ส.17/2561 คดีหมายเลขแดงที่ ส.34/2566 ลงวันที่ 16 ส.ค.2566 ระบุ
สำหรับคดีนี้ผู้ฟ้องคดีฟ้องว่า รฟม. (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1) และบมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ หรือ ITD (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2) กระทำการตัดฟัน โค่นทำลาย หรือขุดล้อมไม้ยืนต้นตลอดแนวรถไฟฟ้าสายสีเขียว หมอชติ-สะพานใหม่-คูคต จนไม่เหลือสภาพของต้นไม้ใหญ่ที่ให้ร่มเงาได้ ส่งผลให้ “ปอด” ของคนกรุงเทพมหานคร คนเมืองที่อยู่ตลอดแนวเส้นทางของรถไฟฟ้าได้รับผลกระทบ เกิดความเดือดร้อนเสียหายแก่ผู้ฟ้องคดีและคนกรุงเทพมหานครและปรมิณฑลมากยิ่งขึ้น