สธ.เปิดเผยไทม์ไลน์ค่าตอบแทนเสี่ยงภัยโควิด-19 วงเงิน 2,995 ล้านบาท คาดได้รับจัดสรรจากสำนักงบประมาณสัปดาห์หน้า เริ่มเบิกจ่ายได้ตั้งแต่ 29 ส.ค.เป็นต้นไป แล้วเสร็จภายในวันที่ 30 ก.ย.นี้
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 11 ส.ค. 2566 นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า หลังจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเมื่อวันที่ 8 สิงหาคมที่ผ่านมา เห็นชอบอนุมัติค่าตอบแทนเสี่ยงภัยจากงบกลาง วงเงิน 2,995.95 ล้านบาท เพื่อเบิกจ่ายให้แก่บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขที่ปฏิบัติภารกิจเกี่ยวข้องกับโรคโควิด-19 ทั้งสายวิชาชีพและสายสนับสนุน ทั้งในและนอกสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ในช่วงเดือน ก.ค. 2564 - ครึ่งเดือนแรกของ มิ.ย. 2565 กระทรวงสาธารณสุขได้กำหนดขั้นตอนและแผนการเบิกจ่ายงบประมาณดังกล่าวเพื่อให้การดำเนินการเป็นไปด้วยความรวดเร็วและเสร็จสิ้นภายในปีงบประมาณ 2566 โดยเมื่อวันที่ 9 ส.ค.ที่ผ่านมา ได้ทำหนังสือถึงสำนักงบประมาณเพื่อขอรับการจัดสรรค่าเสี่ยงภัยโควิดแล้ว คาดว่าสำนักงบประมาณจะอนุมัติและโอนเงินจัดสรรมายังสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ในช่วงวันที่ 9-18 ส.ค. 2566 จากนั้นกองยุทธศาสตร์และแผนงาน จะขออนุมัติจัดสรรต่อปลัดกระทรวงสาธารณสุข และแจ้งการจัดสรรไปยังกองคลังและกองสาธารณสุขฉุกเฉิน ช่วงวันที่ 21-22 ส.ค. 2566
นพ.โอภาสกล่าวต่อว่า ค่าตอบแทนเสี่ยงภัยในส่วนของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข เช่น สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป กองสาธารณสุขฉุกเฉิน จะเป็นหน่วยดำเนินการจัดสรรและแจ้งกองคลังโอนงบประมาณไปยังสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั้ง 76 แห่ง เพื่อตรวจสอบเอกสารเบิกจ่าย ทำเรื่องขออนุมัตินายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดและโอนค่าตอบแทนเสี่ยงภัยให้กับให้กับผู้ปฏิบัติงานโดยตรง ส่วนค่าตอบแทนเสี่ยงภัยของหน่วยงานภายนอกสังกัดกระทรวงสาธารณสุข
ซึ่งมีทั้งกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กระทรวงกลาโหม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงยุติธรรม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สภากาชาดไทย และโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ กองคลังจะเป็นหน่วยดำเนินการตรวจสอบเอกสารเบิกจ่ายและขออนุมัติปลัดกระทรวงสาธารณสุข เพื่อโอนงบประมาณไปยังผู้ปฏิบัติงานของหน่วยงานภายนอกต่อไป คาดว่าทุกหน่วยงานจะเริ่มเบิกจ่ายได้ตั้งแต่ 29 ส.ค. 2566 เป็นต้นไป และจะเร่งรัดให้แล้วเสร็จก่อนสิ้นปีงบประมาณในวันที่ 30 ก.ย. 2566 พร้อมทั้งรายงานผลการดำเนินงาน ปัญหา อุปสรรค และแนวทางแก้ไข ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขและสำนักงบประมาณทราบภายใน 15 วันทำการถัดไป
"ยืนยันว่าจะพยายามเร่งรัดกระบวนการเบิกจ่ายค่าตอบแทนเสี่ยงภัยโควิด-19 ให้แก่บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข ทั้งสายวิชาชีพและสายสนับสนุน ทั้งในและนอกสังกัดกระทรวงสาธารณสุขโดยเร็วที่สุด ส่วนที่ยังค้างจ่ายในรอบการปฏิบัติงานช่วงครึ่งเดือนหลังของ มิ.ย. - ก.ย. 2565 ซึ่งสิ้นสุดการเป็นโรคติดต่ออันตราย จะเตรียมทำข้อเสนอขอรับการสนับสนุนในปีงบประมาณ 2567 วงเงิน 3,745 ล้านบาท ต่อ ครม.ชุดใหม่ต่อไป" นพ.โอภาสกล่าว