‘SDG Move’ จับมือ ‘ภาคประชาชน-สภาองค์กรของผู้บริโภค’ ร่วมลงชื่อใน ‘จดหมายเปิดผนึก’ ยื่น 5 ข้อเสนอ ถึง ‘รัฐบาลใหม่’ แก้ปัญหาค่าไฟฟ้าแพง ย้ำต้องหยุดเอื้อ ‘นายทุน’
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 10 ส.ค. ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ศูนย์วิจัยและสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG Move) คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับเครือข่ายมูลนิธิชุมชนท้องถิ่นพัฒนา และสภาองค์กรของผู้บริโภค จัดแถลงข่าว #ค่าไฟต้องแฟร์ : ข้อเสนอภาคประชาสังคมและเอกชนถึงรัฐบาลใหม่ กรณีค่าไฟฟ้าผันแปรในไทยพุ่งขึ้นสูงสุดในรอบ 30 ปี
โดย รศ.ดร.ชาลี เจริญลาภนพรัตน์ อาจารย์ประจำสถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะอนุกรรมการด้านการบริการสาธารณะ พลังงานและสิ่งแวดล้อม สภาองค์กรของผู้บริโภค กล่าวว่า ในช่วงหลาย 10 ปีที่ผ่านมา กลไกในภาคการผลิตไฟฟ้ามีความไม่เป็นธรรมต่อผู้ใช้ไฟฟ้าอย่างประการ เช่น การลงนามสัญญารับซื้อไฟฟ้าที่ไม่โปร่งใส การวางแผนกำลังการผลิตไฟฟ้าที่ไม่เหมาะสม และการกำหนดราคาก๊าซธรรมชาติที่ไม่เป็นธรรม
โดยกลไกที่ไม่เป็นธรรมดังกล่าว นอกจากจะเพิ่มค่าครองชีพให้กับประชาชนโดยตรงแล้ว ยังสร้างปัญหาต่อความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจและเศรษฐกิจของประเทศด้วย ดังนั้น องค์กรบุคคลและเครือข่ายต่างๆจึงได้ลงนามในจดหมายเปิดผนึก เพื่อนำข้อเสนอข้อเสนอแนะในด้านนโยบายด้านพลังงานไปยังรัฐบาลชุดใหม่ ซึ่งจะทำให้ค่าไฟฟ้าถูกลง เป็น เป็นธรรม เป็นประชาธิปไตย และสร้างความยั่งยืนให้แก่สังคมไทย ใน 5 ประเด็น ดังนี้
1.ต้องหยุดลงนามสัญญารับซื้อไฟฟ้า (PPA) จากโครงการขนาดใหญ่แห่งใหม่ทุกโครงการ ทั้งโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ โรงไฟฟ้าพลังน้ำขนาดใหญ่จากประเทศเพื่อนบ้านและโรงไฟฟ้าถ่านหิน เพราะการกระทำดังกล่าวเป็นการนำภาคธุรกิจและภาคประชาชนไปแบกรับภาระในแต่ละสัญญาที่ผูกมัดยาวนานถึง 25–35 ปี รวมทั้งต้องหยุดการสร้างโรงไฟฟ้าใหม่จนกว่ากำลังการผลิตไฟฟ้าสำรองที่มีอยู่เป็นจำนวนมากในปัจจุบันจะลดลงสู่ระดับมาตรฐานนานาชาติ
2.ต้องเร่งรัดเดินหน้านโยบาย Net-metering หรือ ระบบหักลบหน่วยไฟฟ้า สำหรับการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ในภาคประชาชนหรือโซลาร์รูฟท็อป ขณะที่ราคาไฟฟ้าที่ประชาชนขายให้การไฟฟ้าฯจะต้องเท่ากับราคาค่าไฟฟ้าที่การไฟฟ้าฯขายให้กับประชาชน ทั้งนี้ หากผู้ใช้ไฟฟ้ารายใดเข้าเกณฑ์ต้องจ่ายภาษีมูลค่าเพิ่ม จะต้องบันทึกการซื้อกับการขายไฟฟ้าแยกออกจากกันเป็น 2 มิเตอร์ นอกจากนี้ การรับซื้อพลังงานหมุนเวียนอื่นๆ จะต้องอยู่บนหลักการที่เสรี เป็นธรรมต่อทุกฝ่าย และครอบคลุมทั้งประเทศ
3.ต้องเปิดรับฟังความคิดเห็น และทำให้ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวาง โปร่งใส ตรวจสอบได้ ในการจัดทำร่างแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ (PDP) และร่างแผนพัฒนาพลังงานอื่นๆ เช่น แผนพัฒนาพลังงานหมุนเวียน แผนเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน และแผนการพัฒนาก๊าซธรรมชาติ เป็นต้น ก่อนที่จะนำร่างแผนพัฒนาพลังงานดังกล่าวเข้าสู่กระบวนการพิจารณาและตัดสินของรัฐบาลต่อไป
ทั้งนี้ กระทรวงพลังงานจำเป้นต้องให้ข้อมูลในรายละเอียด ครบถ้วน และเข้าถึงได้ง่าย แก่ภาคประชาชน รวมทั้งกำหนดระยะเวลาที่เหมาะสมในการดำเนินการกระบวนการต่างๆ ตั้งแต่ก่อนการรับฟังความคิดเห็น ระหว่างการเปิดรับฟังความคิดเห็น ตลอดจนการนําผลของการรับฟังความคิดเห็น เพื่อที่รัฐบาลจะได้นำความคิดเห็นชอบประชาชนไปใช้ในกระบวนการพิจารณาและตัดสินใจของรัฐบาลได้อย่างครบถ้วน สมเหตุสมผล และสามารถทบทวนตรวจสอบได้
4.ต้องพัฒนาระบบการซื้อ-ขายส่งไฟฟ้า เพื่อสร้างการแข่งขันที่เป็นธรรมในระบบผลิตและจำหน่ายไฟฟ้า ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐอย่างเหมาะสม ควบคู่ไปกับการเจรจาปรับปรุงแก้ไขสัญญาซื้อขายไฟฟ้าเดิมที่ลงนามไปแล้ว เพื่อลดภาระค่าความพร้อมจ่าย (Availability Payment) ภายใต้ลักษณะสัญญาแบบ Take or Pay รวมทั้งลดอัตรากําไร IRR ของโรงไฟฟ้าเอกชนซึ่งปัจจุบันมีอัตราที่สูงเกินควร บนหลักการที่เป็นธรรมกับทุกฝ่าย
5.ต้องนําต้นทุนก๊าซธรรมชาติจากแหล่งก๊าซที่มีราคาถูกกว่า ได้แก่ ก๊าซอ่าวไทย และก๊าซจากพม่า ไปคำนวณเป็นต้นทุนในการผลิตไฟฟ้า ซึ่งจะทำให้ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าถูกลง ขณะเดียวกัน ต้องนําต้นทุนก๊าซที่มีราคาแพงกว่า ได้แก่ ก๊าซธรรมชาติเหลวนําเข้าที่อิงราคาตลาดโลก ไปคำนวณเป็นต้นทุนสำหรับอุตสาหกรรมปิโตรเคมีและภาคอุตสาหกรรมอื่นๆด้วย เพื่อสร้างความเป็นธรรมระหว่างผู้ใช้ไฟฟ้าและผู้ประกอบการ
“กฎหมายของประเทศเรามีศักยภาพ แต่ไม่ได้ใช้ให้เต็มที่ หากมีรัฐบาลที่ดี เราก็สามารถออกกฎหมายที่เสรี ไม่ต้องไปผูกขาดกับนายทุนอย่างเดียวได้ ซึ่งรัฐบาลชุดที่ผ่านมาไม่สามารถเปลี่ยนแปลงเรื่องไฟฟ้าได้ ดังนั้น ความหวังทั้งหมดจึงไปตกที่รัฐบาลใหม่” รศ.ดร.ชาลี ระบุ
ด้าน ดร.กฤษฎา บุญชัย เลขาธิการสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา กล่าวว่า ในช่วงที่ผ่านมาอุณหภูมิของโลกได้เพิ่มขึ้นถึง 1.5 องศาเซลเซียส โลกกำลังเข้าสู่ภาวะปั่นป่วน โลกเดือด แต่เมื่อไปดูโครงสร้างพลังงานของโลกกลับพบว่าทั่วโลกยังคงพึ่งพาพลังงานฟอสซิลถึง 83% โดยเฉพาะด้านการผลิตไฟฟ้า ดังนั้น หากโครงสร้างของรัฐยังไม่เปลี่ยน ยังคงมีการลงทุนกับเชื้อเพลิงที่เป็นมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมต่อไป แผนการลดคาร์บอนทั้งหลายที่ได้วางแผนไว้ก็สูญเปล่า
“มันจะดีกว่าไหม หากประชาชนจะเลือกซื้อไฟฟ้าที่ผลิตจากผู้รับผิดชอบและคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมมากกว่าไปซื้อไฟฟ้าจากบริษัทที่ใช้ถ่านหิน และก๊าซธรรมชาติ หรือโครงการเขื่อนขนาดใหญ่ที่มีปัญหาต่อสิ่งแวดล้อม ผู้บริโภคและประชาชนควรมีสิทธิเลือกในการเข้าถึงการเลือกซื้อไฟฟ้า เราอยากเห็นการเปิดกว้างแบบนี้มากขึ้น” ดร.กฤษฎา ระบุ
ขณะที่ น.ส.บุญยืน ศิริธรรม ประธานสภาองค์กรของผู้บริโภค ในฐานะตัวแทนผู้บริโภค กล่าวว่า ไฟฟ้าเป็นหนึ่งในปัจจัยขั้นพื้นฐานของมนุษย์ แต่ผู้มีอำนาจของประเทศไทยกำลังทำงานในรูปแบบ ‘มือถือสาก ปากถือศีล’ ปากบอกว่ารักประชาชน ทำเพื่อประชาชน แต่กลับออกกฎหมายที่เอื้อนายทุน เช่น การขุดเจาะก๊าซธรรมชาติ มีการอ้างว่าทำเพื่อความเจริญของประเทศ แต่คนไทยกลับต้องแบกรับภาระแทนธุรกิจขุดเจาะ เพราะรัฐบาลมีนโยบายประกันราคาก๊าซให้
นอกจากนี้ รัฐบาลยังให้นายทุนนำก๊าซที่ขุดได้จากอ่าวไทย ซึ่งมีราคาถูก ไปใช้ในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี และให้การไฟฟ้าฯไปซื้อก๊าซจากแหล่งอื่นที่มีราคาแพงกว่ามาใช้ในการผลิตไฟฟ้า ซึ่งทำให้ค่าไฟฟ้าแพง
“ปัญหาที่เราเจอในทุกวันนี้ คือ ประชาชนก้มหน้าก้มตาจ่ายค่าไฟที่แพง แต่ไม่ได้แพงที่ตัวสินค้า มันแพงเพราะรัฐไปเอื้อความสบายให้นายทุน ของถูกเอาไว้ให้นายทุนใช้ ส่วนประชาชนใช้ของแพง เราขุดเจาะก๊าซได้ในบ้านเราแทนที่จะมีราคาถูก แต่เอาก๊าซที่ขุดได้ไปให้ปิโตรเคมีใช้ในราคาที่ไม่เสียภาษี แล้วให้การไฟฟ้าฯไปซื้อก๊าซในราคาที่แพงกว่ามาใช้ พอนำไปผลิตเป็นไฟฟ้า ราคาก็สูงตามไป แล้วแบบนี้ค่าไฟจะราคาถูกได้อย่างไร” น.ส.บุญยืน กล่าว
น.ส.บุญยืน ระบุด้วยว่า “เรื่องพลังงาน เรื่องไฟฟ้าเป็นเรื่องที่ใครก็ห้ามพูดถึง หากพูดถึงก็จะถูกฟ้อง เพราะไปขัดกับผลประโยชน์”
ด้าน นายชนสรณ์ เฉียบเอี่ยมเชาน์ บริษัท Dot to Dot & Co จ.ระยอง กล่าวว่า คนในพื้นที่ จ.ระยอง มีความเสี่ยงในด้านสุขภาพเป็นอย่างมาก เพราะในพื้นที่ จ.ระยอง นั้น นอกจากจะมีโรงงานอุตสาหกรรมเป็นจำนวนมากแล้ว ยังมีโรงไฟฟ้าถ่านหินด้วย ซึ่งจากการที่ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบสารเคมีในที่สาธารณะ พบว่าสาร VOC หรือ Volatile organic Compounds เกินค่ามาตรฐาน โดยสารดังกล่าวเป็นสาเหตุทำให้มีผู้ป่วยมะเร็งปอด และมะเร็งเม็ดเลือดขาว เพิ่มขึ้นทุกปี
นอกจากนี้ ในขณะที่พื้นที่ จ.ระยอง เป็นที่ตั้งโรงงานอุตสาหกรรมและมีโรงไฟฟ้าหลายแห่ง แต่ปรากฏว่ามีหลายพื้นที่ใน จ.ระยอง ที่ไฟฟ้ายังเข้าไปไม่ถึง เช่น ชุมชนคาเซ ซึ่งไม่มีไฟฟ้าใช้มา 50-60 ปีแล้ว จนกระทั่งมีคนอาสาไปติดตั้งไฟฟ้าโซล่าเซลล์ให้ จึงมีไฟฟ้าใช้ โดยดำเนินการติดตั้งภายในระยะเวลาสั้นๆเท่านั้น
“จ.ระยองเป็น Terminal Gas แต่ทำไมยังมีบางพื้นที่ที่ยังเข้าไม่ถึงไฟฟ้า เหมือนกับว่ารัฐไม่จริงจังในการแก้ไขปัญหา การใช้พลังงานหมุนเวียน และผลักออกไป ดังนั้น จึงเกิดคำถามว่า รัฐรออะไรอยู่ในเมื่อเอกชนพร้อมแล้ว เครือข่ายชุมชนก็พร้อมแล้ว” นายชนสรณ์กล่าว
สำนักข่าวอิศรารายงานว่า ในการแถลงข่าวเรื่อง ‘#ค่าไฟต้องแฟร์’ นั้น ผู้จัดงานได้เปิดให้ผู้ที่สนใจร่วมลงชื่อจดหมายในเปิดผนึก 5 ข้อเสนอ ต่อนโยบายพลังงานเพื่อค่าไฟฟ้าที่เป็นธรรมและสร้างความยั่งยืน เพื่อนำเสนอต่อนโยบายพลังงานของรัฐบาลใหม่ด้วย