‘พาณิชย์’ เผยส่งออกไทยเดือน มิ.ย.66 ติดลบ 6.4% หดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 9 เหตุเศรษฐกิจโลกซบเซา-ตลาดจีนโตช้ากว่าที่คาด ขณะที่ครึ่งปีแรก ส่งออกติดลบ 5.4% ‘พาณิชย์’ ปลอบ ‘ไม่น่าตกใจอะไร’ ระบุประเทศคู่แข่งติดลบหนักกว่า
.............................................
เมื่อวันที่ 26 ก.ค. นายกีรติ รัชโน ปลัดกระทรวงพาณิชย์ แถลงภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทย เดือน มิ.ย. 2566 ว่า การส่งออกไทยในเดือน มิ.ย.2566 มีมูลค่า 24,826.0 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัว 6.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนการนำเข้า มีมูลค่า 24,768.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัว 10.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่ในเดือน มิ.ย.2566 ไทยเกินดุลการค้า มูลค่า 57.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
อย่างไรก็ดี หากหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย พบว่าการส่งออกไทยในเดือน มิ.ย.2566 หดตัวที่ 2.9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
สำหรับการส่งออกไทยเดือน มิ.ย.2566 ที่หดตัว 6.4% นั้น นับเป็นการหดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 9 นับตั้งแต่เดือน ต.ค.2565 โดยในเดือน ต.ค.2565 การส่งออกหดตัว 4.4% ,เดือน พ.ย.2565 การส่งออกหดตัว 6% ,เดือน ธ.ค.2565 การส่งออกหดตัว 14.6% ,เดือน ม.ค.2566 การส่งออกหดตัว 4.5% ,เดือน ก.พ.2566 การส่งออกหดตัว 4.7% ,เดือน มี.ค.2566 การส่งออกหดตัว 4.2% ,เดือน เม.ย.2566 การส่งออกหดตัว 7.6% และเดือน พ.ค.ที่การส่งออกหดตัว 4.6%
นายกีรติ กล่าวต่อว่า เมื่อพิจารณาการส่งออกสินค้าเดือน มิ.ย.2566 แยกเป็นกลุ่มสินค้า พบว่า การส่งออกสินค้าเกษตร มีมูลค่า 2,567.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัว 7.4% โดยหดตัว 2 เดือนต่อเนื่อง ,การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมเกษตร มีมูลค่า 1,966.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัว 10.2% โดยเป็นการหดตัว 3 เดือนต่อเนื่อง และการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม มีมูลค่า 19,316.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัว 4.6% โดยกลับมาหดตัวหลังจากขยายตัวในเดือนก่อน
“ถ้าเปรียบเทียบการส่งออกในเดือน มิ.ย.ของเราที่ติดลบ 6.4% กับประเทศส่งออกหลักๆที่เป็นคู่แข่งของเรา จะพบว่าเขาติดลบมากกว่าเรา ติดลบเป็นตัวเลข 2 หลัก เช่น ไต้หวันที่ติดลบ 23.4% อินเดียติดลบ 22% และอินโดนีเซียติดลบ 21.2% เป็นต้น ดังนั้น ของเราจึงไม่น่าตกใจอะไร ถึงแม้ว่าเราจะติดลบทุกเดือนก็ตาม” นายกีรติ กล่าว
นายกีรติ ระบุด้วยว่า การส่งออกในเดือน มิ.ย.ที่ติดลบดังกล่าว เป็นเพราะฐานในปีที่แล้วสูงมาก คือ เดือน มิ.ย.2565 มูลค่าส่งออก 26,521 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เทียบกับเดือน มิ.ย.2566 ที่มีมูลค่า 24,826.0 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จึงทำให้ตัวเลขส่งออกติดลบ และหากเทียบมูลค่าส่งออกเฉลี่ยในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-มิ.ย.2566) พบว่าการส่งออกเฉลี่ยอยู่ที่ 23,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ/เดือน สูงกว่าช่วงก่อนโควิดที่มูลค่าส่งออกเฉลี่ยอยู่ที่ 20,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ/เดือน
ส่วนภาพรวมการส่งออกไทยในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2566 (ม.ค.-มิ.ย.2566) พบว่าการส่งออกไทย มีมูลค่า 141,170.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัว 5.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และเมื่อหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย การส่งออกจะหดตัว 2.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนการนำเข้า มีมูลค่า 147,477.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัว 3.5% ขณะที่ในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ ไทยขาดดุลการค้า 6,307.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
นายกีรติ กล่าวว่า ปัจจัยสนับสนุนสำคัญต่อการส่งออกไทยในระยะต่อไป ได้แก่ 1.ความต้องการบริโภคสินค้าเกษตรยังคงเติบโต 2.การได้รับอานิสงส์จากการกระจายแหล่งนำเข้าของคู่ค้า เพื่อทดแทนแหล่งซื้อเดิมที่ประสบปัญหาด้านผลผลิต และ 3.การเติบโตของเมกะเทรนด์ด้านสิ่งแวดล้อม การเติบโตของการท่องเที่ยว และปัญหาด้านวัตถุดิบที่คลี่คลายลง โดยทั้ง 3 ปัจจัยจะทำให้การส่งออกไทยปรับตัวดีขึ้นในเชิงมูลค่าในช่วงเดือนถัดๆไป
ขณะที่ปัจจัยเสี่ยงสำคัญในระยะต่อไป คือ ความเสี่ยงในด้านภูมิรัฐศาสตร์ในมุมต่างๆของโลก ซึ่งทำให้เศรษฐกิจโลกมีความผันผวน ในขณะที่ผู้บริโภคทั่วโลกยังคงระมัดระวังการใช้จ่าย
สำนักข่าวอิศรารายงานเพิ่มเติมว่า จากข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์ที่มีการเผยแพร่ในวันเดียวกันนั้น กระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า สาเหตุที่ทำให้การส่งออกในเดือน มิ.ย.2566 ยังคงติดลบนั้น เป็นผลมาจากภาวะเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้ายังคงซบเซาจากแรงกดดันด้านอัตราเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับสูง ทำให้การผลิตและการบริโภคยังคงตึงตัว ขณะที่การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของตลาดจีนค่อนข้างช้ากว่าที่คาด
นอกจากนี้ คู่ค้าส่วนใหญ่ชะลอการสั่งซื้อสินค้าจากผลกระทบของการหดตัวทางด้านอุปสงค์ มีการเร่งระบายสินค้าคงคลังมากขึ้น ส่งผลให้คำสั่งซื้อและการผลิตภาคอุตสาหกรรมลดลง
อย่างไรก็ดี การส่งออกไทยยังคงมีปัจจัยบวกจากค่าเงินบาทอ่อนค่า ช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของผู้ส่งออกในระยะนี้ และกระแสความมั่นคงทางอาหารทำให้สินค้าบางรายการยังขยายตัวดี อาทิ ไก่สดแช่เย็นแช่แข็ง ผักกระป๋อง และผักแปรรูป ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็งและแห้ง ไข่ไก่ ซาร์ดีนกระป๋อง น้ำตาลทราย เป็นต้น
นอกจากนี้ กระทรวงพาณิชย์ ประเมินว่า การส่งออกในช่วงครึ่งปีหลังมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป แม้ว่าจะยังมีความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า โดยเศรษฐกิจจีนฟื้นตัวได้ช้ากว่าที่ตลาดคาดการณ์ จากการบริโภคและการลงทุนที่ยังอ่อนแอ เศรษฐกิจยุโรปเปราะบางจากอุปสงค์ภายในและตลาดแรงงานที่อ่อนแอ โดยเฉพาะตลาดเยอรมนี ฟินแลนด์ และเดนมาร์ก ที่มีระดับค่าครองชีพสูง ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจลดลง
ในขณะที่การถอนตัวจากข้อตกลง Black Sea Grain Initiative ของรัสเซีย และปัญหาภัยแล้งจากปรากฎการณ์เอลนีโญ สร้างความกังวลต่อการตึงตัวของอุปทานอาหารโลก ซึ่งอาจจะกระทบต่อเงินเฟ้อและกำลังซื้อของประเทศคู่ค้า อย่างไรก็ดี มีปัจจัยสนับสนุนการส่งออกจากการเร่งเปิดตลาดศักยภาพเพื่อกระจายความเสี่ยงและลดผลกระทบจากการชะลอตัวของตลาดส่งออกหลัก เช่น ตะวันออกกลาง ลาตินอเมริกา และแอฟริกา
"เงินบาทที่มีแนวโน้มอ่อนค่าต่อเนื่องเป็นผลดีต่อผู้ประกอบการส่งออกสินค้าของไทย และความกังวลต่อการขาดแคลนอาหารทั่วโลก อาจเป็นปัจจัยผลักดันให้มูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรเพิ่มขึ้นจากปัจจัยด้านราคาเป็นสำคัญ" กระทรวงพาณิชย์ระบุ
อ่านประกอบ :
หดตัวเป็นเดือนที่ 8! ส่งออก พ.ค.66 ลบ 4.6%-พณ.มอง‘ศก.โลกฟื้น-บาทอ่อน’คงเป้าทั้งปีโต1-2%
หดตัวต่อเนื่องเดือนที่ 7! 'พาณิชย์'เผยส่งออกไทย เม.ย.66 ติดลบ 7.6%-ยอด 4 เดือนร่วง 5.2%
‘พาณิชย์’ เผยส่งออก มี.ค.66 ติดลบ 4.2% หดตัวต่อเนื่องเดือนที่ 6-ตัวเลขนำเข้าดิ่ง 7.1%
ติดลบต่อเป็นเดือนที่ 5! ส่งออก ก.พ.66 หดตัว 4.7%-2 เดือนแรกไทยขาดดุลฯ 5.7 พันล้านดอลล์
ติดลบเป็นเดือนที่ 4 ! ส่งออก ม.ค.66 หด 4.5%-ขาดดุลการค้า 4.6 พันล.ดอลล์สูงสุดในรอบ 10 ปี
ติดลบเป็นเดือนที่ 3! ส่งออก ธ.ค.65 หด 14.6% ทั้งปียังโต 5.5%-ตั้งเป้าปี 66 ขยายตัว 1-2%
หดตัวเป็นเดือนที่ 2! ส่งออก พ.ย.ลบ 6% เจอ 3 ปัจจัยฉุด'ศก.โลกชะลอ-เงินเฟ้อสูง-สงครามไม่จบ'
ติดลบครั้งแรกในรอบ 19 เดือน! ‘พาณิชย์’เผยส่งออก ต.ค.65 หดตัว 4.4%-10 เดือนเติบโต 9.1%