ดัชนีความมั่นคงอาหารโลก ไทยอยู่เกณฑ์ดี คะแนนเฉลี่ย 64.5 แต่ขาดคุณภาพ ไบโอเทค สวทช. เผยยังต้องการงบ 7,000 ล้านบาท/ปี เตรียมรับมือการเปลี่ยนแปลงจากสภาพภูมิอากาศ
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อที่ 25 กรกฎาคม 2566 ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) จัดแถลงโครงการ ‘การสร้างความสามารถของระบบอาหารชุมชนในการรับมือและปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ’ (Climate Resilience of Local Food System in Thailand) เพื่อหารือข้อเสนอเชิงนโยบายที่จะช่วยเสริมสร้างระบบอาหารท้องถิ่นของไทยให้สามารถรับมือกับและปรับตัวจากการเปลี่ยนแปลงของวิกฤติสภาพภูมิอากาศ
ดร.วรรณพ วิเศษสงวน ผู้อำนวยการศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สวทช. กล่าวว่า ประเทศไทยเป็นผู้ผลิตและส่งออกสินค้าเกษตร และอาหารที่สำคัญของโลก แต่ปัจจุบันเรากำลังเผชิญกับปัญหาวิกฤติการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ วิกฤติทางเศรษฐกิจ การระบาดของโรค ดังนั้นจึงต้องเร่งหาแนวทางแก้ไขปัญหาเพื่อเตรียมรับมือกับวิกฤติต่างๆ
Foreign, Commonwealth and Development Office (FCDO) South Asia Research Hub จึงได้ร่วมมือกับสถานเอกอัครราชทูตแห่งประเทศไทย โดยมอบทุนให้แก่ ไบโอเทค สวทช. ในการดำเนินโครงการเพื่อเสริมสร้างความสามารถของระบบอาหารท้องถิ่นให้มีความสามารถในการรับมือและประตัวต่อวิกฤติต่างๆ โดยเฉพาะวิกฤติการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ โดยอาศัยกลไกทางนโยบาย และความสามารถด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมเป็นเครื่องมือในการสร้างความมั่นคงด้านอาหารบนฐานของความยั่งยืน
“พวกเรามีความมุ่งหวังว่า การดำเนินโครงการนี้จะนำไปสู่ความร่วมมือระหว่างประเทศของไทยและสหราชอณาจักร รวมถึงความร่วมมือจากหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้องในการช่วยกันขับเคลื่อนโครงการนี้ให้บรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ โดยเฉพาะเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน SDGs 2030 ในอนาคตอันใกล้นี้“ ดร.วรรณพ ระบุ
ศ.ดร.มรกต ตันติเจริญ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี กล่าวว่าประเทศไทยติดอันดับที่ 64 จากดัชนีความมั่นคงทางอาหารของโลก พบว่ามีความหลากหลายทางชีวภาพสูง แต่ความมั่นคงทางอาหารต่ำ ความมั่นคงทางอาหารไม่ใช่เพียงแค่ในเชิงปริมาณ แต่รวมถึงคุณภาพของอาหาร อาหารต้องมีความหลากหลาย และทุกคนต้องเข้าถึงแหล่งอาหารได้
ดังนั้นในอนาคตอาจเกิดวิกฤติความมั่นคงด้านอาหารเนื่องจากประชากรที่เพิ่มมากขึ้น การดำรงชีวิตที่เปลี่ยนแปลง และการย้ายถิ่นฐานของประชากรจากชนบทสู่เมืองใหญ่ ทั้งนี้ ทรัพยากรมีอยู่อย่างจำกัด จึงต้องหาแนวทางในการเพิ่มประสิทธิภาพด้านอาหารควบคู่ไปกับการรักษาระบบนิเวศน์ไม่ให้เสื่อมโทรม
“เมื่อเราพูดถึงอาหาร ไม่ได้หมายถึงคาร์โบไฮเดรตที่ทำให้เราอิ่มท้อง แต่หมายถึงอาหารที่มีความหลากหลาย ครบ 5 หมู่ หรือ เป็นอาหารที่เหมาะสมแก่ช่วงวัย เพื่อให้ได้รับสารอาหารที่เหมาะสม และตรงตามความต้องการของร่างกาย ดังนั้นหากประชาชนได้รับอาหารที่ตรงต่อโภชนาการที่ต้องการ ก็จะเกิดสุขภาพที่ดี และลดการเจ็บป่วยลงได้“ ศ.ดร.มรกต กล่าว
น.ส.กุลวรางค์ สุวรรณศรี นักวิจัยนโยบาย งานวิจัยนโยบาย ฝ่ายศึกษานโยบายและความปลอดภัยทางชีวภาพ ไบโอเทค และหัวหน้าโครงการ เปิดเผยว่าจากข้อมูลดัชนีความมั่นคงอาหารโลก (Global Index Security Index) ประเทศไทยมีความมั่นคงทางอาหารในระดับดี ในปี 2564 มีระดับคะแนนเฉลี่ยอยู่ที่ 64.5 จาก 100 คะแนน เนื่องจากราคาอาหารไม่ได้เพิ่มสูงขึ้นจนผู้บริโภคไม่สามารถเข้าถึงอาหารได้ขณะเกิดวิกฤติ แต่ยังมีความน่ากังวลในเรื่องคุณภาพและความปลอดภัยของอาหาร โดยเฉพาะในกลุ่มเปราะบางที่ยังประสบปัญหาด้านทุพโภชนาการ ซึ่งวิกฤติภัยต่างๆเป็นตัวเร่งที่ก่อให้เกิดปัญหาความมั่นคงทางอาหารในสังคม
จากผลการศึกษาวิจัยระดับพื้นที่ (area based) ซึ่งมีความสำคัญในการสร้างความมั่นคงทางอาหารให้แก่ประเทศไทยยังไม่ได้รับความสำคัญเท่าที่ควรในด้านการจัดสรรทุนวิจัยด้านเกษตรและอาหาร เนื่องจากแต่ละพื้นที่มีปัญหาที่แตกต่างกัน การแก้ไขปัญหาย่อมต้องแตกต่าง จึงต้องการข้อมูลเชิงพื้นที่เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาให้ตรงประเด็น นอกจากนี้งานวิจัยด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพพูมิอากาศยังมีไม่เพียงพอและไม่ทันต่อการเปลี่ยนแปลง จึงต้องการการวิจัยพัฒนาที่เข้มข้นมากขึ้น
น.ส.กุลวรางค์ เปิดเผยอีกว่า จากกรณีศึกษาเปรียบเทียบพบว่า ประเทศไทยมีแผนการพัฒนาการรับมือกับความมั่นคงทางอาหารไปในทิศทางเดียวกับประเทศอื่นๆ ซึ่งเป็นไปตามจุดมุ่งหมายของ United Nation และ SDGs 2030 จะเห็นได้ว่าไทยมีการนำการรับมือกับวิกฤติการณ์เข้าผนวกไว้ในนโยบายต่างๆ แต่ยังขาดหน่วยงานที่รับผิดชอบเรื่องความมั่นคงทางอาหารโดยตรง อีกทั้งยังขาดแผนการฉุกเฉินในการรับมือกับปัญหา
ขณะเดียวกัน การปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศจำเป็นต้องใช้เงินทุนสนับสนุนประมาณ 0.4 - 0.7% ของ GDP/ปี หรือประมาณ 7,000 ล้านบาท ดังนั้น ธ.ก.ส.ได้ทำหน้าที่เป็นหน่วยงานหลักที่สนับสนุนเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำแก่เกษตรกร โดยนับจากปี 2563 มีการสนับสนุนวงเงินถึง 6,000 ล้านบาท มีการส่งเสริมการกักเก็บคาร์บอนในพื้นที่ป่าและสนับสนุนนโยบายเพื่อลดความเหลื่อมล้ำและการบุกรุกป่าพร้อมพัฒนาภาคเกษตรกรอย่างยั่งยืน
“ทีมวิจัยได้ร่วมกันพัฒนาข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อยกระดับความสามารถในการตั้งรับปรับตัวของระบบอาหารท้องถิ่น โดยมุ่งเน้นที่การพัฒนาและใช้ประโยชน์ความสามารถด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นที่ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของการมีนโยบายในการรับมือและปรับตัวของระบบอาหารของประเทศไทยต่อวิกฤติต่างๆ ดังนั้นจึงต้องอาศัยความร่วมมือของผู้เกี่ยวข้องในระบบอาหารทั้งภาครัฐ เอกชนและประชาสังคมในการร่วมกันขับเคลื่อนให้มีการดำเนินการขับเคลื่อนทั้งในเชิงนโยบายและปฏิบัติการณ์ต่อไป” น.ส.กุลวรางค์ ระบุ