'จาตุรนต์' หวั่นผลลงมติคว่ำญัตติโหวต 'พิธา' เป็นนายกรัฐมนตรี ทำให้เกิดบรรทัดฐานที่ผิด ชี้เป็นการหักล้างเจตนารมณ์ประชาชนไปเลือกตั้ง อาจลามไปถึงขั้นต้องมีนายกฯ คนนอก เสี่ยงให้เกิดวิกฤติการเมือง
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานข่าวที่รัฐสภา หลังจากที่ที่ประชุมรัฐสภาได้เห็นชอบกรณีที่มีสมาชิกรัฐสภาเสนอคัดค้านว่า การเสนอโหวตนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากพรรคก้าวไกลให้นายกรัฐมนตรีดังกล่าวขัดกับ ข้อที่ 41 ของข้อบังคับการประชุมรัฐสภา 2563 เพราะว่าเป็นญัตติซ้ำ
ทางด้านของนายจาตุรนต์ ฉายแสง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ได้ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวว่าต้องยอมรับว่าการเห็นชอบต่อกรณีนี้อาจจะทำให้เราไปอยู่ในจุดที่หานายกรัฐมนตรีไม่ได้อย่างน้อยหนึ่งสมัยประชุม แบบนี้ก็เท่ากับว่าขัดต่อเจตนาของรัฐธรรมนูญแน่ๆ เพราะรัฐธรรมนูญบอกว่าให้สภาผู้แทนราษฎรเลือกนายกรัฐนตรีจากคนที่มีคุณสมบัติอย่างใดอย่างหนึ่ง สภาก็ต้องทำอย่างนั้น แต่มากลายเป็นว่าอาจมาถึงจุดหนึ่งแล้วสภาเลือกนายกรัฐมนตรีไม่ได้หนึ่งสมัย เพราะฉะนั้นก็แสดงให้เห็นว่าการที่ไปลงมติแบบนี้นั้นเป็นการสร้างบรรทัดฐานที่ผิด
“ในความเห็นผมคือว่าไม่สอดคล้องกับศาลรัฐธรรมนูญ เท่ากับว่าเป็นการแก้ไขเพิ่มเติม แต่เราก็คงไม่ถึงขั้นว่าไปเสนอต่อศาลรัฐธรรมนูญ ก็ยังคิดว่ารัฐสภาควรจะตัดสินใจอะไรกันเอง แต่เห็นว่าการที่ไม่เป็นไปรัฐธรรมนูญแบบนี้ ถ้าทำบ่อยๆ หรือทำกันไปแล้ว ไม่ว่าจะกี่ครั้ง มันจะเป็นผลเสียต่อบ้านเมืองตามมา ที่สำคัญก็คือว่าครั้งนี้เท่ากับเป็นการยืนยันว่าเสียงข้างมากในรัฐสภา ถ้าเราไปดูองค์ประกอบก็จะพบว่าส่วนใหญ่มาจากการแต่งตั้งของคณะรัฐประหารได้หักล้างเจตนารมณ์ของประชาชนส่วนใหญ่ที่แสดงออกในการเลือกตั้ง”นายจาตุรนต์กล่าวและย้ำว่านี่ไม่เป็นผลดีต่อพัฒนาทางการเมืองของประเทศแน่นอน
ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทยกล่าวต่อไปว่านี่จะเป็นปัญหาต่อผู้ที่เสนอแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีคนต่อไป ซึ่งก็คือพรรคเพื่อไทยแน่นอน เพราะถ้าเสนอแล้วยังไม่ได้รับการเห็นชอบ เสียงไม่พออีก ก็จะเสนออีกไม่ได้ มันก็จะไหลไปอีก พรรคที่ไม่เห็นด้วยก็ไม่เสนอใครแข่ง มันก็จะเสนออีกก็ไม่ได้ ก็จะไหลไปอีก และไหลไปยังนายกรัฐมนตรีคนนอกบัญชีหรือลุกลามไปถึงคนที่ไม่ได้รับการยอมรับจากประชาชนก็ยังได้เลย
“การลงมติในครั้งนี้ใช้เสียงข้างมากของรัฐสภาไปหักล้างเจตนารมณ์ของประชาชน โดยไม่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ” นายจาตุรนต์กล่าวและกล่าวต่อไปว่าตอนนี้ก็คงต้องรอหัวหน้าพรรคหรือว่าแกนนำพรรคชี้แจงก่อน ว่าพรรคเพื่อไทยจะเปลี่ยนสูตรในการจัดตั้งรัฐบาลหรือไม่ ส่วนยังตอบไม่ได้
ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทยกล่าวว่าการหารือหลังจากนี้คงต้องฟังความเห็นของพรรคก้าวไกลและพรรคร่วมที่เหลือ แต่ส่วนตัวยังไม่กังวลว่าธงของกลุ่มผู้ชุมนุมจะพุ่งมายังพรรคเพื่อไทย เพราะผลการลงมติในวันนี้ก็เห็นชัดอยู่แล้วว่าใครทำให้เกิดการใช้ข้อบังคับที่ 41 ไปล้มการโหวตนายกรัฐมนตรี ซึ่งบางส่วนก็คือพรรคการเมืองที่ไม่ได้รับการยอมรับจากประชาชนอย่างชัดเจน และอีก 200 กว่าเสียงที่มาจาก ส.ว. ที่หักล้างเจตนารมณ์ของประชาชน
“การตัดสินใจของ ส.ว. ถ้าอย่างที่ผ่านมา เขาดูเหมือนว่าจะไม่มีการคำนึงเจตนาของประชาชนส่วนใหญ่ เพราะฉะนั้นเราไปหวังอะไรกับ ส.ว.ยากมาก เว้นแต่ว่าเขาเกิดดวงตาเห็นธรรมขึ้นมากระทันหัน” นายจาตุรนต์กล่าว และเน้นย้ำว่าการทำให้ประชาชนส่วนใหญ่ผิดหวังมากๆนั้นก็จะทำให้เกิดวิกฤติทางการเมืองขึ้นมาอีกแบบหนึ่งกัน
เมื่อถามถึงมติของศาลรัฐธรรมนูญที่มีความสอดคล้องกับทางรัฐสภา นายจาตุรนต์กล่าวว่ามันเป็นอะไรที่เกิดพร้อมกัน ต้องยอมรับว่าไปเจือสมกับการวิเคราะห์ในลักษณะที่ว่าการใช้กลไกลในรัฐธรรมนูญ และ ส.ว.แต่งตั้งในการที่จะไม่ทำให้การเมืองตั้งมีผลอย่างที่ประชาชนต้องการ ซึ่งเรื่องนี้ก็คงต้องติดตามต่อไป