กสทช. จัดสัมมนา หวังสื่อมวลชนสื่อสารอย่างรับผิดชอบสังคม ไม่จุดชนวนขยายผลความขัดแย้งท่ามกลางสถานการณ์เปราะบางทางการเมือง แนะทำหน้าที่ด้วยความเป็นกลาง-ยึดหลักจรรยาบรรณวิชาชีพ
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.) จัดสัมนาเรื่อง 'สื่อ : การนำเสนอข่าวที่นำไปสู่ความเกลียดชัง และความขัดแย้ง'
ศ.ดร.พิรงรอง รามสูต กรรมการ กสทช. ด้านกิจการโทรทัศน์ เป็นประธานเปิดการสัมมนา กล่าวว่า สื่อมวลชนมีบทบาทสำคัญในการนำเสนอข้อมูลข่าวสาร โดยเฉพาะขณะนี้มีความเปราะบางและอ่อนไหวจากสถานการณ์ทางการเมือง จากจุดยืนทางความคิดทางการเมือง และความเชื่อมที่แตกต่างกัน ทั้ง 2 ฝ่ายมีการใช้สื่อนำเสนอข้อมูลในลักษณะ 'ประทุษวาจา (Hate speech)' ที่ปลุกเร้าให้เกิดความเกลียดชัง ความขัดแย้งรุนแรง ผ่านสื่อทั้งวิทยุ โทรทัศน์ และสื่อออนไลน์ ซึ่งปัจจุบันเป็นยุคที่ผู้รับสารมักให้ความสนใจกับข่าวสารที่เร้าอารมณ์มากกว่าความเป็นจริง (Post Truth) ดังนั้น แม้ว่าสื่อมวลชนจะมีสิทธิในการนำเสนอความคิดเห็น และความเชื่อผ่านการนำเสนอข่าว และรายการต่าง ๆ แต่ก็จำเป็นต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคมด้วย และต้องแสดงบทบาทที่ชัดเจนในการไม่ผลิตเนื้อหาที่นำไปสู่ความเกลียดชัง และความขัดแย้ง รวมทั้งไม่ส่งต่อและขยายความเกลียดชังให้เป็นความขัดแย้ง อันจะส่งผลกระทบต่อสังคมโดยรวม
ศ.ดร. พิรงรอง กล่าวถึงบทบาทของ กสทช.ในยุคปัจจุบัน ว่า กสทช.ต้องการส่งเสริมให้เกิดการรวมกลุ่มกันของมาตรฐานและจริยธรรมของสื่อ เนื่องจากปัจจุบันนี้ สื่อเป็นสิ่งที่ทุกคนเข้าถึงและใครก็สามารถเป็นสื่อได้ กสทช.อยากมีบทบาทในแง่ของการกำกับดูแล การจัดระเบียบและการควบคุมสื่อ โดยที่สื่อต้องไม่เป็นการบ่อนทำลาย การแบ่งแยกทางความคิด และต้องการสนับสนุนความหลากหลาย การสร้างสรรค์ทางความคิด เพื่อส่งเสริมให้เกิดความยั่งยืนของสถานการณ์วิทยุโทรทัศน์ สื่อสารโทรคมนาคมต่อไปในอนาคต
ทางด้าน ผศ.ดร.ชนัญสรา อรนพ ณ อยุธยา ผู้อำนวยการหลักสูตรปริญญาโท คณะนิเทศศาสตร์และนวัตกรรมการจัดการสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ กล่าวว่า การใช้ Hate speech คือ การแสดงออก ทั้งทางวัจนภาษาและอวัจนภาษา ที่ก่อให้เกิดความเกลียดชัง ในบางครั้งมีการปรุงแต่งข่าวสารหรือบิดเบือนข้อมูลที่ผู้ใช้ต้องการโจมตีฝ่ายตรงข้ามกับชุดความคิดของตนเอง มักมีการใช้ร่วมกับข่าวปลอม (Fake news) ซึ่งผลที่ตามมา คือ ความเครียด ความเกลียดชังจากฐานอคติ ความก้าวร้าว การใช้ความรุนแรง และการขยายให้ทวีความรุนแรงด้วยสื่อสังคมออนไลน์ต่าง ๆ ดังนั้น หลายประเทศจึงถือว่า การใช้ประทุษวาจา เป็นเรื่องผิดกฎหมาย
สำหรับ Hate speech สามารถแบ่งได้ 4 ระดับ คือ
-
การแสดงความจงเกลียดจงชัด โดยแบ่งแยกความเป็นเขา-เรา และนำเสนอว่ากลุ่มอื่นคุกคามเราอย่างไร
-
การยั่วยุให้เกลียดโดยกล่าวโทษ ประณาม ลดคุณค่าผู้อื่น
-
การปฏิเสธการอยู่ร่วมกัน
-
การยั่วยุ ปลุกปั่นให้เกิดการกระทำผิดกฎหมาย หรือมุ่งร้าย ทำลายล้างเพื่อปกป้องพวกพ้องตนเอง
"เราจะต้องเฝ้าระวังไม่ให้ความรุนแรงลุกลามไปถึงลำดับที่ 4 ไม่ควรให้เกิดความรุนแรงทางกายภาพได้ ควรหาแนวทางรับมือต่อสถานการณ์ความขัดแย้งอย่างไรไม่ให้สถานการณ์ดิ่งลง ทั้งนี้ในฐานะสื่อมวลชน ผู้ใช้สื่อ ควรตระหนักถึงการแสดงออกซึ่งความเห็นต่างทางการเมืองและไม่สร้าง Hate speech ให้เกิดในสังคม" ผศ.ดร.ชนัญสรา ระบุ
ผศ.ดร.ชนัญญา ได้นำเสนอข้อมูลเปรียบเทียบด้านการเมืองไทยก่อนมีการโหวตนายกรัฐมนตรีและหลังการโหวต ว่า 1 อาทิตย์ก่อนการโหวตนายกรัฐมนตรี ทิศทางในการเพิ่มมากขึ้นของ Facebook และ Twitter โดยเป็นความรู้สึกเชิงบวก 4.3% และเชิงลบ 17% ภายหลังจากการโหวต ความรู้สึกภาพรวมสูงขึ้นถึง 274%
ขณะที่ นพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ ที่ปรึกษากรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ความขัดแย้งทางความคิดมักเกิดจาก 2 อย่าง คือ Hate speech และข่าวปลอม โดยมักจะมาคู่กันเสมอ พร้อมยกตัวอย่าง Hate speech ในต่างประเทศที่ทำให้เกิดการสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ คือ ชาวยิวถูกฆ่าล้างเผ่าพันธ์จากฮิตเลอร์ หรือเหตุการณ์รวันดา จะสังเกตเห็นว่า ก่อนความรุนแรงจะเกิดขึ้น มักจะมี Hate speech และข่าวปลอมมาก่อนเสมอ
นพ.ยงยุทธ กล่าวอีกว่า ปัจจุบันความน่ากลัวของคำพูดที่แสดงความเกลียดชังนั้นน่ากังวลกว่าในอดีต เนื่องด้วยสื่อสังคมออนไลน์ ภายในเวลาเพียงชั่วครู่เดียว คำพูดที่แสดงความเกลียดชังสามารถแพร่กระจายไปทั่ว และเกิดความเกลียดชังเป็นวงกว้าง ดังนั้นสังคมไทยควรสร้างวัฒนธรรมใหม่ขึ้นมา เนื่องจากเราถูกปั่นกระแสมานานนับสิบปี หากออกจากสังคมแบบเดิมได้จะกลายเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญของสังคม
“ดังนั้นเวลาที่ต้องการนำเสนอบทความ ผมมักจะนำเสนอเป็นกลาง ทั้งนี้คนที่เห็นต่างกันก็สามารถเกิด Hate speech ได้เช่นกัน เนื่องจากไม่ถูกใจผู้บริโภค ความจริงแล้วความหลากหลายทางความคิดเป็นต้นทุนทางสังคมที่สวยงาม ควรมีการสร้างระบบสังคมให้ยอมรับความเห็นต่าง และสร้างกติกาไม่ยอมรับ Hate speech เพราะป้องกันการเกิดความรุนแรง โดยเฉพาะเมื่อโซเชียลมีเดียได้เข้ามามีบทบาทในการสื่อข่าว” นพ.ยงยุทธ กล่าว
นายอภิรักษ์ หาญพิชิตวณิชย์ ผู้แทนผู้ประกอบวิชาชีพกิจการโทรทัศน์ กล่าวว่า ความขัดแย้งทางการเมืองขณะนี้ ส่วนหนึ่งเกิดจากช่องว่างระหว่างวัย (Generation Gap) ที่ยังขาดพื้นที่ในการพูดคุยกัน ในขณะที่การทำงานของสื่อมวลชนในปัจจุบันต้องมุ่งสร้างเรตติ้งจากทั้งช่องทางสื่อออนไลน์ผ่านการมีปฏิสัมพันธ์กับเนื้อหา (Engagement) ซึ่งได้กลายเป็นตัวชี้วัดสำคัญในการผลิตสื่อหรือทำรายการ ซึ่งต้องมียอดการกดถูกใจ (Like) การส่งต่อข้อมูล (Share)
ดังนั้น ในบางกรณี สื่อมวลชนบางแห่ง จึงนำเสนอข่าวการเมืองในลักษณะปลุกเร้าอารมณ์ (Dramatization News) จนละเลยการทำหน้าที่อย่างเป็นกลางตามหลักจรรยาบรรณวิชาชีพ ข่าวการเมือง ถูกทำให้กลายเป็นข่าวบันเทิง มากกว่าการทำหน้าที่ตรวจสอบนโยบายของนักการเมืองหรือพรรคการเมือง เน้นทำข่าวการเมืองตามกระแส
นายอภิรักษ์ กล่าวอีกว่า บางครั้งสื่อมวลชนกลับกลายเป็นเครื่องมือในการสร้างความนิยมของนักการเมืองเสียเอง และนักการเมืองก็ใช้สื่อสังคมออนไลน์ของตนเองในการนำเสนอข่าวสารไปยังผู้ติดตาม โดยทำให้บทบาทของสื่อมวลชนในการคัดกรองเนื้อหาหรือกำหนดวาระข่าวสาร (Agenda Setting) ถูกลดบทบาทความสำคัญลงไป
นอกจากนี้ ตนยังตั้งข้อสังเกตว่า การทำงานของผู้สื่อข่าว บางครั้งมีการรับเงินโดยตรงจากแหล่งข่าว ทั้งแบบเปิดเผยผ่านการเป็นสปอนเซอร์ (Sponsorship) และแบบไม่เปิดเผย เพื่อซื้อพื้นที่ข่าวในสื่อออนไลน์ ดังนั้น ควรมีกลไกในการส่งเสริมผู้ผลิตสื่อที่ยึดหลักจรรยาบรรณวิชาชีพ เพื่อสร้างแรงจูงใจให้สื่อมุ่งทำงานนำเสนอข่าวสารบนพื้นฐานข้อเท็จจริง และไม่ตกเป็นเครื่องมือของฝ่ายการเมืองที่ต้องการสร้างความขัดแย้งในสังคม
นายอภิรักษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันสื่อหลักมีการเปลี่ยนแปลงไปตามสถานการณ์ เนื่องจากผู้บริโภคนั้นมักเลือกติดตามสื่อจากความชอบใจมากกว่าความถูกต้อง ผู้บริโภคอาจเกิดความสับสนระหว่างข่าวจริง และข่าวลวง การเปลี่ยนไปของบริบทสังคมทำให้สื่อวิชาชีพนั้นอยู่ยาก และผันตัวกลายเป็นคอนเทนต์ครีเอเตอร์มากขึ้น ดังนั้นรัฐควรสนับสนุนและส่งเสริมสื่อมวลชน โดยต้องอุดหนุนเงิน เพื่อให้สื่อได้ทำคอนเท้นต์ที่ดี หรือการยกเว้นภาษี สื่อบางประเภทควรได้รับการลดหย่อน ดังเช่น โรงเรียนกวดวิชาต่างๆ และการหาพื้นที่ให้สื่อที่ดีมีคุณภาพได้ออกอากาศ
“ทั้งนี้สื่อมวลชนควรเป็นกระจกที่สะท้อนสถานการณ์ความจริงที่เกิดขึ้น และตะเกียงเพื่อเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาให้ประชาชน” นายอภิรักษ์ ระบุ