ผู้เชี่ยวชาญไทย-ตปท.วิจารณ์ 'ดอน' ดอดพบ 'อองซาน ซูจี' ชี้เป็นการทำลายฉันทามติ 5 ข้อ-ตำแหน่ง ปธ.อาเซียนของอินโดนีเซีย ชี้ชัดเมียนมาต้องการทำให้ตัวเองน่าเห็นใจมากขึ้น- ตั้งข้อสงสัยทำไมต้องไปพบในช่วงเลือกนายกฯใหม่
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานข่าวเกี่ยวกับสถานการณ์ในประเทศเมียนมาว่า เหล่าบรรดานักวิชาการและนักวิจารณ์ได้ออกมาโจมตีต่อกรณีที่นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีต่างประเทศไทยได้ออกมาเปิดเผยว่าเดินทางไปยังประเทศเมียนมาในทางลับและพบกับนางอองซาน ซูจี ที่ถูกคุมขังอยู่
โดยเมื่อวันที่ 12 ก.ค.ที่ผ่านมา นายดอนกล่าวระหว่างการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศของสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ที่กรุงจาการ์ตา ยืนยันการว่า นางซูจี ซึ่งถูกคุมขังอยู่ในเรือนจําในกรุงเนปยีดอ "มีสุขภาพที่ดี" และ "สนับสนุนให้มีการเจรจา" เพื่อช่วยแก้ไขวิกฤตการณ์ในเมียนมา
นายดอนเปิดเผยว่าการเยือนดังกล่าวนั้นเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 9 ก.ค. และตัวเขายังได้พบกับ พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย ผู้นำเผด็จการทหารเมียนมา ซึ่งการพบปะกันดังกล่าวนั้นถือว่าเป็นครั้งแรกที่มีการพบปะกันระหว่างเจ้าหน้าที่ระดับสูงจากประเทศสมาชิกอาเซียนนับตั้งแต่มีการรัฐประหารเมื่อเดือน ก.พ. 2564
อย่างไรก็ตามนายดอนไม่ได้ให้รายละเอียดเกี่ยวกับการหารือว่าเป็นอย่างไร
ทั้งนี้หลังการออกมาเปิดเผยของนายดอน ก็ทำให้มีเสียงวิพากวิจารณ์ในแง่ลบตามมา เพราะมองว่าการกระทำของนายดอนเป็นการทำลายฉันทามติ 5 ข้อของอาเซียนที่ต้องการยุติความรุนแรงในเมียนมา
โดยนายฐิตินันท์ พงศ์สุทธิรักษ์ ศาสตราจารย์ด้านรัฐศาสตร์และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกรุงเทพมหานครให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวเมียนมานาว ว่าการที่นายดอนติดต่อกับสภาบริหารแห่งรัฐ ซึ่งถูกแต่งตั้งโดยรัฐบาลทหาร บ่อนทําลายฉันทามติ 5 ข้อของอาเซียน และบ่อนทําลายตําแหน่งประธานอาเซียนของอินโดนีเซีย
“แม้แต่กระทรวงการต่างประเทศไทยก็ไม่รู้เกี่ยวกับการเดินทางนี้” นายฐิตินันท์กล่าว
ทางด้านของนายแอรอน คอนเนลลี่ เจ้าหน้าที่อาวุโส ด้านการเมืองเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และนโยบายต่างประเทศที่สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการศึกษาเชิงกลยุทธ์ ได้ตั้งข้อสงสัยว่าเหตุใดนายดอนถึงได้รับอนุญาตให้เข้าพบนางซูจีได้ เพราะว่าที่ผ่านมา ความพยายามที่จะเข้าพบนางซูจีหลายครั้งของเจ้าหน้าที่ระดับสูงอาเซียนนั้นถูกปฏิเสธจากฝ่ายรัฐบาลทหารเมียนมา
นายคอนเนลลี่ยังได้วิเคราะห์ด้วยว่าสาเหตุนั้นเป็นเพราะว่ารัฐบาลทหารกำลังแสดงความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อประเทศที่แสดงตัวว่าให้การสนับสนุนต่อรัฐบาลทหารมากขึ้น
“อาเซียนเห็นพ้องในฉันทามติ 5 ข้อเมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2564 ว่าประธานอาเซียนจะ 'อํานวยความสะดวกในการไกล่เกลี่ย' ของ 'การเจรจาระหว่างทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง' ประธานสามประเทศได้พยายามพบกับอองซานซูจีเพื่อปฏิบัติตามข้อตกลงนี้ แต่รัฐบาลทหารได้ปฏิเสธคําขอเหล่านี้ทั้งหมด" นายคอนเนลลีทวีตลงในทวิตเตอร์และระบุต่อว่า "การปิดกั้นการเข้าถึงของประธานอาเซียนต่อนางอองซานซูจี และในขณะที่อนุญาตให้นายดอนจากประเทศไทยพบปะกับเธอ หมายความว่ารัฐบาลทหารกําลังพยายามเปลี่ยนการทูตระหว่างประเทศออกจากเวทีที่พบว่าเป็นปฏิปักษ์ต่อผลประโยชน์ของตนและพยายามทำให้ตัวเองดูน่าเห็นใจมากขึ้น”
นอกจากนี้ยังมีการวิจารณ์กันว่าทำไมการเดินทางของนายดอนจึงเกิดขึ้นในช่วงใกล้จะมีการเลือกนายกรัฐมนตรี เพราะว่าถ้าหากนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ จากพรรคก้าวไกลได้รับการเลือกจากรัฐสภา ก็หมายความว่านายดอนจะไม่อยู่ในตำแหน่งอีกต่อไป
“มันเป็นการเดินทางที่ผิดปกติอย่างมาก เพราะตำแหน่งของนายดอนนั้นหมดอายุแล้ว เขาเป็นส่วนหนึ่งของรัฐบาลที่ไม่มีอำนาจและอาณัติจะมีส่วนร่วมในการประชุมในระดับสูงเช่นนี้ และการเดินทางนี้ยังเกิดขึ้นในสัปดาห์เดียวกับที่จะมีการเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่ของไทย” นายฐิตินันท์กล่าว