ศาลปกครองเชียงใหม่ชี้ นายกฯ-คณะกก.สิ่งแวดล้อมละเลยปฏิบัติหน้าที่ ไม่ใช้อำนาจยับยั้งสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 ชี้ปัญหายังเกิดขึ้นทุกปีแถมยังทวีความรุนแรงขึ้น พิพากษาให้แก้ปัญหาโดยเร็วที่สุด
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่าเมื่อวันที่ 10 ก.ค. ศาลปกครองเชียงใหม่ได้มีคำพิพากษาในคดีที่ นายสุชาติพิชัย เป็นโจทก์ยื่นฟ้องพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นจำเลยที่ 1 และคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติเป็นจำเลยที่ 2 ในฐานความผิดว่าไม่ได้ใช้อำนาจหน้าที่ยับยั้งสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5
โดยคำสรุปของศาลปกครองระบุว่า
วินิจฉัยแล้วว่า ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองละเลยต่อหน้าที่ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 และผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ละเลยต่อหน้าที่ ตามพระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. 2550 หรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าว ล่าช้าเกินสมควรในการป้องกัน บรรเทาและแก้ไขปัญหาควันหรือฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ แต่สถานการณ์ปัญหาควันหรือฝุ่นละออง ขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน ที่เกิดขึ้นในท้องที่จังหวัดเชียงใหม่ได้คลี่คลายลงแล้วตั้งแต่ช่วง เดือนพฤษภาคม 2566 ที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตาม เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า ปัญหาควันหรือ ฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) ในเขตจังหวัดเชียงใหม่ก็ยังคงเกิดขึ้นเป็นประจํา ในช่วงเดือนธันวาคมถึงพฤษภาคมของทุกปีอย่างต่อเนื่อง และมีแนวโน้มว่าจะทวีความรุนแรงขึ้น อันจะก่อให้เกิดผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อสุขภาพอนามัยของประชาชน และเกิดผลกระทบต่อ คุณภาพสิ่งแวดล้อม โดยที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 43 กําหนดให้บุคคลและ ชุมชนมีสิทธิจัดการ บํารุงรักษา และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม อย่างสมดุล และยั่งยืนตามวิธีการที่กฎหมายบัญญัติ และมาตรา 53 กําหนดให้รัฐต้องดูแลให้มีการปฏิบัติตาม และบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด
ประกอบกับมาตรา 55 กําหนดให้รัฐต้องดําเนินการให้ ประชาชนได้รับบริการสาธารณสุขที่มีประสิทธิภาพอย่างทั่วถึง เสริมสร้างให้ประชาชนมีความรู้ พื้นฐานเกี่ยวกับการส่งเสริมสุขภาพการป้องกันโรค และการบริการสาธารณสุขครอบคลุมถึง การรักษาพยาบาล ด้วยเหตุนี้ เพื่อเป็นการระวังและป้องกันมิให้เกิดปัญหาควันหรือฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) ที่อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของประชาชน และก่อให้เกิดผลกระทบเสียหาย ต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมในอนาคตไว้ก่อน ตามหลักการระวังไว้ก่อน (Precautionary principle) และหลักการป้องกันล่วงหน้า (Preventive principle)
ดังนั้น เมื่อเป็นที่แน่ชัดว่าปัญหาควัน หรือฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่มีแนวโน้มว่าจะ เกิดขึ้นอีกในอนาคต กรณีจึงมีเหตุผลเพียงพอที่ศาลจะพิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองกําหนด มาตรการที่มีประสิทธิภาพและรวดเร็ว เพื่อใช้ในการระวัง ป้องกัน บรรเทา และแก้ไขปัญหา ควันหรือฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) ในเขตจังหวัดเชียงใหม่ที่อาจเกิดขึ้นใน อนาคต เพื่อให้เจ้าหน้าที่ของรัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถดําเนินการป้องกัน คุ้มครอง บํารุงรักษา ฟื้นฟู และบริหารจัดการปัญหาสุขภาพอนามัยของประชาชนและสิ่งแวดล้อมอันเกิด จากควันหรือฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) ได้อย่างสมดุลและยั่งยืนต่อไป
พิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ร่วมกันใช้อํานาจตาม พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 พระราชบัญญัติ ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. 2550 และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งดําเนินการอื่นใดเพื่อระวัง ป้องกัน บรรเทา และแก้ไขปัญหามลพิษอันเกิดจากควันหรือฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน2.5 ไมครอน (PM2.5) ในเขตจังหวัดเชียงใหม่ให้อยู่ในค่ามาตรฐานฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน ในบรรยากาศโดยทั่วไป และเกณฑ์ดัชนีคุณภาพอากาศของประเทศในระดับดีมาก หรือระดับดีต่อสุขภาพของประชาชนและสิ่งแวดล้อมในอนาคตได้อย่างทันท่วงที คําขออื่นนอกจากนี้ให้ยก