‘บสส.’ แพร่ประกาศคณะกรรมการสรรหาฯ ‘กรรมการผู้จัดการ บสส.’ คนใหม่ เปิดรับสมัคร 26 มิ.ย.-26 ก.ค.นี้ วงในวิจารณ์ส่อ ‘ลดคุณสมบัติ’ ผู้สมัคร เหตุไม่ต้องมีประสบการณ์ด้าน ‘อสังหาฯ’ แถมขยายอายุผู้สมัครเป็นไม่เกิน 63 ปี ต่างจากประกาศ 3 ฉบับก่อนหน้า ที่กำหนดอายุไม่เกิน 58 ปี ขณะที่ ‘ประธานบอร์ด’ สั่งฝ่ายกฎหมายตรวจสอบแล้ว
........................................
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 23 มิ.ย.ที่ผ่านมา นายนพดล เภรีฤกษ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ในฐานะประธานคณะกรรมการสรรหากรรมการผู้จัดการ บริษัท บริหารสินทรัพย์สุขุมวิท จำกัด (บสส.) หรือ SAM ได้ลงนามประกาศคณะกรรมการสรรหากรรมการผู้จัดการ บริษัท บริหารสินทรัพย์สุขุมวิท จำกัด เรื่อง การรับสมัครบุคคลเพื่อคัดเลือกเข้าดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ บริษัท บริหารสินทรัพย์สุขุมวิท จำกัด
ทั้งนี้ ประกาศคณะกรรมการสรรหาฯฉบับดังกล่าว กำหนดให้ผู้สนใจสามารถยื่นใบสมัครได้ตั้งแต่วันที่ 26 มิ.ย.-16 ก.ค.2566 และหากได้รับการคัดเลือกจะมีวาระการดำรงตำแหน่งไม่เกิน 4 ปี นับจากวันที่ดำรงตำแหน่งตามสัญญาจ้าง และเมื่อครบกำหนดตามสัญญาจ้าง บสส. อาจพิจารณาต่อสัญญาจ้างได้อีก แต่สัญญาจ้างจะกระทำได้อีกคราวเดียว และอยู่ในวาระได้ไม่เกิน 4 ปี
สำหรับประกาศฯฉบับนี้ ได้กำหนดคุณสมบัติทั่วไปของผู้สมัคร ได้แก่ 1.มีสัญชาติไทย ,2 มีอายุไม่เกิน 63 ปีบริบูรณ์ ในวันยื่นใบสมัคร 3.สามารถทำงานให้ บสส.ได้เต็มเวลา ,4.ไม่เป็นกรรมการในคณะกรรมการ บสส.
ส่วนคุณสมบัติเฉพาะของผู้สมัคร ได้แก่ 1.มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านการเงินและเศรษฐศาสตร์ มีประสบการณ์ด้านสถาบันการเงิน หรือการบริหารสินทรัพย์ หรือประสบการณ์อื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง 2.มีวิสัยทัศน์และแนวคิดเชิงกลยุทธ์ในการพัฒนากิจการบริหารสินทรัพย์ 3.มีความรู้ ความสามารถและมีความเป็นผู้นำในการบริหารจัดการองค์กร และสามารถนำพาองค์กรในการเปลี่ยนผ่านกระบวนการทางธุรกิจให้รองรับธุรกิจบริหารสินทรัพย์ในอนาคต
4.มีทักษะในการบริหารจัดการองค์กร การบริหารการเปลี่ยนแปลง การสื่อสาร การโน้มน้าว เพื่อนำไปสู่การปรับเปลี่ยนองค์กร เพื่อตอบสนองทิศทางธุรกิจ 5.มีประสบการณ์ในการบริหารจัดการองค์กร รวมกันไม่น้อยกว่า 2 ปี และเป็นผู้บริหารระดับสูงขององค์กรในระดับ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ หรือเทียบเท่าขึ้นไป
@วิจารณ์ลดสเปค‘ผู้สมัคร’ ไม่ต้องมีประสบการณ์ด้าน‘อสังหาฯ’
อย่างไรก็ตาม ภายหลังจาก บสส. ได้เผยแพร่ประกาศคณะกรรมการสรรหาฯฉบับนี้บนเว็บไซต์ของ บสส. ในวันที่ 26 มิ.ย.2566 หรือเป็นเวลา 3 วัน หลังจากที่ นายนพดล ได้ลงนามในประกาศคณะกรรมการสรรหาฯเมื่อวันที่ 23 มิ.ย.2566 นั้น ปรากฏว่ามีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า ประกาศสรรหาฯกรรมการผู้จัดการ บสส. ในครั้งนี้ เป็นการลดคุณสมบัติ (สเปค) ของผู้เข้ารับการสรรหาเป็นกรรมการผู้จัดการ บสส. หรือไม่
เช่น กรณีที่ประกาศคณะกรรมการสรรหาฯ ฉบับวันที่ 23 มิ.ย.2566 กำหนดคุณสมบัติเฉพาะของผู้สมัคร ว่า “…ข้อ 2.1 มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านการเงินและเศรษฐศาสตร์ มีประสบการณ์ด้านสถาบันการเงิน หรือบริหารสินทรัพย์หรือประสบการณ์อื่นๆที่เกี่ยวข้อง ข้อ 2.2 มีวิสัยทัศน์และแนวคิดเชิงกลยุทธ์ในการพัฒนากิจการบริหารสินทรัพย์..” นั้น แตกต่างจากประกาศคณะกรรมการสรรหาฯ กรรมการผู้จัดการ บสส. 3 ฉบับก่อนหน้านี้
ได้แก่ ประกาศคณะกรรมการสรรหาฯฉบับวันที่ 18 ม.ค.2564 ซึ่งกำหนดคุณสมบัติเฉพาะของผู้สมัคร ว่า “ข้อ 2.1 มีความรู้หรือความเชี่ยวชาญด้านการเงินและเศรษฐศาสตร์ และ/หรือมีประสบการณ์ที่เกี่ยวข้องกับสถาบันการเงิน หรือธุรกิจอสังหาริมทรัพย์”
ในขณะที่ประกาศคณะกรรมการสรรหาฯ ฉบับวันที่ 26 ก.ค.2561 และประกาศคณะกรรมการสรรหาฯฉบับวันที่ 6 ก.พ.2560 กำหนดคุณสมบัติเฉพาะของผู้สมัครเหมือนกัน ว่า “…ข้อ 2.1 ต้องสำเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่าระดับปริญญาตรี ข้อ 2.2 มีความรู้ด้านการคลัง การเงินการธนาคาร เศรษฐศาสตร์ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์หรือการแก้ไขและปรับปรุงโครงสร้างหนี้เป็นอย่างดี”
@ขยายอายุจากไม่เกิน 58 ปี เป็น 63 ปี-ไม่กำหนดอายุเกษียณ
นอกจากนี้ ประกาศคณะกรรมการสรรหาฯ ฉบับวันที่ 23 มิ.ย.2566 ที่กำหนดคุณสมบัติทั่วไปของผู้สมัคร ว่า “มีอายุไม่เกิน 63 ปีบริบูรณ์ ในวันยื่นใบสมัคร” ซึ่งแตกต่างจากประกาศคณะกรรมการสรรหาฯฉบับวันที่ 18 ม.ค.2564 ,ประกาศคณะกรรมการสรรหาฯ ฉบับวันที่ 26 ก.ค.2561 และประกาศคณะกรรมการสรรหาฯฉบับวันที่ 6 ก.พ.2560 ที่กำหนดคุณสมบัติทั่วไปของผู้สมัคร ว่า “มีอายุไม่เกินห้าสิบแปด (58) ปีบริบูรณ์ ในวันยื่นใบสมัคร”
ขณะเดียวกัน ประกาศคณะกรรมการสรรหาฯ ฉบับวันที่ 23 มิ.ย.2566 ยังกำหนดให้ “กรรมการผู้จัดการ บสส. มีวาระการดำรงตำแหน่งไม่เกิน 4 ปี นับจากวันที่ดำรงตำแหน่งตามสัญญาจ้าง และเมื่อครบกำหนดตามสัญญาจ้าง บสส. อาจพิจารณาต่อสัญญาจ้างได้อีก แต่สัญญาจ้างจะกระทำได้อีกคราวเดียว และอยู่ในวาระได้ไม่เกิน 4 ปี”
หรือเท่ากับว่าหากผู้สมัครที่มีอายุไม่เกิน 63 ปี และได้รับการคัดเลือกเป็นกรรมการผู้จัดการ บสส. นั้น จะสามารถอยู่ในตำแหน่งได้เป็นเวลาไม่เกิน 4 ปีตามสัญญาจ้าง และหากได้รับการต่อสัญญาสมัยที่ 2 อีกไม่เกิน 4 ปี ก็เท่ากับว่าบุคคลรายดังกล่าวจะดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ บสส. ได้จนถึงอายุ 71 ปี
แตกต่างจากประกาศคณะกรรมการสรรหาฯ 3 ฉบับก่อนหน้า ที่ระบุว่า "กรรมการผู้จัดการ บสส. มีวาระการดำรงตำแหน่งไม่เกิน 4 ปี นับจากวันเริ่มดำรงตำแหน่งตามสัญญาจ้าง หรืออยู่ในวาระได้ไม่เกินอายุ 60 ปีบริบูรณ์ แล้วแต่กรณีใดจะถึงก่อน ,เมื่อครบกำหนดตามสัญญาแล้ว บสส. อาจพิจารณาต่อสัญญาจ้างได้อีก แต่สัญญาจ้างจะกระทำได้อีกคราวเดียวและอยู่ในวาระได้ไม่เกิน 4 ปี หรือเมื่ออายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ แล้วแต่กรณีใดจะถึงก่อน”
@ประธานฯสั่ง‘ฝ่ายกฎหมาย’ตรวจสอบ ปมไม่เสนอบอร์ดฯ
ด้าน แหล่งข่าวจาก บสส. กล่าวกับสำนักข่าวอิศรา ว่า การออกประกาศคณะกรรมการสรรหาฯ เรื่อง การรับสมัครบุคคลเพื่อคัดเลือกเข้าดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ บริษัท บริหารสินทรัพย์สุขุมวิท จำกัด ฉบับลงวันที่ 23 มิ.ย.2566 ดังกล่าว ไม่ได้ผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการ บสส. แต่อย่างใด โดยล่าสุดเมื่อวันที่ 27 มิ.ย.ที่ผ่านมา ที่ประชุมคณะกรรมการ บสส. ได้มีการหารือนอกรอบกรณีการออกประกาศคณะกรรมการสรรหาฯฉบับนี้แล้ว
“ที่ประชุมบอร์ด บสส. ได้หารือกันนอกรอบ ว่า เมื่อคณะกรรมการสรรหาฯ ได้มีการเปลี่ยนแปลงเนื้อหาของประกาศคณะกรรมการสรรหาฯแตกต่างไปจากเดิม แต่เหตุใดคณะกรรมการสรรหาฯ จึงไม่นำประกาศฯมาให้บอร์ดพิจารณาก่อน ในขณะที่ประธานบอร์ด ได้สั่งการอย่างไม่เป็นทางการให้ฝ่ายกฎหมายของ บสส. ไปศึกษาว่า การออกประกาศคณะกรรมการสรรหาฯ (ฉบับวันที่ 23 มิ.ย.2566) โดยไม่ผ่านบอร์ด ทำได้หรือไม่” แหล่งข่าวกล่าว
ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา โทรศัพท์ติดต่อไปยังนายนพดล ในฐานะประธานคณะกรรมการสรรหากรรมการผู้จัดการ บสส. ผ่านเลขานุการของนพดล เพื่อสอบถามกรณีที่มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับการออกประกาศคณะกรรมการสรรหาฯ กรรมการผู้จัดการ บสส. ฉบับวันที่ 23 มิ.ย.2566 โดยเลขานุการของนายนพดล บอกว่า นายนพดล ติดประชุมอยู่และไม่น่าจะมีเวลาว่างที่จะให้สัมภาษณ์ในประเด็นนี้ พร้อมทั้งบอกว่า ให้ไปสอบถามเรื่องนี้กับทาง บสส.
สำหรับ บริษัท บริหารสินทรัพย์สุขุมวิท จำกัด (บสส.) หรือ SAM จัดตั้งขึ้นตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 18 เม.ย. 2543 เพื่อบริหารจัดการและแก้ไขปัญหาหนี้เสีย หรือ สินเชื่อด้อยคุณภาพ (NPL) โดยรับโอนจากธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) และมีกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (กองทุนฯ) เป็นผู้ถือหุ้นทั้งหมด