แถลงปิดคดี 'แอม ไซยาไนด์' ชี้เป็นคดีประวัติศาสตร์ โทษสูงสุดประหารชีวิต ทยอยส่งคดีอัยการ วางแผนฆาตกรรมต่อเนื่อง 8 ปี พบติดพนันออนไลน์มีหนี้ใน-นอกระบบจำนวนมาก รวม 15 คดี 75 ข้อหา ใช้เวลากว่า 3 เดือน สอบพยานกว่า 900 ปาก
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 30 มิ.ย. 2566 พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร.เป็นประธาน พร้อม พล.ต.ท.อิทธิพล อัจฉริยะประดิษฐ์ ผบช.สพฐ.ตร.,พล.ต.ท.ธนายุตม์ วุฒิจรัสธำรงค์ ผบช.ภ.7,พล.ต.ต.มนตรี เทศขัน ผบก.ป.,พล.ต.ต.กำธร อุ่ยเจริญ ผบก.สพฐ.ภ.7,พ.ต.อ.เอนก เตาสุภาพ รอง ผบก.ป.,พ.ต.อ.ทัศน์ภูมิ พิศมัย รอง ผบก.สส.ภ.4 และ รศ.ดร.วีรชัย พุทธวงศ์ อาจารย์ประจำภาควิชาเคมี คณะศิลปะศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ร่วมแถลงคดีนางสรารัตน์ รังสิวุฒาภรณ์ หรือ แอม ไซยาไนด์ ผู้ต้องหาวางยาฆ่าเจ้าหนี้ 15 คดี ในพื้นที่ 8 จังหวัด โดยคดีแรกเกิดในปี 2558 ต่อเนื่องปี 2566 มีผู้เสียชีวิต 14 ราย รอดชีวิต 1 ราย
พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ กล่าวว่า ผู้เสียชีวิตทั้งหมด มีความเกี่ยวพันกับแอม ไซยาไนด์ ในฐานะเจ้าหนี้เงินกู้ นายหน้าขายรถมือสอง และลูกวงแชร์ ซึ่งพนักงานสอบสวนชุดคลี่คลายคดีประกอบด้วยตำรวจสอบสวนกลาง โดยกองบังคับการปราบปราม ตำรวจภูธรภาค 7 ตำรวจพิสูจน์หลักฐานสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้รวบรวมพยานหลักฐานจากพื้นที่เกิดเหตุเป็นภาพจากกล้องวงจรปิด สอบปากคำแพทย์ผู้ชันสูตร ซึ่งสถาบันนิติเวชวิทยาได้ตรวจสอบเลือดและสารคัดหลั่งในกระเพาะจากศพเหยื่อรายสุดท้ายที่ จ.ราชบุรี พบสารไซยาไนด์ในเนื้อตับของผู้ตาย รวมพยานอื่นๆ ทั้งหมดกว่า 900 ปาก มีเอกสารเกี่ยวกับคดีถึง 26,500 แผ่น ใช้เวลาในการรวบรวมพยานหลักฐานมากกว่า 3 เดือน ถือเป็นคดีที่ระดมชุดสืบสวนสอบสวนมากที่สุดในประเทศไทยจนสามารถสรุปสำนวนดำเนินคดีนางสรารัตน์ รวม 15 คดี ประกอบด้วย ความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่น,ฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนฯ,ชิงทรัพย์โดยเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย และปลอมปนอาหาร ยา หรือเครื่องอุปโภค บริโภคอื่นใด เพื่อบุคคลอื่นเสพหรือใช้,การปลอมปนนั้นเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย และปลอม และใช้เอกสารปลอมฯ รวมกว่า 75 ข้อหา
นอกจากนี้ พนักงานสอบสวนยังสรุปสำนวนดำเนินคดีกับบุคคลใกล้ชิดนางสรารัตน์ อีก 2 รายที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทำลายพยานหลักฐานได้แก่ พ.ต.ท.วิฑูรย์ อดีตสามีแอมคนล่าสุด และ น.ส.ธันย์นิชา ทนายความส่วนตัวของนางสรารัตน์ ดำเนินคดีฐาน เพื่อจะช่วยผู้อื่นมิต้องรับโทษ หรือรับโทษน้อยลง ร่วมกันทำให้เสียหาย ทำลาย ซ่อนเร้น เอาไปเสียหรือทำให้สูญหาย หรือทำให้ไร้ประโยชน์ ซึ่งพยานหลักฐานในการกระทำผิด
พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ กล่าวว่า คดีนี้เป็นคดีประวัติศาสตร์ของประเทศไทยที่ผู้ต้องหาวางแผนฆาตกรรมต่อเนื่องยาวนานกว่า 8 ปี โดยวางยาพิษให้เหยื่อกินจนเสียชีวิตในลักษณะเหมือนการเจ็บป่วย ด้วยภาวะการทำงานของหัวใจล้มเหลว เพื่อให้ญาติไม่มีข้อสงสัย ก่อนหวังเอาทรัพย์สินจากเหยื่อ หรือล้างหนี้ที่เคยยืมกันมา ซึ่งมีผลการวิจัยพบว่าหากฆาตกรเป็นผู้หญิงจะเกี่ยวกับการแสวงหาผลประโยชน์จากคนใกล้ชิด หากเป็นผู้ชายจะเกี่ยวกับการฆ่า เรื่องทางเพศ และล่าเหยื่อเป็นหลัก ส่วนฆาตกรรมต่อเนื่องคือการฆ่าคนมากกว่า 2 คนขึ้นไปโดยทิ้งระยะเวลาห่างกัน ต่างจากการสังหารหมู่ ทั้งนี้ขอให้มั่นใจว่าสามารถดำเนินคดีผู้ต้องหาได้แน่นอน และจะไม่เกืดเหตุซ้ำเช่นคดีนายสมคิด พุ่มพวง หรือคิด เดอะริปเปอร์ ฆาตกรต่อเนื่องที่ออกจากเรือนจำมาก่อเหตุซ้ำแน่ พร้อมยืนยันว่านางสรารัตน์ มีสภาพจิตปกติทุกอย่าง
พ.ต.อ.เอนก กล่าวว่า หลังมีผู้เสียชีวิตที่ จ.ราชบุรี พบหลักฐานจากกล้องวงจรปิดที่มีบุคคลต้องสงสัยมาด้วยกันกับผู้ตาย เดินลงไปที่ท่าน้ำก่อนขึ้นมาและหลบหนีออกไป เมื่อตรวจสอบพบว่าผู้ต้องหาได้ลักทรัพย์ของผู้ตายไป จึงเปิดคดีและมารดาผู้ตาย สงสัยว่าเป็นการตายพิษธรรมชาติจึงมาร้องเรียนที่กองปราบปราม ก่อนที่ กก.5 บก.ป.ลงพื้นที่สืบสวนข้อเท็จจริง และได้รับสารคัดหลั่งจากผู้ตายมาตรวจที่สถาบันนิติเวช พบสารพิษไซยาไนด์ในเลือดและกระเพาะอาหารในปริมาณเข้มข้นสูง ทั้งยังได้ข้อมูลจากพยานบุคคลที่ได้รับถุงดำบรรจุสารโพรแทสเซียมไซยาไนด์มาจากนางสรารัตน์ ดังนั้นจึงเชื่อได้ว่านางสรารัตน์ลงมือก่อเหตุจริง จึงขออนุมัติศาลออกหมายจับมาดำเนินคดี จากนั้นมีญาติผู้ตาย 13 ราย และผู้รอดชีวิต 1 ราย สงสัยว่าญาติตนเองประสบเหตุในลักษณะเดียวกัน จึงร้องทุกข์ในหลายพื้นที่ทั้งตำรวจนครบาล ภ.4 และ ภ.7 เมื่อ ผบ.ตร.เห็นว่าคดีเกิดขึ้นทั่วประเทศ จึงมีคำสั่งโอนคดีมายัง บก.ป.เมื่อสืบสวนสอบสวน พบมูลเหตุจูงใจหลัก 2 เรื่องคือ 1.ฆ่าเพื่อเอาทรัพย์สินเหยื่อไป และ 2.ผู้ตายและผู้ต้องหามาความเกี่ยวข้องกัน โดยผู้ต้องหาหลอกยืมเงินผู้ตาย ให้เงินไปปล่อยกู้และรับดอกเบี้ยอัตราสูง และเล่นแชร์ ซึ่งไม่มีเหยื่อรู้ตัวว่าจะถูกสังหาร
พ.ต.อ.เอนก กล่าวว่า แนวทางการสืบสวนยังพบว่าผู้ต้องหาติดพนันออนไลน์มีหนี้ในระบบและนอกระบบจำนวนมาก จึงต้องหาเงินมาชดใช้คืนด้วยวิธีการดังกล่าว โดยพบพฤติกรรมก่อเหตุมี 3 ประการ คือ 1.ขับรถไปรับผู้ตายออกมาประทานอาหารจากที่บ้าน ก่อนลอบวางไซยาไนด์และนำไปส่งบ้านกระทั่งผู้ตายเสียชีวิต 2.รับผู้ตายจากบ้านและลอบวางไซยาไนด์จนเสียชีวิต และ 3.ส่งแคปซูลยาอ้างเป็นยาลดความอ้วนไปให้ผู้ตายถึงที่บ้านซึ่งมีคดีเดียวใน จ.มุกดาหาร หลังผู้ต้องหาเห็นผู้ตายต้องการจะลดน้ำหนักหลังคลอด
พ.ต.อ.เอนก กล่าวอีกว่า หลังก่อเหตุผู้ต้องหาจะโทรศัพท์หาเหยื่อหรือคนใกล้ตัวเหยื่อว่ามีอาการหรือไม่ หากมีอาการแล้วจะตัดขาดการติดต่อไป จากนั้นผู้ต้องหาพยายามทำลายพยานหลักฐานโดยไปเอาโทรศัพท์มือถือผู้ตายออกมา ก่อนนำโทรศัพท์อีกเครื่องไปวางไว้แทน หรือหาทางเอาโทรศัพท์จากญาติผู้ตายมาให้ตนเองทำลายข้อมูลในโทรศัพท์ที่จะเชื่อมโยงมาถึงตัว รวมถึงยังเอาทรัพย์สินต่างๆ ของผู้ตาย และทำหลักฐานเท็จเพื่อไปเอาทรัพย์สินจากญาติผู้ตายด้วย
สำหรับความเกี่ยวข้องของผู้ต้องหาที่มีความใกล้ชิดกับนางสรารัตน์ นั้น หลังผู้ต้องหาลงมือสังหารเหยื่อที่ จ.ราชบุรี ก็ได้นำทรัพย์สินใส่กระเป๋ากลับไปหาสามีที่ จ.กาญจบุรี ก่อนสามี จะไปฝากไว้ที่บ้านเกิดแม่ ใน จ.สุโขทัย จากนั้นนางสรารัตน์ จึงแจ้งแม่สามีให้ส่งกระเป๋ากลับมา โดยสามีได้วางแผนร่วมกันกับทนาย เพื่อนำกระเป๋าไปซุกซ่อนที่อยู่ของพยานใน อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี
ส่วนเงื่อนไขตามข้อกฎหมาย ที่พิจารณางดเว้นโทษประหารหากผู้ต้องหาเป็นหญิงตั้งครรภ์นั้น ตามที่นางสรารัตน์ ได้แท้งลูกไปแล้ว จึงถือว่าไม่เข้าเงื่อนไขข้างต้น และข้อหาที่สั่งฟ้องมีโทษสูงสุดถึงขั้นประหารชีวิต ขณะที่สำนวนทั้ง 15 คดีจะเริ่มทยอยส่งให้อัยการภายในวันนี้
พ.ต.อ.ทัศน์ภูมิ เผยว่า จากการตรวจสอบไซยาไนด์ที่ใช้ก่อเหตุมียี่ห้อชื่อแพรีแอค ผลิตที่ประเทศสเปน นำเข้าโดย 1 ใน 5 บริษัทในไทย ซึ่งเป็นไซยาไนด์ที่มีความเข้มข้นถึง 75% และสั่งนำเข้ามา 2,000 ขวด ตั้งแต่ปี 2564 ซึ่งพบเป็นล็อตเดียวกันกับขวดของกลางที่ใช้ สำหรับสินค้าพบว่าคงเหลือที่ 543 ขวด และอีก 1,600 กว่าขวด ถูกจำหน่ายไปหลายแห่ง ทั้งสถานศึกษา และเทรดเดอร์ต่างๆ 6 แห่ง ที่ประชาชนสามารถสั่งซื้อได้ โดยพบว่ามีแห่งหนึ่ง จำหน่ายให้ประชาชนแล้วนำไปใช้ฆ่าตัวตาย ฆ่าสัตว์ หรือใช้ผิดวัตถุประสงค์ สำหรับนางสรารัตน์ ได้สั่งซื้อผ่านช่องทางออนไลน์ของบริษัทแห่งหนึ่งข้างต้น และผู้ต้องหาให้จัดส่งผ่านแมสเซ็นเจอร์แทนไปรษณีย์