‘ตรีนุช' สั่งคุมเข้มสอบคัดเลือกครูผู้ช่วย เผยเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ยังไม่มีเหตุทุจริตร้องเรียน ย้ำโปร่งใสตรวจสอบได้ พร้อมสั่งกำชับทุกสถานศึกษา ให้ตรวจสอบสภาพถังดับเพลิง หวั่นซ้ำรอย รร.ราชวินิตมัธยม
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 24 มิ.ย. 2566 น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการ พร้อมด้วย น.ส.เกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมสนามแข่งขันเพื่อบรรจุและแต่งตั้งบุคคลเข้ารับราชการเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครูผู้ช่วย สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ปี 2566 ซึ่งจัดสอบภาค ก ความรู้ความสามารถทั่วไป วันที่ 24 มิ.ย. 2566 และสอบภาค ข มาตรฐานความรู้และประสบการณ์วิชาชีพ วันที่ 25 มิ.ย. 2566
น.ส.ตรีนุช กล่าวว่า ภาพรวมการจัดสอบครูผู้ช่วยทั่วประเทศเป็นไปด้วยความเรียบร้อย โดย ศธ.จะเร่งบรรจุแต่งตั้งทดแทนอัตราว่าง ซึ่งมีอยู่กว่า 7,813 อัตรา การสอบครั้งนี้มีผู้สมัครกว่า 172,026 คน ผ่านการตรวจคุณสมบัติมีสิทธิสอบ จำนวน 169,595 คน สอบใน 262 สนามสอบทั่วประเทศ โดยกลุ่มวิชา หรือสาขาวิชาเอกที่มีผู้สมัครสอบมากที่สุดคือ ปฐมวัย/การศึกษาปฐมวัย/อนุบาลศึกษา จำนวน 21,525 คน สังคมศึกษา 19,757 คน ภาษาอังกฤษ 16,719 คน คณิตศาสตร์ 16,116 คน และพลศึกษา 15,773 คน ส่วนกลุ่มวิชา หรือสาขาวิชาเอกที่ไม่มีผู้สมัครสอบคือ ภาษาอังกฤษธุรกิจ เขตที่เปิดสอบคือ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาแม่ฮ่องสอน จำนวน 1 อัตรา และกลุ่มวิชาอรรถบำบัด เขตที่เปิดสอบคือ สศศ. จำนวน 5 อัตรา
โดยคาดว่าจะสามารถดำเนินการจัดสอบครูผู้ช่วยรอบทั่วไปแล้วเสร็จภายในเดือน ก.ค. บรรจุแต่งตั้งภายในเดือนสิงหาคม จากนั้นจะเปิดรับสมัครการคัดเลือกบุคคลเพื่อบรรจุและแต่งตั้งเข้ารับราชการเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครูผู้ช่วย กรณีที่มีความจำเป็นหรือมีเหตุพิเศษ (ว16) ภายในเดือนสิงหาคมเช่นเดียวกัน สาเหตุที่เร่งจัดสอบเพราะเข้าใจถึงภาระงานของครู ดังนั้น จึงต้องเติมเต็มเรื่องอัตราต่างๆ ให้เต็มที่เพื่อลดภาระครูให้มีเวลาเตรียมการสอนอย่างเต็มที่
น.ส.ตรีนุช กล่าวต่อว่า ในการสอบครั้งนี้ได้เน้นย้ำเรื่องความโปร่งใส ตรวจสอบได้ โดย สพฐ.ได้มอบหมายให้มหาวิทยาลัย 10 แห่ง เป็นผู้ออกข้อสอบ ตรวจข้อสอบ และประเมินผล เพื่อไม่ให้มีส่วนได้ส่วนเสีย
นอกจากนี้ สพฐ.ได้มีมาตรการในการป้องกันการทุจริต ทั้งก่อนสอบ ระหว่างสอบ และหลังสอบ ซึ่งในการเข้าห้องสอบนอกจากวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ในการสอบ ห้ามนำเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ทุกชนิด เช่น โทรศัพท์เคลื่อนที่ (มือถือ) นาฬิกาเชื่อมต่อมือถือ (Smartwatch) วิทยุติดตามตัว วิทยุสื่อสาร รวมทั้งหนังสือ บันทึกข้อความ เอกสารหรือกระดาษสิ่งพิมพ์อื่นใด หรือวัสดุอุปกรณ์อื่น เช่น กระเป๋าสะพาย เครื่องคำนวณ อุปกรณ์ที่ใช้ในการคำนวณได้ เครื่องบันทึกภาพ เครื่องบันทึกเสียง เข้าห้องสอบโดยเด็ดขาด และหากพบว่าผู้ใดนำเข้าห้องสอบจะถือว่ามีเจตนากระทำการทุจริตในการสอบและต้องยุติการสอบทันที
“จากการสอบถามผู้เข้าสอบที่สนามสอบโรงเรียนสุรศักดิ์มนตรี พบว่า ข้อสอบในวิชาคณิตศาสตร์มีบางข้อที่ไม่มีคำตอบ และพิมพ์ข้อสอบผิดไม่มีการตรวจทานความถูกต้อง ซึ่งได้มอบหมายให้ผู้อำนวยการสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ (สศศ.) ไปตรวจสอบกับมหาวิทยาศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) ที่เป็นผู้จัดทำข้อสอบแล้ว และหากเกิดข้อผิดพลาดจริงก็ต้องยกผลประโยชน์ให้ผู้เข้าสอบในข้อที่ผิดนั้นไป ในส่วนของสนามสอบนี้มีผู้มีสิทธิสอบ จำนวน 1,689 คน 16 กลุ่มวิชา ใช้ห้องสอบทั้งหมด 68 ห้อง และมีห้องสำรองสำหรับผู้ติดเชื้อโควิด-19 จำนวน 1 ห้อง ในจำนวนผู้มีสิทธิสอบในสนามสอบนี้มีผู้พิการร่วมสอบด้วย จำนวน 57 คน แบ่งเป็น พิการทางสายตา 3 คน ทางร่างกาย 4 คน ทางหู 49 คน และสติปัญญา 1 คน โดยผู้พิการทางสายตา สนามสอบได้เตรียมเจ้าหน้าที่อ่านข้อสอบ-พร้อมฝนกระดาษคำตอบให้, ผู้ที่สายตาเลือนราง ผู้เข้าสอบบางคนจะอ่านเองโดยใช้แว่นขยาย และจะฝนกระดาษเอง ส่วนผู้พิการทางการได้ยินจะทำข้อสอบเองและฝนกระดาษเอง โดยจัดให้มีกรรมการคุมสอบที่เป็นภาษามือไว้คอยประชาสัมพันธ์แจ้งรายละเอียด สำหรับผู้พิการทางร่างกาย จะอ่านข้อสอบและฝนกระดาษคำตอบเอง” น.ส.ตรีนุชกล่าว
ทั้งนี้ สพฐ.จะประกาศรายชื่อผู้ผ่านภาค ก และภาค ข ภายในวันที่ 3 กรกฎาคม 2566 เพื่อเข้ารับการประเมินภาค ค ความเหมาะสมกับตำแหน่งวิชาชีพและการปฏิบัติงานในสถานศึกษา จากการสัมภาษณ์ แฟ้มสะสมงาน และการนำเสนอที่แสดงถึงทักษะและศักยภาพด้านการจัดการเรียนการสอน ตามวันและเวลาที่ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษา และ อ.ก.ค.ศ.เขตบริหารงานการศึกษาพิเศษกำหนด โดยให้แล้วเสร็จภายในเดือนกรกฎาคม 2566 บัญชีผู้สอบแข่งขันได้ให้ใช้ได้ 2 ปีนับตั้งแต่วันที่ประกาศขึ้นบัญชีผู้สอบแข่งขันได้
สั่ง รร.ทั่วประเทศตรวจสอบถังดับเพลิง หวั่นซ้ำรอย
น.ส.ตรีนุช กล่าวถึงกรณีเหตุถังดับเพลิงระเบิดในโรงเรียนราชวินิตมัธยม ว่า สำหรับนักเรียนที่เสียชีวิต ศธ.ได้จัดเตรียมงบประมาณสำหรับเยียวยาครอบครัวแล้วกว่า 6 แสนบาท โดย 1 แสนบาท จะเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับการจัดงานศพ โดยเงินช่วยเหลือจำนวนนี้ ได้มาจากเงินประกันชีวิตนักเรียน 2 แสนบาท เงินช่วยเหลือจากสำนักงานปลัด ศธ. และเงินช่วยเหลือจากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เงินช่วยเหลือจากสมาคมผู้ปกครอง และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) เข้ามาร่วมสมทบด้วยส่วนหนึ่ง
ส่วนนักเรียนที่ได้รับบาดเจ็บกำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดูแลเรื่องค่ารักษาพยาบาลจนกว่าเด็กจะสามารถกลับมาเรียนได้ตามปกติ ขอให้ผู้ปกครองสบายใจ โดยได้ย้ำให้ดูแลจนกว่าแพทย์จะยืนยันว่าน้องปลอดภัยจริงๆ ค่อยให้กลับบ้าน
ทั้งนี้ ส่วนตัวเข้าใจและเสียใจถึงการสูญเสียครั้งนี้ เป็นเหตุการณ์ที่ผู้บริหาร ศธ.ไม่คาดคิดมาก่อน โดยตนได้กำชับให้โรงเรียนดูแลมาตรการป้องกันความปลอดภัยในโรงเรียนให้เข้มงวดมากยิ่งขึ้น เพื่อไม่ให้มีเหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นอีก
น.ส.ตรีนุช กล่าวต่อว่า ส่วนจะมีการทบทวนการจัดกิจกรรมอบรมเรื่องความปล่อยภัย โดยเฉพาะการฝึกซ้อมดับเพลิงหรือไม่นั้น ต้องยอมรับว่าทางโรงเรียนไม่ได้มีความเชี่ยวชาญเรื่องการป้องกันอัคคีภัย จึงประสานหน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญเข้ามาช่วยจัดอบรมเรื่องดังกล่าว
เหตุการณ์นี้เป็นเรื่องไม่คาดคิด เข้าใจว่าครูและนักเรียนในโรงเรียนต่างเสียขวัญต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น จึงประสานหน่วยงานด้านสุขภาพจิตเข้าไปดูแล โดยทราบว่าทางโรงเรียนได้ประกาศหยุดเรียนในวันที่ 26-27 มิ.ย. 2566 และจะเปิดเรียนอีกครั้งวันที่ 28 มิ.ย. 2566 เพื่อตั้งหลักเตรียมสถานที่ ความพร้อมของครู ให้เด็กสามารถกลับมาเรียนได้ตามปกติ
ขณะเดียวกัน มอบหมายให้โรงเรียนทั่วประเทศไปสำรวจถังดับเพลิงภายในโรงเรียน หากพบว่ามีสภาพชำรุด หรือเก่าเกินไป ขอให้เปลี่ยนมาเป็นถังที่ได้มาตรฐาน เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในอนาคต ส่วนเรื่องคดีความนั้นขอให้เป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจในการสืบหาข้อเท็จจริง