ครม.ไฟเขียวร่าง พ.ร.ฎ.เงินประจำตำแหน่งฯ 7 ‘กรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมข้าราชการตำรวจ’ ได้ ‘เงินประจำตำแหน่ง-เงินเพิ่มรายเดือน’ รวม 1.18-1.23 แสนบาท/เดือน หากดำรงตำแหน่งไม่น้อยกว่า 1 ปี มีบำเหน็จให้ด้วย
...................................
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เมื่อวันที่ 20 มิ.ย.ที่ผ่านมา ที่ประชุม ครม. มีมมติอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาเงินประจำตำแหน่งและประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นของกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมข้าราชการตำรวจ พ.ศ. .... ตามที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้วดำเนินการต่อไปได้
สำหรับสาระสำคัญของร่าง พ.ร.ฎ.ฉบับนี้ กำหนดให้กรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมข้าราชการตำรวจ (ก.พ.ค.ตร.) ได้รับเงินประจำตำแหน่งและเงินเพิ่มเป็นรายเดือนตามอัตราในบัญชีท้าย พ.ร.ฎ.นี้ ตั้งแต่วันที่ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง ดังนี้ ประธานกรรมการ ก.พ.ค.ตร. ได้รับเงินประจำตำแหน่ง 80,540 บาท/เดือน และได้รับเงินเพิ่มเป็นรายเดือน 42,500 บาท/เดือน หรือได้รับค่าตอบแทนรวมเป็นเงิน 123,040 บาท/เดือน
ส่วน กรรมการ ก.พ.ค.ตร. ได้รับเงินประจำตำแหน่ง 76,800 บาท/เดือน และได้รับเงินเพิ่มเป็นรายเดือน 41,500 บาท/เดือน หรือได้รับค่าตอบแทนรวมเป็นเงิน 118,300 บาท/เดือน
ร่าง พ.ร.ฎ.ฉบับดังกล่าว ยังกำหนดให้กรรมการ ก.พ.ค.ตร. มีสิทธิได้รับค่ารักษาพยาบาลหรือการประกันสุขภาพตามที่จ่ายจริงในอัตราเบี้ยประกันคนละไม่เกิน 30,000 บาทต่อปี และให้นำ พ.ร.ฎ.ว่าด้วยเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลและระเบียบกระทรวงการคลังซึ่งออกตามความใน พ.ร.ฎ.ดังกล่าวมาใช้บังคับแก่ค่ารักษาพยาบาลของกรรมการ ก.พ.ค.ตร. ตามพระราชกฤษฎีกานี้โดยอนุโลม
นอกจากนี้ ให้กรรมการ ก.พ.ค.ตร. ซึ่งดำรงตำแหน่งไม่น้อยกว่า 1 ปีบริบูรณ์ มีสิทธิได้รับบำเหน็จตอบแทนเป็นเงินซึ่งจ่ายครั้งเดียวเมื่อพ้นจากตำแหน่งด้วยเหตุออกตามวาระลาออก และมีอายุครบ 75 ปี โดยการคำนวณบำเหน็จตอบแทนนั้น ให้นำอัตราเงินประจำตำแหน่งตามบัญชีท้าย พ.ร.ฎ.นี้ คูณด้วยระยะเวลาที่ดำรงตำแหน่ง การนับระยะเวลาดำรงตำแหน่งเพื่อคำนวณบำเหน็จตอบแทน ให้นับตั้งแต่วันที่ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งจนถึงวันที่สิ้นสุดการปฏิบัติหน้าที่
ทั้งนี้ ในกรณีที่กรรมการ ก.พ.ค.ตร. พ้นจากตำแหน่ง เพราะเหตุถึงแก่ความตาย ไม่ว่าผู้นั้นจะดำรงตำแหน่งครบ 1 ปีบริบูรณ์หรือไม่ ให้จ่ายบำเหน็จตอบแทนเป็นเงินซึ่งจ่ายครั้งเดียว ตามระยะเวลาในการดำรงตำแหน่งให้แก่ทายาทโดยธรรมซึ่งเป็นผู้มีสิทธิรับมรดกของผู้ตาย
สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตช.) รายงาน ครม. ด้วยว่า เมื่อวันที่ 17 ต.ค.2565 พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2565 ได้มีผลบังคับใช้ โดยมาตรา 33 บัญญัติให้มี ก.พ.ค.ตร. คณะหนึ่ง ประกอบด้วยกรรมการ 7 คน ซึ่งนายกฯแต่งตั้ง และให้กรรมการ ก.พ.ค.ตร. ได้รับเงินประจำตำแหน่งและประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นตามที่กำหนดใน พ.ร.ฎ. และได้รับค่าใช้จ่ายในการเดินทางตาม พ.ร.ฎ.ว่าด้วยค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการเช่นเดียวกับผู้ดำรงตำแหน่งประเภทผู้บริหารระดับสูง
ตช. จึงได้ยกร่าง พ.ร.ฎ.เงินประจำตำแหน่งและประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นของกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมข้าราชการตำรวจ พ.ศ. .... โดยกำหนดเงินประจำตำแหน่งและประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นของ ก.พ.ค.ตร. ในอัตราเดียวกับของกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรม (กรรมการ ก.พ.ค.) ตาม พ.ร.ฎ.เงินประจำตำแหน่งและประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นของกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรม กรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์ และกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์ พ.ศ.2561
ในขณะที่การดำเนินการในเรื่องนี้เป็นไปโดยสอดคล้องกับมาตรา 169 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ตามนัยมติ ครม. เมื่อวันที่ 21 มี.ค.2566 เรื่อง แนวทางปฏิบัติอันเนื่องมาจากการยุบสภาผู้แทนราษฎรฯ โดยกรณีการเสนอร่าง พ.ร.ฎ.ดังกล่าวของ ตช. นั้น เป็นการกำหนดรายละเอียดการปฏิบัติเพื่อให้เป็นไปตามมาตรา 33 มาตรา 41 และมาตรา 181 แห่ง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2565 ซึ่งเป็นกฎหมายแม่บทที่ได้ให้อำนาจไว้
ส่วนค่าใช้จ่ายงบประมาณบุคลากรเพิ่มขึ้นนั้น ตช. สามารถถัวเฉลี่ยจ่ายสำหรับค่าใช้จ่ายงบประมาณบุคลากรที่เพิ่มขึ้นจากงบประมาณประจำปีที่ ตช. ได้รับจัดสรรในงบบุคลากร จึงไม่กระทบต่องบประมาณหมวดเงินเดือนของ ตช. แต่อย่างใด
ตช. ยังรายงานว่า ขณะนี้ ตช.อยู่ระหว่างอยู่ระหว่างดำเนินการรับสมัครบุคคลเข้ารับการคัดเลือกเพื่อดำรงตำแหน่งกรรมการ ก.พ.ค.ตร. ซึ่งคาดว่าสามารถดำเนินการเสนอนายกฯเพื่อแต่งตั้งกรรมการ ก.พ.ค.ตร.ภายในเดือน ก.ย.2566
ด้านสำนักงบประมาณ ให้ความเห็นประกอบการพิจารณาของ ครม. ว่า ร่าง พ.ร.ฎ.เงินประจำตำแหน่งและประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นของกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมข้าราชการตำรวจ พ.ศ..... ไม่ถือเป็นการอนุมัติให้หน่วยงานของรัฐดำเนินมาตรการหรือโครงการที่ก่อให้เกิดการสูญเสียรายได้ของรัฐหรือหน่วยงานของรัฐ ตามมาตรา 27 แห่ง พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 ไม่เป็นการสร้างความผูกพันต่อ ครม.ชุดต่อไป
จึงไม่ขัดหรือแย้งกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 169 (1) และแนวทางปฏิบัติอันเนื่องมาจากการยุบสภาผู้แทนราษฎรที่ ครม. มีมติเห็นชอบ เมื่อวันที่ 21 มี.ค.2566 และไม่มีประเด็นที่ขัดหรือแย้งกับกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ จึงเห็นสมควรเสนอ ครม. เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบในหลักการร่าง พ.ร.ฎ.ดังกล่าว
อย่างไรก็ดี กรณีการกำหนดเงินประจำตำแหน่งและประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่น ซึ่งได้เปรียบเทียบกับเงินประจำตำแหน่งและประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นของกรรมการ นั้น เห็นควรที่ ตช. จะพิจารณาหน้าที่และอำนาจ ลักษณะงานและลักษณะของการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการ จำนวนหน่วยงาน และจำนวนข้าราชการ ที่ต้องดูแลรับผิดชอบ ตลอดจนสิทธิในการได้รับค่าตอบแทน หรือการประกันสุขภาพ สิทธิในการได้รับบำเหน็จตอบแทนและการนับระยะเวลาและการคำนวณบำเหน็จตอบแทนในแต่ละมาตราเพื่อกำหนดอัตราค่าใช้จ่ายอย่างเหมาะสมและจำเป็นด้วย
สำหรับภาระงบประมาณที่จะเกิดขึ้นจากการดำเนินงานตาม พ.ร.ฎ.ดังกล่าว เห็นควรให้ ตช.ใช้จ่ายจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 หรือจัดทำแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณเพื่อเสนอขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีตามความจำเป็นเหมาะสมและตามขั้นตอนต่อไป