กระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ ออกแถลงการณ์ระบุสถานการณ์ค้ามนุษย์ ผ่านคาสิโนทั่วเอเชีย-สามเหลี่ยมทองคำเลวร้ายหลังจากโควิด-19 ชี้ องค์กรอาชญากรรมจีนใช้วิธีการเปิดคาสิโน,บริษัทเปลือกหอยบังหน้า ก่อนหลอกเหยื่อบังคับทำงานฉ้อโกง
สำนักข่าวอิศรา (www.isranwes.org) รายงานสถานการณ์ในต่างประเทศที่เกี่ยวกับในประเทศไทยว่ากระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐอเมริกาได้ออกแถลการณ์มีใจความว่าสถานการณ์การค้ามนุษย์ผ่านคาสิโนทั่วเอเชียกำลังเป็นความกังวลที่เพิ่มขึ้นโดยมีกิจกรรมการค้ามนุษย์ที่แพร่หลาย โดยเฉพาะในเขตเศรษฐกิจพิเศษและเมืองชายแดนเช่นสีหนุวิลล์ในกัมพูชาและ "สามเหลี่ยมทองคํา"
ปัญหานี้ถูกระบุไว้ในรายงานการค้ามนุษย์ประจําปี 2566 ซึ่งมีการระบุชื่อเมียนมา กัมพูชาและมาเก๊า ไว้ในรายชื่อเขตอํานาจศาลในประเทศเอเชียที่ติดเทียร์ 3 (จากทั้งหมด 4 ระดับ) โดยระบุว่า “เป็นเขตอำนาจที่รัฐบาลไม่สามารถปฏิบัติตามมาตรฐานขั้นต่ำของ TVPA (Trafficking Victims Protection Act) อย่างเต็มที่และไม่ได้พยายามอย่างมากในการทําเช่นนั้น”
รายงานยังได้ตั้งข้อสังเกตอีกว่าผู้ค้ามนุษย์บางรายใช้ประโยชน์จากการระบาดใหญ่ของโควิด-19 โดยใช้ประโยชน์จากความยากลําบากทางเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องกับโรคระบาด การว่างงานของเยาวชนทั่วโลกที่เพิ่มขึ้นและข้อจํากัด การเดินทางระหว่างประเทศเพื่อจะแสวงหาประโยชน์จากเหยื่อหลายพันคน
กระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯกล่าวอีกว่าการบังคับขู่เข็ญ ในการดําเนินงานหลอกลวงทางไซเบอร์ได้กลายเป็นสิ่งที่เติบโตขึ้นจนเป็นอุตสาหกรรมมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐฯในช่วงสองปีที่ผ่านมา โดยผู้กระทำผิดมักใช้คาสิโนและ บริษัทเปลือกหอยอื่น ๆ เป็นเกราะกำบัง
“คาสิโนและ บริษัทเปลือกหอยอื่นๆดําเนินงานในโรงแรมที่ไม่ได้มีการใช้งานและดำเนินงานในพื้นที่เชิงพาณิชย์ให้เช่าต่างๆ ได้กลายเป็นฮอตสปอตสําหรับกิจกรรมการกระทำความผิดที่เพิ่มขึ้นนี้โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขตเศรษฐกิจพิเศษที่ห่างไกลเมืองชายแดนและในพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ที่ซับซ้อนอื่น ๆ ที่ขึ้นชื่อเรื่องการทารุณกรรม การละเมิดด้านสิทธิมนุษยชนและการบังคับใช้กฎหมายที่น้อยมาก” รายงานระบุ
“ด้วยความกลัวรายได้จะลดลงอย่างมีนัยสําคัญอันเนื่องมาจากข้อจํากัดที่เกี่ยวข้องกับโรคระบาด และการว่างงานอย่างกว้างขวางในช่วงการระบาดใหญ่ ผู้ค้ามนุษย์ในเมียนมา กัมพูชา ลาว มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ กานา และตุรเคีย รวมไปถึงผู้ที่เกี่ยวกับประเทศจีน ได้มีการสร้างรายชื่อเกี่ยวกับงานปลอมๆขึ้นเพื่อหลอกรับสมัครทั้งผู้ใหญ่และเด็กจากหลายสิบประเทศ” รายงานระบุต่อ
จากข้อมูลของกระทรวงต่างประเทศฯ แสดงให้เห็นถึงหนึ่งในประเด็นที่น่ากังวลที่สุดคือองค์กรอาชญากรรมในจีนที่วางตัวเป็นนายหน้าแรงงานโดยใช้โซเชียลมีเดียเพื่อรับสมัครแรงงานในแอฟริกาตะวันออกและเอเชียที่มีความสามารถทางภาษาอังกฤษหรือความสามารถทางเทคนิค โดยให้คำสัญญาว่าจะเสนองานที่มีกําไรในกัมพูชา,ไทย,ลาวและที่อื่น ๆ ในภูมิภาค อย่างไรก็ตามเมื่อเดินทางมาถึงเหยื่อจะถูกส่งไปยังพื้นที่ขนาดใหญ่ที่เรียกว่า "โรงงานหลอกลวง" และตั้งอยู่ในเมียนมา,กัมพูชา,ลาวมาเลเซียและฟิลิปปินส์
โดบหนังสือเดินทางของพวกเขาถูกยึดและพวกเขาประสบกับการทารุณกรรมต่างๆทั้งทางร่างกายและทางเพศ จากนั้นพวกเขาจะถูกบังคับให้ดำเนินการหลอกลวงทางออนไลน์รวมถึงการขายที่ฉ้อโกง หลอกให้เล่นพนันออนไลน์ที่ผิดกฎหมาย หลอกให้ลงทุน และโรแมนซ์สแกม
กระทรวงต่างประเทศฯ ยังได้ตั้งข้อสังเกตอีกว่าบางประเทศได้เริ่มระดมทรัพยากรและกลยุทธ์เพื่อ จะช่วยเหลือประชาชนให้หลุดพ้นจากสถานการณ์การถูกเอารัดเอาเปรียบ แม้แต่เริ่มกระบวนการหาตัวผู้รับผิดชอบ ซึ่งรวมถึงไต้หวันในช่วงปี 2565 ที่ได้ดำเนินการเพื่อจะนำตัวผู้ที่ถูกหลอกลวงไซเบอร์กว่าร้อยคนกลับมายังไต้หวัน รวมถึงดำเนินการฟ้องบุคคลชาวไต้หวันหลายสิบคนที่มีส่วนรู้ร่วมคิดในกระบวนการรับสมัครงาน
และในปี 2564 ก็มีรายงานว่าลาวเองได้ดำเนินการร่วมมือกับหน่วยงานระหว่างประเทศในการช่วยเหลือเหยื่อชาวลาวที่ถูกหลอกไปยังพี้นที่แขวงบ่อแก้ว ในประเทศลาว ซึ่งอยู่ในเขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคํา โดยแม้ว่าจะมีอุปสรรคในเรื่องของการทุจริตของเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น ทางการลาวก็สามารถจะดำเนินการสอบสวนข้อกล่าวหาการค้ามนุษย์ที่เกี่ยวข้องได้บ้างแล้ว
กระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯได้ระบุทิ้งท้ายว่าจำนวนบุคคลที่ถูกค้ามนุษย์ทั่วโลกในแต่ละปีนั้นพบว่าอยู่ที่หลายล้านคน
เรียบเรียงจาก:https://theedgemalaysia.com/node/671785?utm_source=Newswav&utm_medium=Website