ศาลปกครองสูงสุดพิพากษายืนให้ ป.ป.ช. เปิดเผยข้อมูลรายงานผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณี 'บิ๊กป้อม' ไม่แจ้ง 'นาฬิกาหรู' ในบัญชีทรัพย์สิน-คำชี้แจงทั้ง 4 ครั้ง 'ประวิตร' ให้ผู้สื่อข่าว The MATTER
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 16 มิ.ย. 2566 ศาลปกครองสูงสุดอ่านคำพิพากษาคดีแดงหมายเลข 1327/2564 ระหว่าง นายพงศ์พิพัฒน์ บัญชานนท์ ผู้สื่อข่าว The MATTER ผู้ฟ้องคดี
สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ที่ 1 กับพวก รวม 3 คน ผู้ถูกฟ้องคดี
ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลปกครองชั้นต้น ที่สั่งให้ ป.ป.ช. ต้องเปิดเผย เอกสารสำคัญ 2 รายการ ได้แก่
1.รายงานผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงที่เสนอต่อที่ประชุม ป.ป.ช. เมื่อวันที่ 27 ธ.ค.2561 รวมถึงเอกสารอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
2.คำชี้แจงของ พล.อ.ประวิตรต่อ ป.ป.ช. ทั้ง 4 ครั้ง
นายพงศ์พิพัฒน์ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวหลังฟังคำพิพากษาเสร็จสิ้นว่า รู้สึกดีใจ เป็นการขอข้อมูลจากปปช.ที่ใช้เวลา 4 ปีครึ่ง ซึ่งคดีนี้เป็นการตรวจสอบป.ป.ช. ไม่ใช่การตรวจสอบพล.อ.ประวิตร เพราะสิ่งที่ต้องการ คือ เอกสารเกี่ยวข้องกับที่ป.ป.ช.มีมติไม่ไต่สวนที่มีนาฬิกาหรู แหวนของมารดา ข้อหาไม่แจ้งบัญชีทรัพย์สิน ซึ่งป.ป.ช.มีมติเมื่อวันที่ 27 ธ.ค. 2561 ว่าจะไม่รับไว้ไต่สวนเพราะเชื่อว่าเป็นของยืมเพื่อนมาจริง จึงไม่ต้องแจ้งบัญชีทรัพย์สิน
แต่ในฐานะสื่อก็รู้สึกสงสัยจึงยื่นเรื่องขอเอกสารไปตามระบบ 6 รายการ ซึ่งครั้งแรก ปปช.ก็ให้กระดาษเปล่ากลับมา
"จริง ๆ ไม่ต้องให้มาเลยก็ได้ แต่พอให้กระดาษเปล่ามา คนก็ยิ่งสงสัย เราก็เลยสู้ตามขั้นตอนปกติต่อ เป้าหมายคือเราอยากได้ข้อมูลจริง ๆ ว่าเบื้องหลังเหตะผลไม่ไต่สวนพล.อ.ประวิตรไม่แจ้งบัญชีทรัพย์สินคืออะไร" นายพงศ์พิพัฒน์ระบุ
นายพงศ์พิพัฒน์ กล่าวต่อว่า ศาลให้เหตุผลว่าการที่ ป.ป.ช.ให้เอกสารเหล่านี้แสดงว่าป.ป.ช.โปร่งใส ตรวจสอบได้ อยากให้เป็นมาตรฐานของป.ป.ช.ในการทำคดีต่าง ๆ ที่ต้องมีการเปิดเผยข้อมูล ส่วนประเด็นที่ทาง ป.ป.ช. กล่าวอ้างในการอุทธรณ์มาที่ศาลปกครองสูงสุด ศาลระบุว่าฟังไม่ขึ้น
นอกจากนี้นายวีระ สมความคิด ที่มาร่วมฟังคำพิพากษา กล่าวเพิ่มเติมว่า องค์กรต่าง ๆ ยังมีหน่วยงานตรวจสอบการทำงานขององค์กรตนเอง เช่น อัยการมีคณะกรรมการอัยการ (ก.อ.) ศาลมีคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (ก.ต.) เป็นต้น แล้วมาถูกป.ป.ช.ตรวจสอบอีก แต่ป.ป.ช. ไม่มีหน่วยงานเช่นนั้น
"เวลาที่เราจะยื่นเรื่องตรวจสอบเลขา ป.ป.ช. ลงมาว่าทุจริตหรือใช้อำนาจโดยมิชอบ ก็ต้องส่งกลับไปให้ ป.ป.ช. ตรวจสอบ เหมือนอย่างที่ผมตรวจสอบอดีตเลขาธิการ ป.ป.ช. สองคน ปรากฏว่ายุติเรื่องทั้งหมด ไปให้ตรวจสอบกันเองก็จบ ตอนนี้ถ้าตรวจสอบกรรมการ ป.ป.ช. ทั้ง 9 คน ต้องไปที่สภา ต้องให้ประธานรัฐสภาตั้งคณะกรรมการไต่สวนอิสระ ฝากถึงรัฐบาลใหม่ที่จะเข้ามา รัฐบาลต้องคิดว่าจะแก้ไขกฎหมายอย่างไรที่จะทำให้องค์กร ป.ป.ช. เป็นองค์กรอิสระที่สามารถตรวจสอบได้" นายวีระกล่าว
ทั้งนี้ในกรณีที่ศาลปกตรองสูงสุดตัดสินให้ตนในวันที่ 22 เม.ย. 2566 ที่ผ่านมา บอกว่าป.ป.ช. ต้องให้ข้อมูล 3 รายการตามที่ตนร้องขอ แต่จนปัจจุบันนี้ก็ยังไม่ได้รับข้อมูลรายการที่ 2 จาก ป.ป.ช.
"ตอนสู้คดีทำเต็มที่ แต่พอศาลตัดสินแล้วไม่ยอมรับคำพิพากษาของศาล ไปออกมติของตนเองว่ายังไม่ให้ อย่างนี้คือขัดคำสั่งศาล คำสั่งศาลปกครองสูงสุดถือเป็นที่สุด ถ้าป.ป.ช.ทำเช่นนี้จะเป็นแบบอย่างที่ไม่ดีกับคนในสังคม ต่อไปเวลาที่คู่ความสู้คดีกันจบแล้วศาลตัดสินว่าใครผิดใครถูก แล้วฝ่ายที่ผิดบอกว่า ไม่ล่ะ ให้ศาลกลับไปทบทวนใหม่ ถ้าทำกันเช่นนี้ประเทศจะอยู่ได้อย่างไร องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญทำตัวเช่นนี้ ผมว่านี่เป็นเรื่องที่ท้าทายกระบวนการยุติธรรมอย่างมาก แล้วคนที่ท้าทายก็เป็นองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ ที่สำคัญ ป.ป.ช. ต้องซื่อสัตย์ มีคุณธรรม โปร่งใส ตรวจสอบได้ ตามที่ประกาศต่อสาธารณะ อย่าทำอะไรตรงข้ามกับสิ่งที่ประกาศต่อสังคม มิเช่นนั้นจะเป็นการโกหกสังคม องค์กรจะไม่มีความน่าเชื่อถือเหลืออยู่" นายวีระกล่าว