'จิรภพ ภูริเดช' ผบช.ก.แถลงปฏิบัติการสนธิกำลัง ป.ป.ท., ป.ป.ช., ปปง., กรุงไทย จับกุมตัว พนง.อบต. 9 ราย 5 จังหวัด คดียักยอกเบิกถอนเงินหลวงไปใช้จ่ายส่วนตัวกว่า 84 ล้าน หลังพบทุจริตลักษณะเดียวกันต่อเนื่องยอดเสียหายรวม 300 ล้าน เผย 90% ล้วนเกี่ยวข้องพนันออนไลน์
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2566 พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (ผบช.ก.) เปิดเผยแถลงว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจกองบังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ (ปปป.) และหน่วยงานในสังกัดกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (บช.ก.) ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) , สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) , สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) และเจ้าพนักงานธนาคารกรุงไทย ร่วมปฏิบัติการ stop cyber Corruption เข้าจับกุมเจ้าหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) 5 แห่ง ที่ทำการทุจริตยักยอกเงินหลวง ที่มีการเบิกจ่ายผ่านระบอิเล็กทรอนิกส์ เบื้องต้นพบความเสียหายกว่า 84 ล้านบาท
พล.ต.ท.จิรภพ เปิดเผยว่า ก่อนหน้าเจ้าหน้าที่ตำรวจ บก.ปปป. รับแจ้งประสานจากเจ้าหน้าที่สำนักงาน ป.ป.ท.ที่ตรวจสอบพบความผิดปกติการเบิกจ่ายเงินของ อปท.ในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ ที่มีการโอนเงินผ่านระบบอินเตอร์เน็ตแบงค์กิ้ง ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงิน และบัญชี ที่ทำการยักยอกเงินงบประมาณของทางราชการไปใช้จ่ายส่วนตัว โดยใช้อำนาจหน้าที่ที่สามารถเข้าถึงรหัสการเบิกถอนเงินจากธนาคารได้
หลังจากก่อนหน้านี้เคยมีการจับกุมเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงินและบัญชีของเทศบาลตำบลลาดยาว จ.นครสวรรค์ ที่ยักยอกเงินหลวงไปถึง 215 ครั้ง รวมเป็นเงินกว่า 15 ล้านบาท และเจ้าหน้าที่การเงินและบัญชีของ อบต.วังโพรง จ.พิษณุโลก ที่ยักยอกเงินไป 132 ครั้ง เป็นเงินกว่า 44 ล้านบาท
พล.ต.ท.จิรภพ กล่าวต่อว่า ล่าสุด จึงเปิดปฏิบัติการเพิ่มเติมอีกใน 5 จังหวัด ที่พบความผิดในลักษณะเดียวกัน คือ
1. น.ส.นฤมล ศรีรอดไทร อายุ 34 ปี เจ้าพนักงานการเงินและบัญชีชำนาญการ อบต.นิลเพชร จ.นครปฐม ยักยอกเงิน 23 ครั้ง เป็นเงินกว่า 8 ล้าน 3 แสนบาท
2. น.ส.บัวสวรรค์ วงษ์สีดา อายุ 35 ปี ผู้ช่วยเจ้าพนักงานการเงินและบัญชี อบต.หนองหัวโพ จ.สระบุรี ยักยอกเงิน 84 ครั้ง เป็นเงินกว่า 4 ล้าน 9 แสนบาท
3. น.ส.ณัฐชยา สุขสวน อายุ 25 ปี ผู้ช่วยนักพัฒนาชุมชน ปฏิบัติหน้าที่ผู้ช่วยเจ้าพนักงานการเงินและบัญชี อบต.ห้วยยายจิ๋ว จ.ชัยภูมิ ยักยอกเงิน 60 ครั้ง เสียหายกว่า 5 ล้าน 8 แสนบาท
4. น.ส.ปนัดดา ศรีด้วง อายุ 29 ปี นักวิชาการเงินและบัญชี อบต.โคกหล่าม จ.ศรีสะเกษ ยักยอกเงินไป 8 ครั้ง เป็นเงินกว่า 5 แสน 4 หมื่นบาท
5. นายยุทธนา บุญนำ อายุ 42 ปี ผู้อำนวยการกองคลัง อบต.นาเขลียง จ.นครศรีธรรมราช ยักยอกเงิน 59 ครั้ง เป็นเงินกว่า 4 ล้านบาท ที่พบว่าโอนเงินไปให้กับ น.ส.เบญจวรรณ ยะโส , น.ส. วิภาภรณ์ กาญจนดำรงค์ ภรรยา และลูกจ้าง ซึ่งจะต้องถูกดำเนินคดีในฐานะผู้สนับสนุนการกระทำความผิดนี้ด้วย
พล.ต.ท.จิรภพ กล่าวด้วยว่า กรณีนี้ ได้ดำเนินการตรวจสอบการทำธุรกรรมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่น่าสงสัย จนติดตามจับกุมผู้กระทำผิดได้ 9 ราย ใน อบต.นิลเพชร จ.นครปฐม , อบต.หนองหัวโพ จ.สระบุรี, อบต.ห้วยยายจิ๋ว จ.ชัยภูมิ , อบต.โคกหล่าม จ.ศรีษะเกษ , อบต.ขาเขลียง จ.นครศรีธรรมราช เบื้องต้นผู้ต้องหาจำนนด้วยหลักฐาน และให้การรับสารภาพ ซึ่งหลังจากนี้ยังจะนำรูปแบบการประทุษกรรมดังกล่าวไปสืบสวนและตรวจสอบธุรกรรมที่เข้าข่ายการทุจริตในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่นๆอีกหลายแห่ง ซึ่งถือเป็นการยับยั้ง ป้องปราม ตัดวงจรการกระทำผิดที่อาจเกิดขึ้นอีกในอนาคตได้
"สำหรับการตรวจจับในครั้งนี้ เบื้องต้นพบความเสียหายกว่า 84 ล้านบาท ซึ่งเชื่อว่ายังมีหน่วยงานอีกหลายแห่งที่ยังลักลอบก่อเหตุแบบนี้อยู่ หลังจากนี้ก็จะร่วมสืบสวนกับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องจะทำการสืบสวนจับกุมต่อไป โดยได้รับความร่วมมือจากธนาคารกรุงไทย ฐานะเจ้าของบัญชีที่ใช้เบิกจ่ายเงินของทางราชการ จนนำมาสู่การจับกุมดังกล่าว" พล.ต.ท.จิรภพระบุ
ส่วน พ.ต.ท.สิริพงษ์ ศรีตุลา ผู้อำนวยการกองปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ 2 เปิดเผยว่า จากการตรวจสอบประวัติการใช้เงินของผู้ต้องหา ก็พบด้วยว่าส่วนใหญ่จะเข้าไปเกี่ยวข้องกับการเล่นพนันออนไลน์ทั้งหมด หลังจากตรวจสอบย้อนหลังไปตั้งแต่ปี 2564 รวมทั้งตรวจสอบบัญชีเงินเดือนของผู้ต้องหาก็พบว่าไม่มีความสอดคล้องกับจำนวนเงินที่มีอยู่ในบัญชีอีกด้วย จากสอบสวนก็พบว่า ผู้ต้องหาที่ถูกจับกุมนั้นเมื่อได้รหัสผ่านการควบคุมบัญชีมาแล้ว ก็จะปิดการแจ้งเตือนการตัดเงินออก ทำให้ผู้ที่ดูแลตรวจสอบในระดับที่สูงกว่าไม่สามารถรับรู้ได้ว่ามีเงินไหลออกจากบัญชี และบางคนก็มอบรหัสผ่านให้กับคนที่ดูแลบัญชีด้วยความไว้ใจ บางคนเป็นญาติกันเอง และไม่ยอมทำตามระบบที่วางไว้ ทำให้เกิดความเสียหายเป็นจำนวนมากแบบนี้
"เจ้าหน้าที่รัฐที่ยักยอกเงินร้อยละ 90 ล้วนมีความเกี่ยวข้องกับพนันออนไลน์ และระบบนี้สามารถเบิกจ่ายได้ทุกที่ทุกเวลา เบื้องต้นมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกว่า 7,900 แห่งที่ใช้ระบบธุรกรรม KTB Corporate Online ของธนาคารกรุงไทย และบางกรณีพบว่ามีการใช้ลูกจ้างป็นนอมินีเพื่อโอนเงินให้เจ้าหน้าที่ระดับสูงขึ้นไป ทั้งยังมีการตกแต่งบัญชีเพื่อตบตาเจ้าหน้าที่ และยังมีการตัดการแจ้งเตือนธุรกรรมที่เกิดจากการทำทุจริตออกเพื่อไม่ให้ผิดสังเกตด้วย" พ.ต.ท.สิริพงษ์ ระบุ
พ.ต.ท.สิริพงษ์ กล่าวด้วยว่า อย่างไรก็ตาม พบว่าปกครองส่วนท้องถิ่นได้มีการระเบียบมาตรการในการเบิกจ่ายเงินทางระบบอิเล็กทรอนิกส์เพื่อป้องกันการทุจริตไว้ดีแล้ว แต่เจ้าหน้าที่ไม่ปฏิบัติตามจึงการทุจริตขึ้น มีส่วนเกี่ยวข้องจะมีความผิดทั้งทางแพ่ง อาญา และวินัย
ขณะที่ นายกฤษณ์ กระแสเวส รองเลขาธิการคณะกรรมการปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ ระบุว่า การทุจริตการเบิกจ่ายงบประมาณของหน่วยงานราชการผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ดังกล่าว เกิดจากผู้ที่ได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่กลับละเว้นหน้าที่ นำรหัสการทำธุรกรรมไปให้กับเจ้าหน้าที่ระดับล่างที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง และพบว่ามีการทุจริตในลักษณะเดียวกันมาอย่างต่อเนื่อง เฉพาะ อบต.เล็ก ๆ ก็มีความเสียหายแล้วกว่า 300 ล้านบาท
"การตรวจจับครั้งนี้เจ้าหน้าที่ตรวจพบความผิดปกติในระบบการเบิกจ่ายผ่านบัญชีธนาคาร ซึ่งระบบการเบิกจ่ายของอบต.แต่ละแห่งจะต้องมีผู้เกี่ยวข้องอย่างน้อย 3 คน และต้องรายงานบัญชีที่โอนเงินไปด้วย แต่ส่วนใหญ่ที่พบคือ ผู้ที่จะต้องร่วมตรวจสอบการโอนเงิน ก็จะมอบหมายให้เจ้าหน้าที่เพียงคนเดียวสามารถทำธุรกรรมด้วยคนเองไปทั้งหมด จนกลายเป็นช่องว่างเกิดการทุจริตได้แบบนี้" นายกฤษณ์ ระบุ