เริ่มขึ้นแล้ว! ปรากฏการณ์เอลนีโญในมหาสมุทรแปซิฟิก ผู้เชี่ยวชาญคาดส่งผลให้ปี 2024 ร้อนที่สุดเป็นประวัติการณ์ของโลก อากาศแปรปรวน ไทยเสี่ยงเจอภัยแล้ง
สำนักข่าวอิศรา (www.isaranews.org) รายงานว่า เมื่อเร็วๆ นี้ องค์การบริหารมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งชาติของสหรัฐฯ (NOAA) ออกประกาศเตือนว่า ปรากฏการณ์เอลนีโญ ที่คาดการณ์ไว้ ได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว ท่ามกลางความกังวลที่เพิ่มขึ้นต่อสภาพอากาศสุดขั้ว และอุณหภูมิสูงสุดเป็นประวัติการณ์
ดร.มิเชล เลอฮัว์ นักวิทยาศาสตร์ด้านสภาพอากาศ ระบุว่า ปรากฏการณ์เอลนีโญ สามารถก่อให้เกิดผลกระทบมากมาย อาทิ การเพิ่มความเสี่ยงจากฝนตกหนัก และภัยแล้งรุนแรง ขณะเดียวกัน การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อาจเพิ่มความรุนแรง หรือลดผลกระทบจากปรากฏการณ์เอลนีโญ อย่างเช่น พื้นที่ซึ่งมีอุณหภูมิสูงกว่าค่าเฉลี่ย อาจมีอุณหภูมิสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ในช่วงที่เกิดปรากฎการณ์ดังกล่าว
ปรากฎการณ์ 'เอลนีโญ' กำลังเริ่มต้นขึ้นในมหาสมุทรแปซิฟิกเเล้ว อุณหภูมิของโลกจะสูงขึ้นภายใต้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยคาดการณ์ว่า ปี ค.ศ. 2024 จะเป็นปีที่ร้อนที่สุดของโลก
'เอลนีโญ' เป็นส่วนหนึ่งของปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ โดยทั่วไปแล้วเหตุการณ์เอลนีโญจะเกิดขึ้นเมื่ออุณหภูมิพื้นผิวน้ำทะเลในเขตมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันออกสูงขึ้นอย่างน้อย 0.5 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบจากค่าเฉลี่ยระยะยาว
หลายเดือนที่ผ่านมา นักวิจัยมั่นใจมากขึ้นว่า ปรากฏการณ์เอลนีโญจะเกิดขึ้นในมหาสมุทรแปซิฟิก เนื่องจากมีสัญญาณเตือนมาหลายเดือนแล้ว เเละดูเหมือนว่าความรุนแรงจะถึงจุดสูงสุดในสิ้นปีนี้
ทางด้าน นายอดัม สไคฟ์ หัวหน้าฝ่ายคาดการณ์ของสำนักงานกรมอุตุนิยมวิทยาแห่งชาติของสหราชอาณาจักร กล่าวว่า “สถิติใหม่ของอุณหภูมิโลกในปีหน้านั้นเป็นไปได้อย่างแน่นอน ทั้งนี้มันขึ้นอยู่กับว่าปรากฏการณ์เอลนีโญจะรุนแรงเพียงใด เอลนีโญครั้งใหญ่ในปลายปีนี้ มีโอกาสสูงในการสร้างสถิติใหม่ของอุณหภูมิโลก ปี ค.ศ. 2024”
นอกจากนี้ นักวิทยาศาตร์ ยังหวั่นเกรงว่า ปรากฎการณ์เอลนีโญอาจทำให้โลกมีอุณหภูมิสูงขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียส และยังส่งผลกระทบต่อสภาพอากาศของโลกอีกด้วย มันอาจนำความแห้งแล้งมาสู่ออสเตรเลีย ฝนตกมากขึ้นทางตอนใต้ของสหรัฐฯ และทำให้มรสุมของอินเดียอ่อนกำลังลง เหตุการณ์นี้น่าจะดำเนินไปจนถึงฤดูใบไม้ผลิหน้า หลังจากนั้นความรุนแรงจะค่อยๆลดลง
ขณะนี้ อุณหภูมิโลกอยู่ที่ประมาณ 1.1 องศาเซลเซียส สูงกว่าค่าเฉลี่ยในช่วงปี ค.ศ. 1850-1900 และภายหลังจากเหตุการณ์เอลนีโญอาจเพิ่มขึ้นถึง 0.2 องศาเซลเซียส
ปรากฎการณ์นี้จะผลักดันให้โลกเข้าสู่ภาวะอุณหภูมิสูงที่สุดที่ไม่เคยมีมาก่อน และใกล้จะทำลายเกณฑ์ป้องกัน 1.5 องศาเซลเซียส ซึ่งเป็นข้อตกลงสำคัญด้านสภาพอากาศในความตกลงปารีส (Paris Agreement)
ทั้งนี้ องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก แห่งสหประชาชาติ คาดการณ์ว่า อีก 5 ปีข้างหน้า ระหว่างปี 2566 - 2570 จะเป็นช่วงที่สภาพอากาศร้อนที่สุด เท่าที่เคยมีการบันทึกสถิติ ซึ่งเป็นผลมาจาก ก๊าซเรือนกระจก และปรากฏการณ์เอลนีโญ
สำหรับประเทศไทย ปรากฎการณ์เอลนีโญอาจส่งผลให้เผชิญกับสภาพอากาศที่ร้อนเเละแห้งแล้งมากขึ้น กรมอุตุนิยมวิทยาได้คาดการณ์ว่า ฝนอาจตกน้อยกว่าปกติ กรมชลประทานได้เตรียมแผนรับมือโดยเร่งกักเก็บน้ำทั่วประเทศ และเตรียมความพร้อมสำหรับฤดูฝนที่จะมาถึง
เรียบเรียงจาก: Climate change: How is my country doing on tackling it?, El Niño planet-warming weather phase has begun
ภาพประกอบจาก: elperiodico.com