‘กสทช.’ เผยลงนามสัญญาจ้างโครงการ ‘อบรม IT คนชายขอบ’ แล้ว 2 สัญญา ขณะที่อีก 3 สัญญา ยังเซ็นไม่ได้ เหตุมีเอกชนที่แพ้ประมูล 3 ราย ยื่นอุทธรณ์ฯ ขณะที่ ‘ประธาน กสทช.’ กำชับต้องไม่มีการอบรม ‘ผี’-ต้องป้องกันการทุจริต พร้อมแจงเหตุที่ต้องใช้งบสูง เพราะคนชายขอบ ไม่คุ้นเคยกับ ‘เทคโนโลยี’ เหมือนคนเมือง จึงต้องให้ความสำคัญเป็นพิเศษ
.........................................
สืบเนื่องจากกรณีที่เมื่อวันที่ 4 เม.ย.ที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.) ประกาศรายชื่อผู้ชนะการประกวดราคาจ้างโครงการพัฒนาทักษะสร้างความรู้ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศสู่สังคมดิจิทัล ในภารกิจบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึงและบริการเพื่อสังคม ด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) รวม 5 สัญญา วงเงินรวม 1,796.42 ล้านบาท นั้น
ล่าสุด นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รองเลขาธิการ กสทช. เปิดเผยกับสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ว่า ขณะนี้ สำนักงาน กสทช.ได้ลงนามในสัญญาจ้างกับเอกชนที่ชนะประมูลไปแล้ว 2 สัญญา ส่วนที่เหลืออีก 3 สัญญายังไม่ได้มีการลงนาม เนื่องจากเอกชนที่แพ้การประมูลในแต่ละโครงการฯได้ยื่นอุทธรณ์ผลการประมูล ทำให้สำนักงานฯต้องส่งเรื่องที่อุทธรณ์ไปให้คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์และข้อร้องเรียน กรมบัญชีกลาง พิจารณาในเรื่องดังกล่าว
รายงานข่าวแจ้งว่า สำหรับโครงการที่ กสทช.ได้ลงนามสัญญาจ้างกับเอกชนไปแล้ว 2 สัญญา/โครงการ ได้แก่
1.โครงการพัฒนาทักษะสร้างความรู้ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศสู่สังคมดิจิทัลในภารกิจบริการโทรคมนาคมฟื้นฐานโดยทั่วถึงและบริการเพื่อสังคม กลุ่มที่ 3 (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง) ซึ่ง กิจการค้าร่วม GT (จีที) เป็นผู้ชนะการประมูลไปด้วยราคา 345.05 ล้านบาท
2.โครงการพัฒนาทักษะสร้างความรู้ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศสู่สังคมดิจิทัลในภารกิจบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึงและบริการเพื่อสังคม กลุ่มที่ 4 (ภาคกลางและภาคตะวันออก) ซึ่ง บริษัท อินโฟ ซิสเต็ม จำกัด เป็นผู้ชนะการประมูลไปด้วยราคา 316.96 ล้านบาท ล้านบาท
ขณะที่โครงการที่มีการยื่นเรื่องอุทธรณ์ไปยังคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ฯ และอยู่ระหว่างรอผลการพิจารณาอุทธรณ์ มี 3 โครงการ ได้แก่
1.โครงการพัฒนาทักษะสร้างความรู้ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศสู่สังคมดิจิทัล ในภารกิจบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึงและบริการเพื่อสังคม กลุ่มที่ 1 (ภาคเหนือ) ซึ่ง กิจการค้าร่วม TK-Chill (ทีเคชิล) เป็นผู้ชนะการประมูลที่ราคา 496.16 ล้านบาท
2.โครงการพัฒนาทักษะสร้างความรู้ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศสู่สังคมดิจิทัลในภารกิจบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึงและบริการเพื่อสังคม กลุ่มที่ 2 (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน) ซึ่ง บริษัท บลู โซลูชั่น จำกัด เป็นผู้ชนะการประมูลที่ราคา 345.04 ล้านบาท
3.โครงการพัฒนาทักษะสร้างความรู้ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศสู่สังคมดิจิทัลในภารกิจบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึงและบริการเพื่อสังคม กลุ่มที่ 5 (ภาคใต้) ซึ่ง บริษัท อินเตอร์ลิ้งค์ เทเลคอม จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ชนะการประมูลที่ราคา 293.21 ล้านบาท
สำหรับโครงการพัฒนาทักษะสร้างความรู้ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศสู่สังคมดิจิทัลฯ หรือที่เรียกว่าโครงการอบรมการใช้อินเทอร์เน็ตในพื้นที่ชายขอบ นั้น แบ่งเป็น 2 เฟส คือ เฟสแรก เป็นการจัดทำหลักสูตร ซึ่งทำไปแล้ว และเฟสที่ 2 เป็นการจัดอบรม ซึ่งแยกเป็นรายภาค กำหนดกลุ่มเป้าหมายไม่ต่ำกว่า 5 แสนคน โดยแหล่งเงินสนับสนุนโครงการฯจะมาจากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.)
@แจงเซ็นสัญญาไม่ได้ 3 โครงการ เหตุมีการยื่นอุทธรณ์ผลประมูล
ด้าน นายสุปรีย์ เทียนทำนูล ผู้อำนวยการส่วนนโยบายและแผนโทรคมนาคมโดยทั่วถึงและเพื่อสังคม สำนักงาน กสทช. กล่าวกับสำนักข่าวอิศราเพิ่มเติมว่า สาเหตุที่ กสทช.ยังไม่สามารถลงนามสัญญาทั้ง 3 โครงการฯได้นั้น เนื่องจากบริษัทที่ไม่ได้งานได้มีการยื่นอุทธรณ์ ดังนั้น ทางสำนักงานฯจึงต้องอธิบายในประเด็นที่บริษัทเหล่านั้นได้อุทธรณ์มา แล้วส่งเรื่องไปให้คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ฯ ซึ่งคณะกรรมการฯ มีกรอบเวลาว่าจะต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จใน 3 เดือน
“มี 1 บริษัท ร้องว่าเขาตกคุณสมบัติ ซึ่งที่เราให้เขาตก เพราะเขาไม่ได้ยื่นเอกสารที่มีสาระสำคัญอย่างยิ่งแนบมา ในขณะที่ผู้ยื่นในครั้งนี้ ซึ่งมีประมาณ 40 บริษัท ใน 5 สัญญา ต่างก็ยื่นเอกสารนี้มาครบทุกราย เมื่อเขาไม่ส่งมา เราก็พิจารณาต่อไม่ได้ และเราได้ทำเรื่องชี้แจงไปยังคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ฯไปแล้ว ส่วนอีก 2 ราย เป็นเรื่องที่เขาอุทธรณ์ว่า เหตุใดเขาจึงได้คะแนนน้อย ซึ่งเราได้อธิบายก็ได้ชี้แจงไปยังคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ฯ ว่า หลักเกณฑ์การให้คะแนนของเราเป็นอย่างไร”นายสุปรีย์ กล่าว
นายสุปรีย์ ยังกล่าวว่า ในการดำเนินการโครงการพัฒนาทักษะสร้างความรู้ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศสู่สังคมฯ นั้น ทางผู้บริหาร กสทช. และกรรมการ กสทช. โดยเฉพาะ ศ.คลินิก นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธาน กสทช. ได้ให้ข้อกังวลและข้อห่วงใยเกี่ยวกับการดำเนินโครงการฯนี้ และขอให้ทีมคณะกรรมการตรวจรับงานฯต้องเข้มงวดในการตรวจรับงาน เช่น จะต้องมีผู้อบรมจริง รวมทั้งต้องป้องกันไม่ให้มีการทุจริต เป็นต้น
“จะต้องไม่มีการอบรมผี คือ เดิมทีจะมีลักษณะว่าคนที่มาจะเซ็นชื่อแล้วเข้าอบรม ทานข้าวแล้วกลับ แต่ตรงนี้จะต้องมีการอัดวิดีโอ และภาพนิ่ง เพื่อเป็นหลักฐานประกอบการเบิกจ่ายในแต่ละสัญญา และเมื่อโครงการนี้อยู่ในความสนใจของสื่อและสังคม ก็เป็นสิ่งที่ดี และทำให้เราต้องระมัดระวัง ไม่ปล่อยให้คู่สัญญาที่ได้งานไป ไปดำเนินการอะไรที่ไม่ถูกต้อง ทำผิดไปจากขอบเขตงาน และต้องป้องกันการทุจริต ซึ่งเป็นเรื่องที่ทางผู้ใหญ่ท่านกำชับมาเลย” นายสุปรีย์ ระบุ
นายสุปรีย์ ย้ำด้วยว่า สำหรับผู้ที่จะเข้าร่วมอบรมในโครงการฯ จะต้องมีคุณสมบัติตรงตามเงื่อนไขของโครงการฯเท่านั้น ไม่ใช่ว่าจะใครก็ได้เข้ามาอบรม โดยต้องคนในพื้นที่ชายขอบที่อยู่ในเป้าหมายที่กำหนดไว้ ในขณะที่กระบวนการตรวจสอบทุกอย่างต้องมีความชัดเจนก่อนจะเบิกจ่ายเงินได้
“ในบางมุมคนจะมองว่า ฝึกอบรมทำไมถึงใช้เงินเยอะ เป็นการตำน้ำพริกละลายแม่น้ำหรือเปล่า คือ เรื่องนี้ มี 2 มุม โดยอันแรก ที่เราต้องมีโครงการฯอบรมนี้ เพราะเรา (กสทช.) เอาโครงสร้างพื้นฐานกับบริการอินเตอร์เน็ต เข้าไปให้ในพื้นที่ห่างไกลหรือพื้นที่ชาวขอบ และเรารู้อยู่แล้วว่าคนเหล่านั้น เขาห่างจากเทคโนโลยีมากๆ จึงเป็นความยากลำบากที่เขาจะมาใช้ตรงนี้ และถ้าไปอาศัยเจ้าหน้าที่หรือครูประจำโรงเรียน ก็จะไม่ทันการณ์
อันที่สอง การฝึกอบรมครั้งนี้ ไม่ใช่การอบรมทั่วไปแบบที่เกิดขึ้นในเมือง ที่คนมีความรู้อยู่แล้ว มีความใกล้ชิดเทคโนโลยี มีความเข้าใจเรื่องการใช้คอมพิวเตอร์อยู่แล้ว และไม่ใช่ว่าใครจะมาอบรมก็ได้ แต่เราโฟกัสว่า ปลายทางของคนที่มาอบรม ต้องมาจากหมู่บ้านที่มีอุปกรณ์และมีอินเตอร์ของเราไปลง ซึ่งเป็นคนในหมู่บ้านชายขอบในพื้นที่เป้าหมายของเราเท่านั้น ทำให้การฝึกอบรมตรงนี้ จึงต้องให้ความสำคัญเป็นพิเศษ และไม่ใช่การอบรมแบบทั่วๆไป” นายสุปรีย์ กล่าว
อ่านประกอบ :
กสทช.ประกาศผู้ชนะจ้างอบรม IT คนชายขอบ 1.79 พันล.-พบ‘บ.ค้าคอมพิวเตอร์-ซอฟต์แวร์’ได้ด้วย
ให้ไปทำข้อมูลใหม่! ‘บอร์ด กสทช.’ตีกลับล้วงเงิน ‘กทปส.’ 3.5 พันล.หนุน‘โทรเวชกรรมถ้วนหน้า’