องค์การอนามัยโลก ออกข้อแนะนำไม่ควรใช้สารให้ความหวาน ควบคุมน้ำหนัก บริโภคไปยาว ๆ พบมีความสัมพันธ์เสี่ยงเบาหวานชนิดที่ 2 ด้านนักวิชาการไทย ชี้เลี่ยงน้ำตาล ไปกินสารให้ความหวานแทน ไม่ใช่ทางแก้ คนก็ยังติดรสหวานอยู่ เปิดข้อมูลเริ่มมีงานวิจัยที่น่ากลัวกว่า น้ำตาลฟรุ๊ตโตส ทำให้เกิดไขมันพอกตับ สุดท้ายดื้ออินซูลิน
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อเร็วๆ นี้ องค์การอนามัยโลก (WHO) ออกข้อแนะนำหรือแนวทาง (guideline) เรื่อง การใช้สารให้ความหวานทดแทนน้ำตาล (Use of non-sugar sweeteners:NSS) โดยเนื้อหาที่น่าสนใจพบว่า การใช้สารให้ความหวานแทนน้ำตาล ไม่ได้มีหลักฐานสนับสนุนชัดเจนว่า ช่วยในเรื่องผลลัพธ์ทางสุขภาพ (health outcome) เท่าใดนัก รวมถึงปัญหาเรื่องของฟันผุด้วย
WHO ชี้ว่า การใช้สารให้ความหวาน เพื่อเป็นทางเลือกในการเลี่ยงน้ำตาล หรือเพื่อควบคุมน้ำหนักในผู้ใหญ่ หลักฐานแสดงให้เห็นว่า การที่ผู้ใหญ่บริโภคสารให้ความหวานทดแทนน้ำตาลในปริมาณมาก จะส่งผลให้น้ำหนักตัวและค่าดัชนีมวลกายลดลงช่วงเวลาสั้นๆ เมื่อเทียบกับผู้ที่ไม่ได้บริโภคสารให้ความหวาน หรือบริโภคสารให้ความหวานในปริมาณน้อย
และการบริโภคสารให้ความหวาน ในระยะยาว พบว่า มีความสัมพันธ์กับการเพิ่มอัตราความเสี่ยงในการเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 โรคระบบหัวใจหลอดเลือด และการเสียชีวิตในผู้ใหญ่ ขณะที่เด็กและสตรีมีครรภ์ หลักฐานของผลกระทบจากสารให้ความหวานทดแทนน้ำตาลที่มีต่อสุขภาพนั้น ยังมีจำกัดและไม่แน่ชัด
ทั้งนี้ WHO แนะนำในบทความให้ใช้สารให้ความหวานด้วยความระมัดระวัง เพราะไม่มีคุณค่าทางโภชนาการแต่งอย่าใด และอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาว และแม้ว่าสารให้ความหวานทดแทนน้ำตาลจะมีส่วนช่วยในการลดการบริโภคน้ำตาล แต่ก็ไม่มีหลักฐานช่วยลดไขมันของร่างกายในระยะยาว ซึ่งคำแนะนำนี้สำหรับทุกคน ยกเว้นในผู้ป่วยโรคเบาหวาน
ในทางกลับกัน WHO แนะนำให้ทดแทนน้ำตาลเติมแต่งด้วยแหล่งอาหารที่มีความหวานโดยธรรมชาติ เช่น ผลไม้ ผลไม้มีน้ำตาลธรรมชาติ รวมถึงวิตามิน แร่ธาตุ และใยอาหารที่สำคัญ ซึ่งการรับประทานผลไม้เป็นทางเลือกเพื่อสุขภาพที่ดีกว่า
นอกจากนี้ การเลือกบริโภคอาหารและเครื่องดื่มที่ไม่หวานและแปรรูปน้อยสามารถช่วยเพิ่มคุณภาพอาหารได้
หลังองค์การอนามัยโลก ออกคำแนะนำเรื่องสารให้ความหวาน ความยาว 90 กว่าหน้าออกมา ดร.พิศมัย ศรีชาเยช ผู้อำนวยการ สถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มองว่า สารให้ความหวานเป็นที่รู้กันว่าไม่ได้ช่วยเรื่องการลดน้ำหนัก ซึ่งคนอาจะเข้าใจผิดว่า ช่วยในการลดน้ำหนัก ลดไขมันในเลือด แต่จริงๆ การที่คนเราอ้วนไม่ได้เกี่ยวกับการกินสารให้ความหวาน หรือเครื่องดื่ม มีหลายปัจจัยที่ทำให้อ้วน
“การบริโภคอาหารหรือเครื่องดื่มที่ใส่สารให้ความหวาน ไม่ได้แก้ปัญหาการติดหวาน ซึ่งเครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน พยายามรณรงค์มาอย่างต่อเนื่องยาวนาน องค์กรอนามัยโลก จึงออกคำแนะนำให้ผู้บริโภคลดปริมาณน้ำตาลในอาหารจะดีกว่า หรือหากเลือกรับประทานผลไม้ ก็เลือกผลไม้ที่รสชาติหวานน้อย หรือหากจะกินน้ำตาล ก็ให้ใช้น้ำตาลจากธรรมชาติ เช่น แทนที่จะกินน้ำตาลบริสุทธิ์ น้ำตาลทราย น้ำเชื่อมฟรุ๊ตโตส ก็ให้เลือกรับประทานผลไม้แทน ผลไม้มีน้ำตาลก็จริง แต่มีไฟเบอร์ ซึ่งช่วยดูดซับน้ำตาลในกระแสเลือด ทำให้น้ำตาลในเลือดขึ้นอย่างช้าๆ”
ขณะที่ผู้เป็นโรคเบาหวานต้องการควบคุมน้ำตาลในเลือดสูงไม่ได้ น้ำผลไม้ ผลไม้หวานมากก็กินไม่ได้นั้น ดร.พิศมัย บอกว่า สามารถบริโภคอาหารและเครื่องดื่มที่ใส่สารให้ความหวานได้ ขณะที่คนปกติทั่วไปสามารถเลือกรับประทานความหวานที่มาจากธรรมชาติจะดีกว่า กินจากน้ำหวาน
ผอ.สถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร ม.เกษตรศาสตร์ ย้ำถึงสารทดแทนความหวาน (Sweetener) เป็นสารที่ใช้แต่งรสหวาน แต่งกลิ่น ซึ่งปัจจุบันถูกนำมาใช้ในการปรุงอาหาร เครื่องดื่ม เช่น แอสปาเทม (Aspartame) อะซีซัลเฟม เค (Acesulfame-K) ไซเคลเมต (cyclamate) น้ำตาลซูโครส (sucrose) แซ็กคาริน (saccharin) หรือขัณฑสกร เคยถูกห้ามใช้ในอาหาร ตอนหลังกลับมาให้ใช้ได้ เป็นต้น
“เครื่องดื่มน้ำอัดลม น้ำตาล 0% จะใช้ อะซีซัลเฟม เค กับแอสปาเทม ขณะที่น้ำผลไม้จะใช้ ซูคราโลส (sucralose)” ดร.พิศมัย ให้ข้อมูล พร้อมกับแนะนำว่า เราควรลดการกินหวาน แทนที่เราจะไปกินสารให้ความหวาน
เมื่อถามถึงคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก ที่ระบุถึงผลการศึกษา การบริโภคสารให้ความหวานทดแทนน้ำตาล ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นแซคคาริน มีความสัมพันธ์กับความเสี่ยงที่สูงขึ้นในการเป็นมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ ผอ.สถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร ม.เกษตรศาสตร์ อธิบายว่า แซคคารินใช้ในพวกผักผลไม้ดอง ผลไม้แห้ง กินแล้วจะรู้สึกหวานผิดลิ้น ซึ่งความเสี่ยงดังกล่าว WHO ก็ระบุว่า ยังมีหลักฐานไม่ชัดเจน มีปัจจัยหลายอย่างไปศึกษากับคนกลุ่มไหน และคนกลุ่มนั้นกินอะไร ดังนั้น เรื่องสารให้ความหวาน จะเป็นพิษหรือไม่นั้นยังต้องการการศึกษาอีกระยะหนึ่ง
สำหรับภาคอุตสาหกรรมที่ออกผลิตภัณฑ์ใช้สารให้ความหวาน ดร.พิศมัย ชี้ว่า ต้นทุนการผลิตจะถูกกว่าการใช้น้ำตาล ซึ่งหากผู้บริโภคอยากกินของอร่อยก็จะเลือกสูตรปกติ ส่วนผู้บริโภคที่ไม่อยากได้แคลอรี่เยอะ ไม่อยากให้น้ำตาลในเลือดสูง ก็เลือกอาหารหรือเครื่องดื่มที่ใช้สารให้ความหวาน เหมือนน้ำอัดลม จะออกสูตรปกติ สูตรลดน้ำตาล ผสมสารให้ความหวาน กับสูตรซีโร่ ไม่มีน้ำตาลเลย ฉะนั้น ขึ้นอยู่กับผู้บริโภคอยากเลือกทานแบบไหน
ดร.พิศมัย กล่าวถึงการแพ้สารให้ความหวาน มีงานวิจัยพบว่า มีปัญหากับคนที่เป็นโรคบางชนิด เช่น แพ้แอสปาเทม เขาก็จะรู้กินสารให้ความหวานชนิดนี้ไม่ได้ ซึ่งก็จะเหมือนๆ กับคนแพ้ถั่ว เป็นลักษณะเดียวกัน
“น้ำตาลฟรุ๊ตโตส น่ากลัวกว่าสารให้ความหวานอีก ซึ่งใช้อุตสาหกรรมอาหาร เริ่มมีงานวิจัยว่า น้ำตาลฟรุ๊ตโตสทำให้เกิดไขมันพอกตับ เพราะน้ำตาลฟรุ๊ตโตส ร่างกายไม่สามารถเอาไปใช้ได้ พอร่างกายไม่ได้เอาไปใช้ก็จะไปเก็บไว้ที่ตับ และเกิดเป็นไขมันพอกตับในที่สุด จนเกิดภาวะดื้ออินซูลินคนที่ดื่มน้ำอัดลมเยอะๆ กินน้ำผึ้ง ซึ่งมีน้ำตาลฟรุ๊ตโตส กินไปเรื่อยๆจะเปลี่ยนจากฟรุ๊ตโตส เป็นไตรกลีเซอไรด์ ปรากฎว่าเรากินหวานแต่ไขมันในเลือดสูง” ผอ.สถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร ม.เกษตรศาสตร์ ระบุ
ดร.พิศมัยแสดงความเห็นทิ้งท้ายว่า การกินสารให้ความหวานทำให้เราติดรสหวานอยู่ การที่องค์การอนามัยโลกออกคำแนะนำสารให้ความหวานไม่มีผลต่อการลดน้ำหนัก ไม่มีประโยชน์ต่อร่างกาย ทางเลือกที่ดีที่สุด ลดการกินหวาน อย่างที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) รณรงค์ ให้กินความหวานที่มาจากธรรมชาติ พยายามลดระดับความหวาน เพื่อให้ชินกับความไม่หวาน