ครม.ไฟเขียวร่างกฎกระทรวงฯห้าม ‘ผู้ยื่นข้อเสนอ’ จัดซื้อจัดจ้างกับ ‘หน่วยงานรัฐ’ ยื่นอุทธรณ์ใน 4 กรณี ย้ำคำวินิจฉัยของ ‘คกก.พิจารณาอุทธรณ์’ ให้ถือว่า ‘เป็นที่สุด’ ขณะที่ ‘สำนักงานอัยการสูงสุด’ ค้านตัดสิทธิยื่นอุทธรณ์การจัดซื้อฯเร่งด่วน
.........................................
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 30 พ.ค.ที่ผ่านมา ที่ประชุม ครม.มีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดเรื่องที่อุทธรณ์ไม่ได้ พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ และให้ส่งร่างกฎกระทรวงฉบับดังกล่าว ให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยให้รับความเห็นของสำนักงานอัยการสูงสุดและสำนักงบประมาณ ไปประกอบการพิจารณาด้วย และดำเนินการต่อไปได้
สำหรับร่างกฎกระทรวงฯดังกล่าว เป็นการยกเลิกกฎกระทรวงกำหนดเรื่องการจัดซื้อจัดจ้างกับหน่วยงานของรัฐที่ใช้สิทธิอุทธรณ์ไม่ได้ พ.ศ.2560 และกำหนดกฎกระทรวงเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวฉบับใหม่ เพื่อให้เกิดความชัดเจนในการปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างฯ โดยร่างกฎกระทรวงฉบับนี้กำหนดให้ผู้ซึ่งได้ยื่นข้อเสนอเพื่อจัดซื้อจัดจ้างกับหน่วยงานของรัฐ ไม่มีสิทธิอุทธรณ์เกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุ ประกอบด้วย 4 กรณี ได้แก่
1.คุณสมบัติของผู้ยื่นข้อเสนอรายอื่น ที่เข้าร่วมการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุในครั้งนั้น โดยวิธีประกาศเชิญชวนทั่วไป ด้วยวิธีตลาดอิเล็กทรอนิกส์ (คงเดิม)
2.ในกรณีที่หน่วยงานของรัฐเปิดโอกาสให้มีการรับฟังความคิดเห็นร่างขอบเขตของงาน หรือรายละเอียดคุณลักษณะเฉพาะของพัสดุ ก่อนจะทำการจัดซื้อจัดจ้างโดยวิธีประกาศเชิญชวนทั่วไป หรือเปิดโอกาสให้มีการชี้แจงรายละเอียดเพิ่มเติม ก่อนจะทำการจัดซื้อจัดจ้างโดยวิธีการคัดเลือกผู้ประกอบการ
หากปรากฏว่า ผู้ประกอบการ ซึ่งเป็นผู้ยื่นข้อเสนอในการจัดซื้อจัดจ้างครั้งนั้น มิได้วิจารณ์ หรือเสนอแนะร่างขอบเขตของงาน หรือรายละเอียดคุณลักษณะเฉพาะของพัสดุ ผู้ประกอบการ ซึ่งเป็นผู้ยื่นข้อเสนอนั้น จะอุทธรณ์ในเรื่องขอบเขตของงานหรือรายละเอียดคุณลักษณะของพัสดุของหน่วยงานรัฐนั้น มิได้ (เดิมไม่ได้กำหนดวิธีการจัดซื้อจัดจ้างว่าเป็นรูปแบบใด จึงกำหนดวิธีการเพิ่มเติมเพื่อให้เกิดความชัดเจน)
3.การจัดซื้อจัดจ้างที่มีความจำเป็นเร่งด่วนตามมาตรา 56 (1) (ค) ตาม พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 หรือการจัดซื้อจัดจ้างที่มีความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องใช้พัสดุนั้น อันเนื่องมาจากเกิดเหตุการณ์ที่ไม่อาจคาดหมายได้ ซึ่งหากใช้วิธีประกาศเชิญชวนทั่วไปจะทำให้ไม่ทันต่อความต้องการใช้พัสดุ (เดิมไม่มี เพิ่มเติมเพื่อให้ผู้ประกอบการไม่มีสิทธิอุทธรณ์ เพราะอาจเกิดความเสียหายกับหน่วยงานของรัฐได้ หากมีการใช้สิทธิอุทธรณ์ภายหลังจากที่หน่วยงานของรัฐได้ลงนามในสัญญาไปแล้ว)
4.เมื่อหน่วยงานของรัฐดำเนินการตามคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์และข้อร้องเรียน (คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์) ซึ่งอาศัยอำนาจตามมาตรา 119 วรรคสอง พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างฯ กรณีพิจารณาแล้วเห็นว่า อุทธรณ์ฟังขึ้น และมีผลต่อการจัดซื้อจัดจ้างอย่างมีนัยสำคัญ แล้วสั่งให้หน่วยงานของรัฐดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างโดยเริ่มจากขั้นตอนที่เห็นสมควร หรือกรณีพิจารณาแล้วเห็นว่าอุทธรณ์ฟังไม่ขึ้น หรือไม่มีผลต่อการจัดซื้อจัดจ้างอย่างมีนัยสำคัญ แล้วแจ้งให้หน่วยงานของรัฐดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างต่อไป
เนื่องจากคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ดังกล่าวถือเป็นที่สุดตามนัยมาตรา 119 วรรค 3 แห่ง พ.ร.บ. การจัดซื้อจัดจ้างฯ เว้นแต่มีข้อเท็จจริงใหม่ที่จะทำให้ผลการพิจารณาของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เปลี่ยนแปลงไป (เดิมไม่มี เป็นการกำหนดรายละเอียดที่ให้คำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เป็นที่สุด เพื่อให้เกิดความชัดเจนในทางปฏิบัติ)
@‘อส.’ไม่เห็นด้วยตัดสิทธิยื่น‘อุทธรณ์’ กรณีจัดซื้อจัดจ้างเร่งด่วน
อย่างไรก็ตาม สำนักงานอัยการสูงสุด (อส.) ได้เสนอความเห็นประกอบการพิจารณาของ ครม. ในเรื่องดังกล่าว ว่า สำนักงานอัยการสูงสุดพิจารณาแล้ว เห็นชอบด้วยในหลักการของร่างกฎกระทรวงกำหนดเรื่องที่อุทธรณ์ไม่ได้ พ.ศ.... โดยมีข้อสังเกต ในส่วนที่ระบุไม่มีสิทธิอุทธรณ์ในข้อ 2 (3) การจัดซื้อจัดจ้างที่มีความจำเป็นเร่งด่วน ตามมาตรา 56 (1) (ค) ว่า เป็นกรณีการตัดสิทธิอุทธรณ์ของผู้ซึ่งยื่นข้อเสนอในกระบวนการของฝ่ายบริหาร ซึ่งอาจมีการนำข้อโต้แย้งหรือข้อพิพาทขึ้นสู่ศาลได้ทันทีก็ตาม
แต่เหตุจำเป็นเร่งด่วนนั้น ไม่อาจเป็นข้ออ้าง ไม่ให้อุทธรณ์ได้ หากเป็นกรณีอุทธรณ์เกี่ยวกับการทำผิดกฎหมาย ผิดระเบียบ ผิดข้อบังคับ หรือการกระทำทุจริตเอื้อประโยชน์ เพราะฝ่ายบริหารมีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบให้มีการดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างที่สุจริตโปร่งใส ตามหลักธรรมาภิบาล และตามกฎหมาย ทั้งการที่จะมีการพิจารณาในเรื่องอุทธรณ์ลักษณะดังกล่าวก่อนลงนามในสัญญา ย่อมเป็นการป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นกับรัฐได้
ขณะที่ สำนักงบประมาณ ให้ความเห็นต่อ ครม. ว่า ร่างกฎกระทรวงกำหนดเรื่องที่อุทธรณ์ไม่ได้ พ.ศ.... มีสาระสำคัญเป็นการยกเลิกกฎกระทรวงกำหนดเรื่องการจัดซื้อจัดจ้างกับหน่วยงานของรัฐที่ใช้สิทธิอุทธรณ์ไม่ได้ พ.ศ.2560 และกำหนดกฎกระทรวงเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวฉบับใหม่ โดยนำข้อกำหนดในกฎกระทรวงฉบับเดิม และเพิ่มเติมข้อกำหนดใหม่ไว้ในฉบับเดียวกัน เพื่อให้เกิดความชัดเจนในการปฏิบัติตาม พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 เกี่ยวกับการอุทธรณ์ เพื่อไม่ให้เรื่องอุทธรณ์เป็นปัญหาอุปสรรคทำให้การดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างต้องล่าช้า อันอาจจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่หน่วยงานของรัฐ
ประกอบกับร่างกฎกระทรวงดังกล่าวผ่านการพิจารณาเห็นชอบในหลักการจากคณะกรรมการวินิจฉัยปัญหาการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐแล้ว จึงเห็นสมควรที่ ครม. จะพิจารณาให้ความเห็นชอบในหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดเรื่องที่อุทธรณ์ไม่ได้ พ.ศ. ... ตามที่กระทรวงการคลัง เสนอ
อย่างไรก็ดี เพื่อให้การดำเนินการตามร่างกฎกระทรวงดังกล่าวเป็นไปอย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ เห็นควรที่กระทรวงการคลังจะสร้างการรับรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับร่างกฎกระทรวงดังกล่าวให้กับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในโอกาสแรก
@ย้ำคำวินิจฉัย ‘คกก.พิจารณาอุทธรณ์’ ให้ถือ‘เป็นที่สุด’
สำนักข่าวอิศรารายงานเพิ่มเติมว่า สาเหตุที่ทำให้กระทรวงการคลัง ต้องเสนอร่างกฎกระทรวงกำหนดเรื่องที่อุทธรณ์ไม่ได้ พ.ศ. .... เพื่อให้เกิดความชัดเจนเกี่ยวกับสิทธิการยื่นอุทธรณ์ในการจัดซื้อจัดจ้างของหน่วนงานของรัฐ ให้ ครม. พิจารณาให้ความเห็นชอบดังกล่าว เป็นผลสืบเนื่องจากมีหน่วยงานของรัฐได้ส่งเรื่องอุทธรณ์มายังคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์และข้อร้องเรียน (คณะกรมการพิจารณาอุทธรณ์)
โดยคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ ได้พิจารณาประเด็นการอุทธรณ์และแจ้งตอบหน่วยงานดังกล่าวแล้ว แต่เนื่องจากยังมีความไม่ชัดเจนเกี่ยวกับการตีความในส่วนของการอุทธรณ์ตาม พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 ประกอบกับเพื่อมิให้เรื่องที่อุทธรณ์เป็นปัญหาอุปสรรคทำให้การดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างต้องล่าช้า อันอาจจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่หน่วยงานของรัฐ จึงมีประเด็นในการพิจารณา 3 ประเด็น ดังนี้
1.ตาม พ.ร.บ.ฯ มาตรา ๖๖ วรรคสอง บัญญัติว่า “การลงนามในสัญญาจัดซื้อจัดจ้างจะกระทำได้ต่อเมื่อล่วงพ้นระยะเวลาอุทธรณ์และไม่มีผู้ใดอุทธรณ์ตามมาตรา 117 หรือในกรณีที่มีการอุทธรณ์ เมื่อหน่วยงานของรัฐได้รับแจ้งจากคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ให้ทำการจัดซื้อจัดจ้างต่อไปได้ เว้นแต่การจัดซื้อจัดจ้างที่มีความจำเป็นเร่งด่วนตามมาตรา 56 (1) (ค) หรือการจัดซื้อจัดจ้างโดยวิธีเฉพาะเจาะจง หรือการจัดซื้อจัดจ้างที่มีวงเงินเล็กน้อยตามที่กำหนดในกฎกระทรวงที่ ออกตามมาตรา 96 วรรคสอง”
กรณีที่หน่วยงานของรัฐดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างโดยวิธีคัดเลือกตามมาตรา 56 (1) (ค) หรือการจัดซื้อจัดจ้าง โดยวิธีเฉพาะเจาะจง หรือการจัดซื้อจ้างที่มีวงเงินเล็กน้อยตามที่กำหนดในกฎกระทรวงที่ออกตามมาตรา 96 วรรคสอง ผู้ยื่นข้อเสนอจะสามารถอุทธรณ์ได้หรือไม่
คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ฯ เห็นว่า เนื่องจากการจัดซื้อจัดจ้างกรณีที่มีความจำเป็นเร่งด่วนตามมาตรา 56 (1) (ค) ในมาตรา 66 วรรคสอง ได้บัญญัติยกเว้นให้หน่วยงานของรัฐสามารถลงนามในสัญญาได้ โดยไม่จำต้องรอให้ระยะเวลาอุทธรณ์ล่วงพ้นไปก่อน
ดังนั้น หากหน่วยงานของรัฐดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างด้วยวิธีการดังกล่าวและได้ลงนามในสัญญาไปแล้ว หากเปิดโอกาสให้ผู้ยื่นข้อเสนอสามารถอุทธรณ์ใด้ภายหลังจากที่หน่วยงานของรัฐได้ลงนามในสัญญา อาจก่อให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับการดำเนินการตามสัญญาภาระหน้าที่ระหว่างคู่สัญญา และอาจก่อให้เกิดความเสียหายกับหน่วยงานของรัฐที่มีความจำเป็นต้องรีบดำเนินการจัดซื้อจัดจ้าง เนื่องจากความจำเป็นเร่งด่วนอันเนื่องมาจากเหตุการณ์ที่ไม่อาจคาดหมายได้
และกรณีการจัดซื้อจัดจ้าง โดยวิธีเฉพาะเจาะจงหรือการจัดซื้อจัดจ้างที่มีวงเงินเล็กน้อยตามที่กำหนดในกฎกระทรวงที่ออกตามมาตรา 96 วรรคสอง นั้น
เนื่องจากวิธีเฉพาะเจาะจงเป็นวิธีที่ไม่มีการแข่งขัน โดยมาตรา 55 (3) บัญญัติว่า “วิธีเฉพาะเจาะจง ได้แก่ การที่หน่วยงานของรัฐเชิญชวนผู้ประกอบการที่มีคุณสมบัติตรงตามเงื่อนไขที่หน่วยงานของรัฐ กำหนดรายใดรายหนึ่งให้เข้ายื่นข้อเสนอ หรือให้เข้ามาเจรจาต่อรองราคา รวมทั้งการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุกับผู้ประกอบการโดยตรงในวงเงินเล็กน้อยตามที่กำหนดในกฎกระทรวงที่ออกตามความในมาตรา 96 วรรคสอง”
ประกอบกับมาตรา 114 บัญญัติว่า “ผู้ซึ่งได้ยื่นข้อเสนอเพื่อทำการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุกับหน่วยงานของรัฐมีสิทธิอุทธรณ์เกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุ ในกรณีที่เห็นว่าหน่วยงานของรัฐ มิได้ปฏิบัติให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในพระราชบัญญัตินี้ กฎกระทรวง ระเบียบ หรือประกาศที่ออกตามความในพระราชบัญญัตินี้ เป็นเหตุให้ตนไม่ได้รับการคัดเลือกเป็นคู่สัญญากับหน่วยงานของรัฐ” ดังนั้น วิธีเฉพาะเจาะจง จึงไม่มีผู้ที่จะใช้สิทธิในการอุทธรณ์ได้
2.ในกรณีที่หน่วยงานของรัฐดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างโดยวิธีคัดเลือก และเปิดโอกาสให้มีการชี้แจงรายละเอียดเพิ่มเติม ก่อนจะทำการจัดซื้อจัดจ้าง หากปรากฏว่า ผู้ประกอบการซึ่งเป็นผู้ยื่นข้อเสนอในการจัดซื้อจัดจ้างครั้งนั้น มิได้วิจารณ์หรือเสนอแนะร่างขอบเขตของงานหรือรายละเอียดคุณลักษณะเฉพาะของพัสดุ ผู้ประกอบการซึ่งเป็นผู้ยื่นข้อเสนอรายนั้นจะอุทธรณ์ได้หรือไม่
คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ฯ เห็นว่า เนื่องจากหน่วยงานของรัฐได้เปิดโอกาสให้มีการชี้แจงรายละเอียดเพิ่มเติม กรณีการจัดซื้อจัดจ้างโดยวิธีคัดเลือกแล้ว ซึ่งในระหว่างที่มีการชี้แจงนั้น ผู้ประกอบการสามารถเสนอแนะหรือวิจารณ์เกี่ยวกับร่างชอบเขตของงานได้ ดังนั้น หากผู้ประกอบการซึ่งเป็นผู้ยื่นข้อเสนอในการจัดซื้อจัดจ้างในครั้งนั้น มิได้วิจารณ์หรือเสนอแนะร่างขอบเขตของงานหรือรายละเอียดคุณลักษณะเฉพาะของพัสดุ ผู้ประกอบการซึ่งเป็นผู้ยื่นข้อเสนอนั้น จึงไม่สมควรอุทธรณ์ ในเรื่องขอบเขตของงานหรือรายละเอียดคุณลักษณะเฉพาะของพัสดุของหน่วยงานของรัฐนั้นได้อีก
3.กรณีที่หน่วยงานของรัฐได้ดำเนินการตามคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ โดยได้มีการยกเลิกประกาศผลผู้ชนะการเสนอราคาเดิม และได้มีการประกาศผลผู้ชนะการเสนอราคาใหม่ ต่อมามีผู้ยื่นข้อเสนอรายอื่นยื่นอุทธรณ์ในโครงการเดิม กรณีนี้จะถือว่าคำวินิจฉัยอุทธรณ์ถือเป็นที่สุด ตามนัยมาตรา 119 วรรคสาม หรือไม่
คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ฯ เห็นว่า กรณีที่มีการประกาศผลการจัดซื้อจัดจ้างแล้ว ต่อมามีผู้อุทธรณ์ ซึ่งหน่วยงานของรัฐได้ส่งรายงานผลการพิจารณาอุทธรณ์มายังคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ โดยคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์พิจารณาแล้วว่า อุทธรณ์ฟังขึ้น ให้กลับไปพิจารณาผลผู้ยื่นข้อเสนอใหม่ ทำให้มีการประกาศผลผู้ชนะ การเสนอราคาใหม่และมีผู้ยื่นข้อเสนอยื่นอุทธรณ์ผลการประกาศผู้ชนะการเสนอราคาในครั้งนี้
กรณีนี้มีประเด็นที่ต้องพิจารณาว่า การประกาศผลผู้ชนะการเสนอราคในแต่ละครั้ง เป็นการสร้างสิทธิในการอุทธรณ์ขึ้นมาใหม่หรือไม่ เนื่องจากมาตรา 117 บัญญัติว่า “ให้ผู้มีสิทธิอุทธรณ์ยื่นอุทธรณ์ต่อหน่วยงานของรัฐภายใน 7 วันทำการ นับแต่วันประกาศผลการจัดซื้อจัดจ้างในระบบเครือข่ายสารสนเทศของกรมบัญชีกลาง”
ประกอบกับมาตรา 119 วรรคสาม บัญญัติว่า “การวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ให้เป็นที่สุด” ซึ่งกรณีนี้เห็นว่า นัยของคำว่า “เป็นที่สุด” หมายถึง กรณีที่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ได้วินิจฉัยในข้อเท็จจริงจึงถือเป็นที่สุดในชั้นบริหาร ถ้าผู้ที่ไม่พอใจคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ย่อมต้องไปใช้สิทธิทางศาล กรณีคำวินิจฉัยอุทธรณ์ถือเป็นที่สุด จึงห้ามมิให้ผู้ยื่นข้อเสนอรายอื่น ยื่นอุทธรณ์การจัดซื้อจัดจ้างในโครงการนั้นๆ อีก